tdri logo
tdri logo
28 กุมภาพันธ์ 2019
Read in Minutes

Views

อาชีวศึกษาไทยสร้างชาติได้ ถ้ารัฐบาล ‘จริงใจ จริงจัง’

ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

          ความดิ้นรนหนีกับดักประเทศ กำลังพัฒนาที่มีรายได้ค่อนข้างสูงไปสู่ ประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นไปได้หาก ในปี 2578 ไทยมีรายได้ต่อหัวสูงได้ถึง USD 15,000 จากปัจจุบันมีรายได้ต่อหัวประมาณ USD 6,900 (ปี 2560)
          จะทำเช่นนั้นได้ ไทยต้องเพิ่มผลิตภาพ การผลิตของประเทศ โดยการใช้ทรัพยากร มนุษย์หรือแรงงานที่มีคุณภาพทักษะสูง เป็นหัวใจสำคัญลำดับต้นๆ ของเรื่องนี้
          แต่จาก 10 ปีที่ผ่านมาไทยยังจ้างแรงงาน ทักษะต่ำถึงปานกลางเป็นแรงงานเข้มข้น ถึง 84% ใช้แรงงานระดับช่างเทคนิค และ แรงงานวิชาชีพ เพียง 16% ขณะที่ในเอเชีย ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้แรงงานระดับสูง สูงถึง 60-70% ทำไมประเทศไทยยังติดอยู่กับการผลิต ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ คำตอบคือ ความล้มเหลว ในการกระจายความเจริญไปยังชนบท ที่มีคน อยู่ในภาคเกษตรมากกว่า 14 ล้านคน ต้องเผชิญชะตากรรมราคาสินค้าเกษตร ตกต่ำผันผวน ผลผลิตไม่แน่นอนขึ้นกับ ดินฟ้าอากาศ ผลิตภาพของแรงงานในสาขา เกษตรจึงต่ำสุดและเกือบไม่เปลี่ยนแปลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
          มีเพียงภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีคนทำงาน ไม่เกิน 6 ล้านคน มีผลิตภาพแรงงานสูงสุด รองลงมาคือ ภาคบริการ มีคนทำงานอยู่ มากกว่า 17 ล้านคน ดังนั้น ถ้าจะเร่งเพิ่ม ผลิตภาพแรงงานต้องเน้นไปที่ภาค อุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถ เพิ่มผลิตภาพได้มากกว่า 30% ในรอบ 10 ปี
          เมื่อดูการใช้กำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาดั้งเดิมของไทย ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มูลค่าเพิ่มของสาขาอุตสาหกรรมเพิ่ม ปีละ 4% จ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 87,000 คน หรือ 1.2% ต่อปี เพิ่มต่ำกว่ามูลค่าเพิ่ม จึงพอ ยืนยันได้ว่าผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น แต่เมื่อ ดูคุณภาพของแรงงานกลับพบว่า ยังใช้แรงงานทักษะไม่เกินระดับกลางมากถึง 84.3% ในปี 2550 และ 85.4% ในปี 2560
          อย่างไรก็ตามมีข้อที่น่าสังเกตคือ มีการใช้แรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 2560 จาก 9.5% เป็น 11.9% ตามลำดับ แต่อุตสาหกรรมไทย ก็ยังจ้างแรงงานสายอาชีพน้อยมาก
          จากทิศทางการใช้กำลังคนในอดีต ทำให้เห็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้กำลังคน อาชีวศึกษาในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ยังไม่เป็นไปตามกรอบความคาดหวัง ของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้อาชีวะ สร้างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้ม การส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้ การส่งเสริมตามกรอบ EEC  จำเป็นต้อง ใช้แรงงานอาชีวศึกษา ถึง 173,705 คน ซึ่งยังผลิตกำลังคนไม่เพียงพอ (Excess demand) อีกถึง 55,462 คน หรือ 32%
          ทั้งนี้การศึกษา Vocational Education in Thailand: Its Evolution, Strengths Limitations, and Blueprint for future ของผู้เขียนและ ดร. วรรณวิศา สืบนุสรณ์ พบว่า คุณภาพของผู้กำลังเรียนเกือบ 1 ล้านคน ในวิทยาลัยของรัฐและเอกชน มีปัญหา เชิงคุณภาพ 4 ประการ คือ 1) คุณภาพของ ผู้สมัครเรียนคะแนนไม่สูงนัก 2) คุณภาพ ของผู้สอนยังไม่ดี ขาดประสบการณ์ 3) หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ทันสมัย ส่วนใหญ่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ 4) อุปกรณ์ล้าสมัย ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้อง ได้รับการแก้ไขโดยด่วน
          จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสดูงาน หลายวิทยาลัยโพลีเทคนิค ในประเทศจีน คิดว่าอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการโดยเน้น ไปที่การรับเด็กเรียนดีที่ยากจนหรือไม่ ก็ตาม ด้วยการให้ทุนทุกคนที่สนใจมาเรียน ในสาขาที่ต้องการจนถึงระดับ ปวส. หรือ อาจรับผู้จบ ปวช. เข้ามาทำงานถ้าอายุครบ 18 ปี ให้ทำงานพร้อมเรียนไปด้วย โดยต้อง เป็นความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ  กับวิทยาลัยเทคนิคในเขตพื้นที่ ซึ่งอาจ จำเป็นต้องอุดหนุนค่าเล่าเรียนและที่พัก พร้อมการันตีมีงานทำ ได้เงินเดือนสูง เทียบเท่าปริญญาตรีสายทั่วไป
          สำหรับครูช่างที่กำลังทยอยเกษียณ หลายพันคนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ต้องรับ ครูใหม่มาแทน และยกระดับครูในช่วง 2 ปีนี้ ภายใต้ความช่วยเหลือจากวิทยาลัย โพลีเทคนิคของจีนหลายแห่งในโครงการ Belt and Roads initiatives ส่งครู ไปเรียนเพิ่มเติมในทุกสาขาที่นำมาสนับสนุน การพัฒนา EEC หรือการยกระดับเป็น อุตสาหกรรม 4.0
          จุดเด่นของวิทยาลัยโพลีเทคนิคของจีน คือ มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพียงพอต่อการ ฝึกฝน ขณะเดียวกัน ทางคณะกรรมการ อาชีวศึกษาของไทยจะต้องเร่งสร้าง ห้องทดลองกลาง มี model ให้ฝึกทักษะ อย่างครบวงจร ถ้าไม่สร้างใหม่ก็เลือก บางวิทยาลัยเทคนิคเป็นเป้าหมายการปรับปรุงภาคละอย่างน้อย 1 แห่ง ถ้างบประมาณไม่มี ก็ควรพิจารณากู้เงินจากประเทศที่มาลงทุน ในไทย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือจีนเพื่อยก ระดับครูช่างให้เพิ่มสมรรถนะสูงเพียงพอ ต่อการสอนปีละอย่างน้อย 300 คน
          ขณะเดียวกันการรับครูรุ่นใหม่เพิ่มเติม อาจเลือกจากผู้จบเทคโนโลยีบัณฑิตที่เก่ง  จากสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศมาฝึกอบรม เพิ่มเติม ถ้าทำสำเร็จจะมีครูช่างมากเพียงพอ  แทนครูช่างที่เกษียณ
          สำหรับหลักสูตรอย่างน้อยต้องปรับ ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะทุกระดับ การศึกษา โดยใช้สมรรถนะที่ออกไปแล้ว โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและ/หรือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เอาไปปรับหลักสูตร โดยเฉพาะสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาด แรงงาน หลักสูตรต้องเปลี่ยนได้รวดเร็ว ทันสมัย
          ตัวอย่างที่ดีคือ การสร้างความร่วมมือ วิทยาลัยเทคนิคไทยกับวิทยาลัยโพลีเทคนิคจีน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่โดยสภาสถาบัน การอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ผ่าน MOU  โดยเลือกปรับหลักสูตรร่วมกันให้นักเรียน  ปวส. ของไทยไปศึกษาและฝึกงานในวิทยาลัย ของจีนเป็นเวลา 1 ปี (2 เทอม) เพื่อเรียนรู้ ฝึกใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ในสาขา คอมพิวเตอร์ ICT แอนิเมชัน ภาพยนตร์ การซ่อมบำรุงรถไฟ และการขับรถไฟ ความเร็วสูง การซ่อมบำรุงอากาศยาน การสร้างและฝึกบังคับโดรน ซึ่งจีนมี ห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยทุกสาขาอาชีพ ที่เป็นที่ต้องการของประเทศ เป็นต้น
          ทั้งนี้ใน 2 ปีนี้ จีนอาจยังสนับสนุนให้ ผู้ที่ได้รับการอุดหนุนให้เรียนฟรีจะได้อยู่ หอพักฟรี อาจจะต้องจ่ายค่าเดินทางเท่านั้น
          สำหรับผู้จบการศึกษาจากโครงการ ไทย-จีนจะการันตีงานให้ทำ เงินเดือน สูงกว่าในไทย ได้ co-certificate ของไทย และจีน เพื่อทำงานบริษัทไทยหรือบริษัทจีน ในไทยได้
          ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างความร่วมมือของ ไทยกับจีนเช่นนี้ ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้อง และกระทรวงศึกษาไทยได้ตระหนักว่า โลกให้ความสนใจกับผู้เรียนสายอาชีพ อย่างจริงจังและจริงใจแค่ไหน เพราะเขา เชื่อว่าอาชีวศึกษาสร้างชาติได้จริง
          สำหรับประเทศไทยการทุ่มเท งบประมาณเพื่อการศึกษาในสายอาชีพ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ใน EEC หรืออุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่เป็นจริง ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดสรร งบประมาณในการสร้าง “คนอาชีวะ” ได้ ควรค้ำประกันเงินกู้จากรัฐบาลต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งให้เงินกู้ปรับปรุงอาชีวศึกษา ไทยมาหลายครั้งแล้ว หรืออย่างน้อย ให้ความสนใจกับโครงการของจีนที่ให้ความ ช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทยอย่างน้อยก็ 2 ปีซึ่งก็ยังดีกว่า สอศ. ไม่ทำอะไรเสียเลย

เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562

นักวิจัย

ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด