ในการประชุม “มาตรการเพื่อสนับสนุน การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภาคเกษตร” จัดโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (
กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการ
1.มาตรการแก้ปัญหาการทำเกษตรไม่ยั่งยืนโดยการบุกรุกป่า ควรมีการ ส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีการบุกรุกป่า ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยใช้สารเคมี หันมาทำเกษตรแบบยั่งยืน เช่น ปลูกพืชผสมผสาน และใช้การปลูกแบบปราศจากสารเคมี โดยการแก้กฎหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรในพื้นที่ป่าได้
2.เสนอให้มีมาตรการพักชำระหนี้ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบยั่งยืนต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าที่จะสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตได้ และยังต้องใช้เงินทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยี และอื่นๆ ที่จำเป็น ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการพักชำระหนี้มาใช้กับเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน
3.มาตรการทางการเงินสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) คือการให้เงินกู้สีเขียวกับเกษตรกร เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือลงทุนในการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบยั่งยืน โดยให้อัตราดอกเบี้ยแบบพิเศษ
4.มาตรการเก็บภาษีสารเคมี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้สารทางชีวภาพกำจัดศัตรูพืช และทางภาครัฐจำเป็น
ต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสารชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ ไม่กระทบต่อผลิตผล รวมถึงราคาที่ไม่สูงจนเกินไป
5.มาตรการลดหย่อนภาษีผู้ประกอบการที่สนับสนุนสินค้าเกษตรยั่งยืน และการกำหนดมาตรฐานสินค้า โดยมีการลดหย่อนภาษีให้กับผู้รับซื้อสินค้าเกษตรยั่งยืนมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสนับสนุนสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืนและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าด้วย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ให้กับผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและในระดับสากลเพื่อรองรับการส่งออกสินค้าเหล่านี้
6.การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรยั่งยืน ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ควรเป็น
หน่วยในการรวบรวมสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรที่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้าปลีกในการซื้อสินค้าเพื่อไปจำหน่ายต่อ นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้มีตลาดสินค้าเกษตรที่ยั่งยืนในท้องถิ่น
ขณะที่ สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ระบุว่า การเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง เช่น อากาศร้อนเกินไปจนทำให้ผลผลิตออกมาได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จริงนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของประเทศ
เรื่องของเกษตรยั่งยืนต้องไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ระบบนิเวศต้องมีความยั่งยืน และความหลากหลายทางชีวภาพนั้นสำคัญกับการเกษตรและการบริโภคที่ยั่งยืน แต่งานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายชิ้นบอกไว้ว่า ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
อุดม หงส์ชาติกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยอยู่ที่ 58 ปี และเกษตรกรจำนวน 95% มีหนี้สิน โดย 60% มีหนี้สินล้นตัว ขณะที่ 5% ที่ไม่มีหนี้สินนั้น เนื่องจากไม่สามารถยื่นกู้เงินได้ ดังนั้น เกษตรกรจึงมักจะปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องกลับมาประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งทำให้ในอนาคต 10-20 ปี อาจจะไม่เหลือเกษตรกรในประเทศไทยเลยก็เป็นได้ โดยผลการสำรวจพบว่าในทุกๆ ปี เกษตรกรจะลดลงถึงปีละ 4 แสนคน
ที่ผ่านมาจึงเกิดโครงการเกี่ยวกับเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นอย่างมากมาย เช่น คนกล้าคืนถิ่น ซึ่งใน 3 ปีสามารถสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรได้เพียง 2,000 คน แต่ประเทศไทยต้องการเกษตรกรรุ่นใหม่อีกเป็นจำนวนมาก ไม่เช่นนั้นอนาคตไทยจะกลายเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารเพื่อการบริโภค แทนการส่งออกอาหารอย่างที่เคยเป็น
หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรก: เมื่อ 17 มีนาคม 2562 โพสต์ทูเดย์ ในชื่อ บทความพิเศษ: ‘โลกร้อน’ทำเกษตรกรทิ้งอาชีพ