สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
กิริยา กุลกลการ
ปัจจุบัน (2561) ประเทศไทยมีผู้ต้องราชทัณฑ์จำนวน 3 แสนคน โดยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 19,650 คนในปี พ.ศ.2503 ขณะที่สัดส่วนผู้ต้องขังต่อประชากร ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากนักโทษ 72 คนในปี พ.ศ.2503 เป็น 526 คนต่อประชากร 1 แสนคนในปัจจุบันโดยทั้งจำนวนและสัดส่วนได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี พ.ศ.2543 ส่งผลให้เรือนจำที่มีอยู่ 145 แห่งทั่วประเทศ มีสภาพแออัดและเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากขึ้น โดยงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับนักโทษเฉลี่ย 21,000 บาท/คน/ปี และงบประมาณสำหรับกรมราชทัณฑ์สูงถึง 12,141 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ร้อยละ 76 ของผู้ต้องราชทัณฑ์เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
การจะคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนผู้พ้นโทษสมควรจะได้รับโอกาสให้สามารถประกอบอาชีพมีรายได้พึ่งพิงตัวเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในแง่เศรษฐกิจตลาดแรงงานไทยมีความขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมากจนต้องใช้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ผู้พ้นโทษจึงเป็นทรัพยากรภายในประเทศที่มีคุณค่าที่จะช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
พ้นโทษแล้วไปไหน? การที่จำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการที่ไม่สามารถหางานทำได้ สำหรับอัตราการกระทำผิดซ้ำและถูกส่งกลับไปยังเรือนจำอีกภายใน 1, 2 และ 3 ปี คิดเป็นร้อยละ 15, 25 และ 33 ของผู้พ้นโทษทั้งหมดโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2556-2560 ตามลำดับสาเหตุสำคัญ นอกจากสังคมมีอคติไม่ยอมรับผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกแล้ว กฎหมายบางฉบับก็ยังมีลักษณะกีดกันผู้พ้นโทษให้ไม่สามารถประกอบอาชีพบางประเภทได้อีกด้วย ทั้งนี้ในแต่ละปีจะมีผู้พ้นโทษประมาณ 140,000 คนที่ต้องการหางานทำ
กฎหมายที่มีการกำหนดลักษณะต้องห้ามในการประกอบอาชีพหรือการงานของผู้เคยต้องคำพิพากษาจำคุกมีอาทิ พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และ พ.ร.บ.อื่นๆ อีกจำนวน 25 ฉบับ
วันนี้จะดูแค่ 2 อาชีพ ได้แก่ งานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) และงานนวดแผนไทย ซึ่งมีความขาดแคลนแรงงานและใช้แรงงานพื้นฐานการศึกษาน้อยซึ่งเหมาะกับผู้พ้นโทษส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน รปภ.ซึ่งเคยมีนายจ้างบอกว่าขาดแคลนเป็นจำนวนหลายหมื่นคน
ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 มาตรา 34 ข (3) “ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกสำหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เว้นแต่เป็นโทษที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนวันขอรับใบอนุญาต และมิใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา”
ขณะที่ตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มาตรา 13 (3) “ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดในความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี” ในขณะที่มาตรา 21 ข (2) มีข้อบัญญัติเหมือนๆ กันเปลี่ยนจาก “ประกอบกิจการ” เป็น “ผู้ดำเนินการ” และมาตรา 23 ข (2) เปลี่ยนเป็น “ผู้ให้บริการ”
ในการศึกษาเรื่องนี้ หนึ่งในผู้เขียนได้เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายในทัณฑสถาน 3 แห่ง คือ เรือนจำกลางคลองเปรม ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และได้สนทนากับผู้ที่เกี่ยวข้องสรุปประเด็นสำคัญได้ เช่น
ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ เห็นว่าอัตราการกระทำผิดซ้ำน่าจะลดลงในอนาคต เนื่องจากกรมราชทัณฑ์มีนโยบายยึดเอาผู้ต้องขังเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และมีโครงการพัฒนาผู้ต้องขังใน 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่การปรับสภาพร่างกายของผู้ต้องขังให้แข็งแรงและมีวินัย ระดับสอง คือ การปรับสภาพจิตใจ โดยใช้ศาสนาเข้ามาช่วย และระดับสาม คือ การสร้างอาชีพ โดยมีศูนย์ให้ข้อมูลอาชีพกับผู้พ้นโทษและครอบครัว และได้ทำเอ็มโอยูกับกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมฯ และหอการค้าฯ ในเรื่องการฝึกงานและการประกอบอาชีพ โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการจำนวน 64 แห่ง รับนักโทษจำนวน 700-800 คนเข้าทำงาน ซึ่งได้รับคำชมจากสถานประกอบการว่า นักโทษสามารถปฏิบัติได้ดีกว่าแรงงานต่างด้าวเพราะพูดคุยภาษาเดียวกัน ทำให้สินค้าที่ผลิตมีความบกพร่องน้อยลง และอยากจะให้นักโทษเข้าไปทำงานในสถานประกอบการจำนวนมากขึ้น
และสรุปว่านักโทษที่พ้นโทษแล้ว กฎหมายไม่สมควรจำกัดสิทธิอีก เพราะจะเหมือนได้รับการลงโทษซ้ำซ้อน และมองว่า การให้โอกาสผู้พ้นโทษได้ประกอบอาชีพจะยิ่งทำให้คนในสังคมปลอดภัย เพราะผู้พ้นโทษไม่อยากกลับเข้ามาเรือนจำอีกถ้ามีทางเลือกอื่น
ผู้แทนจากกรมคุมประพฤติ เห็นว่าการแก้กฎหมายอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ น่าจะมีหน่วยงานทำหน้าที่คัดกรองและให้ใบรับรองผู้พ้นโทษที่มีความประพฤติดี เพื่อสร้างความมั่นใจกับนายจ้าง
ส่วนผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าหากจะปรับแก้กฎหมาย ควรพิจารณาให้รอบคอบในเรื่องความปลอดภัยของประชาชน
สำหรับความคิดเห็นเฉพาะแต่ละอาชีพ ผู้แทนสถานประกอบการ รปภ.ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีพนักงาน รปภ. ทั่วประเทศที่มีใบอนุญาตตามกฎหมายประมาณ 250,000 คน ไม่มีใบอนุญาตอีกประมาณ 100,000 คน รวมเป็น 350,000 คน และสรุปว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม ขัดกับรัฐธรรมนูญในเรื่องการจำกัดสิทธิแบบไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมกันกับอาชีพอื่น มีลักษณะเลือกปฏิบัติ ควรปรับแก้กฎหมาย ควรสร้างแรงจูงใจให้กับนายจ้างด้วยการลดหย่อนภาษีกรณีจ้างผู้พ้นโทษ ผู้ประกอบการควรเข้าไปฝึกอบรมและคัดเลือกคนในเรือนจำตั้งแต่ก่อนพ้นโทษ ควรเตรียมความพร้อมให้กับนักโทษในเรื่องนี้ก่อนจะพ้นโทษอาจให้ผู้พ้นโทษทำงานประเภทที่ไม่ใกล้ชิดกับลูกค้ามาก เช่น งานจราจรภายนอก เป็นต้น การออกใบรับรองความประพฤติจะช่วยให้นายจ้างมีความมั่นใจมากขึ้น ควรมีใบรับรองทักษะฝีมือออกโดยกระทรวงแรงงาน ควรมีการติดตามว่าผู้พ้นโทษประกอบอาชีพอะไร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้ใช้บริการ รปภ.เห็นว่าแม้จะมีใบรับรองความประพฤติ ก็ยังไม่รู้สึกปลอดภัย แม้จะมีประกันความเสียหาย ถ้าผู้พ้นโทษกระทำผิดในคดีแพ่งก็ได้รับการชดเชย แต่หากทำผิดในคดีอาญา ผู้ประกอบการและรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแม้จะพ้นโทษแล้วเพราะสิ่งยั่วยุในสังคมมาก
ด้านบริการนวดแผนไทย ผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลว่า ผู้ต้องขังหญิงมีจำนวน 49,315 คน มีเรือนจำหญิงทั่วประเทศเพียง 8 แห่ง ทำให้มีสภาพค่อนข้างแออัด ในจำนวน 8 แห่งนี้ มี 6 แห่งมีการฝึกวิชาชีพหมอนวด และในแต่ละปีจะมีนักโทษหญิงฝึกนวดจำนวน 1,200 คน นอกจากนี้ ทางเรือนจำยังมีกองทุน นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่สามารถจัดสรรให้กับผู้พ้นโทษนำไปทำธุรกิจได้อีกด้วย ผู้แทนผู้ประกอบการนวดแผนไทยสนับสนุนให้มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อให้โอกาสคืนคนดีสู่สังคม ปัจจุบันขาดแคลนหมอนวดมาก เพราะส่วนใหญ่นิยมไปทำงานต่างประเทศ
ผู้แทนจากกรมสนับสนุนบริการทางสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายคือ ต้องการให้เป็นอาชีพที่มีมาตรฐาน เพราะเกี่ยวข้องกับสุขภาพและทรัพย์สิน เป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญของประเทศ โดยผู้พ้นโทษมีสิทธิประกอบอาชีพพนักงานนวดได้เมื่อได้ปรับตัวเข้าสู่สังคมแล้วเป็นเวลา 1 ปี อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้เสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายใน 2 แนวทาง คือ สถานบริการสุขภาพของรัฐภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สามารถรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานได้โดยไม่มีเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย และให้เพิ่มเงื่อนไขในกฎหมายว่า หากมีใบรับรองจากหน่วยงาน เช่น กรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติ จะสามารถประกอบอาชีพพนักงานนวดได้หลังพ้นโทษทันที และล่าสุดได้ข้อสรุปว่า ให้ตัดมาตรา 23 ข (2) (“ผู้ให้บริการ”) ออก ซึ่งหมายความว่า ผู้พ้นโทษสามารถประกอบอาชีพพนักงานนวดได้ (โดยไม่มีเงื่อนไข) อย่างไรก็ดี ผู้พ้นโทษยังคงไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการและผู้ดำเนินการให้บริการนวดได้
ผู้เข้าร่วมสนทนา ลงความเห็นว่าควรปรับแก้กฎหมายโดยไม่ควรจะจำกัดสิทธิผู้พ้นโทษในการเป็นเจ้าของกิจการและผู้จัดการร้านนวดไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการกีดกันการเลื่อนขั้นฐานะทางเศรษฐกิจของผู้พ้นโทษโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
และเห็นว่าควรปรับแก้กฎหมายในส่วนของพนักงาน รปภ. ด้วยหลักการและเหตุผลเดียวกัน รวมทั้งพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ไม่ให้มีการจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้พ้นโทษในลักษณะเหมารวมและเกินความเหมาะสม แต่ให้ใช้ทางเลือกอื่นในการกลั่นกรอง ตรวจตรา ระวังภัย และมีมาตรการรองรับ เช่น 1) การสร้างความมั่นใจให้กับสังคม เช่น ออกใบรับรองความประพฤติ การแนะแนวสาขาวิชาเรียนและอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด การจัดฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ การหางาน การสมัครงาน การให้ข้อมูลเรื่องเงินกู้ประกอบอาชีพ การประกันสังคม และการคุ้มครองแรงงานผู้ต้องขัง รวมทั้งการออกใบรับรองทักษะฝีมือให้แก่ผู้พ้นโทษที่ผ่านการฝึกอบรม ฯลฯ และ 2) แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษได้มีที่ยืนในสังคมทัดเทียมกับผู้อื่น โดยประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องและน่าเชื่อถือเพื่อให้สังคมได้รับทราบและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
เรื่องการปรับแก้กฎหมายจำกัดสิทธิในการทำงานของผู้พ้นโทษเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เนื่องจากอาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รปภ.มีความเกี่ยวพันกับความปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและชีวิตของผู้ใช้บริการ ในขณะที่สิทธิของผู้ด้อยโอกาสก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ
หมายเหตุเผยแพร่ ครั้งแรกใน มิติชน เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2562