การเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้าย เลือกอยู่หรือไปให้ได้อย่างหวัง

วรรณภา คุณากรวงศ์

หนึ่งในเรื่องที่หลายคนเลี่ยงไม่อยากพูดถึงคือ “ความตาย” แต่ไม่ว่า อย่างไรเราก็เลี่ยงเผชิญความตายไม่ได้ทั้งนั้น ช่วง วาระสุดท้ายก่อนตายที่ต้องอาศัย “การดูแลแบบประคับประคอง” เป็นช่วงสำคัญที่ผู้ป่วย ญาติ และแพทย์ ต้องตัดสินใจร่วมกันว่าจะยื้อหรือ ยุติการรักษาใน วาระสุดท้าย ซึ่งส่งผลต่อเวลาและทุนทรัพย์ที่จะเพิ่มขึ้นตามมา

การหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยและเตรียมการไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากการวางแผนชีวิตในช่วงอื่น

จากผลสำรวจเรื่องการรับรู้และทัศนคติของประชาชนต่อการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทย ของทีดีอาร์ไอ พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยนึกถึงและหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความตาย แต่จะเริ่มนึกถึงความตาย เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุหรือเริ่มมีปัญหาสุขภาพ สาเหตุที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการพูดถึงความตาย เพราะทัศนคติความเชื่อ และพฤติกรรมของคนในสังคมไทยมองว่าการพูดถึงการตายเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลต่อชีวิตและครอบครัว

เมื่อคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่นึกถึงเรื่องนี้ การรับรู้เรื่องการดูแบบประคับประคองที่เป็นบริการการดูแลระยะสุดท้ายซึ่งมีมานานแล้วก็ได้รับการรับรู้น้อยตามไปด้วย ทั้งที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย บริการดูแลแบบประคับประคองนี้จะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต

ผลสำรวจโดยทีดีอาร์ไอพบว่า คนไทยกว่า 75% ไม่เคยรู้ว่ามีบริการดังกล่าว คนที่รู้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีปัญหาสุขภาพ หรือมีประสบการณ์จากการดูแลคนในครอบครัว และ 79% ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลล่วงหน้าก่อนตาย หรือการทำพินัยกรรมชีวิต (Living will) มาก่อน จึงไม่ได้เตรียมการสำหรับช่วงท้ายของชีวิต

คนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้จักบริการดังกล่าว คาดหวังว่าบริการนี้เป็นบริการหนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่โรงพยาบาลรัฐจัดให้ภายใต้การรับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายโดยรัฐบาล ซึ่งเป็นการคาดหวังจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เท่ากับว่าในระดับบุคคลและครอบครัวยังคงขาดการเตรียมตัวสำหรับเรื่องนี้

ผู้ที่อยู่ภาวะช่วงท้ายของชีวิตและไม่ได้เตรียมการสำหรับเรื่องนี้หลายรายต้องเผชิญกับความยากลำบาก และข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะด้านค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตอื่นๆ เช่น กรณี ลีออน เลเดอร์แมน นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินจากการรักษาพยาบาล ทำให้ต้องประมูลขายรางวัลโนเบล มูลค่าราว 25 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตนเอง

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะสิ้นเนื้อประดาตัว สาเหตุจากค่าใช้จ่าย ด้านสุขภาพ (Catastrophic health expenditure) เมื่อต้องรับผิดชอบ ค่าใช้จ่าย และขาดการเตรียมการที่ดี

อีกกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น สำหรับคนไทยผู้ใช้เฟซบุ๊คที่ชื่อ Vis Arshanakh ผู้เผชิญกับอาการป่วยจากเนื้องอกในสมองมากว่า 10 ปี ตัดสินใจ จบชีวิตตัวเองโดยเดินทางไปรับการการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือการฆ่าตัวตายอย่างสงบโดยมีแพทย์ช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมากเช่นเดียวกัน

ทุกคนที่ต้องเผชิญกับระยะท้ายของชีวิตจึงต้องเตรียมการทั้งด้านการเงิน และความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัวไว้ล่วงหน้า อีกทั้งต้องตัดสินใจว่า จะใช้สิทธิเลือกตายโดยการการุณยฆาตหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายที่มี

สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีกฎหมายรับรองการทำการุณยฆาตแบบ Active Euthanasia หรือการช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ ในขณะที่ ประเทศไทย การทำการุณยฆาตเป็นแบบ Passive Euthanasia คือ การปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ โดยแพทย์ยกเลิกหรือไม่สั่งการรักษาที่จะ ยื้อชีวิตของผู้ป่วย ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ซึ่งระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” หรือเป็นที่รู้จักกันคือ “สิทธิการตายธรรมชาติ หรือตายดี”

แม้กฎหมายไทยได้รับรองและให้สิทธิประชาชนในการเลือกตายอย่างธรรมชาติแบบ Passive Euthanasia แต่ก็ยังมีความเห็นแย้งถึงสิทธิการตายธรรมชาติและการปฏิเสธการรักษาเพื่อยื้อชีวิต เพราะการตัดสินใจเลือกแนวทางการในดูแลผู้ป่วยไม่ได้มาจากตัวผู้ป่วยคนเดียว แต่มาจากทั้งญาติและแพทย์ การทำความเข้าใจและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับทางเลือกที่มีจึงมีความสำคัญ

ที่ผ่านมามีข้อพิพาททางการแพทย์เกิดขึ้นไม่น้อย เมื่อผลการรักษา ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของญาติ หรือกรณีผู้ป่วยเสียชีวิต ส่งผลให้แพทย์ ต้องประสบกับปัญหาหรือถูกดำเนินคดี ดังนั้น หากต้องการให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเรื่อง “สิทธิเลือกที่จะตาย” ได้อย่างหวัง การกำหนดกฎหมาย และแนวทางในการคุ้มครองแพทย์จะสามารถช่วยให้แนวทางในการดูแล และรักษาสิทธิของผู้ป่วยเกิดความเหมาะสม และเป็นไปตามความต้องการ ของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น

การเตรียมการที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและเสียชีวิตไปอย่างที่ คาดหวัง ที่สำคัญที่สุดคือ การลดความทุกข์จากการทรมานจากการเจ็บป่วย ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถบริหารจัดการทางการเงิน ลดความเสี่ยงของ การสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลซึ่งค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลในช่วงระยะท้ายของชีวิตมีสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงอื่นๆ ตัวอย่างกรณีคนไข้โรคมะเร็งของสิทธิหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า ค่ารักษาพยาบาลในเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตประมาณ 4.5 หมื่นบาท หากรับการดูแลในโรงพยาบาล และ 2.7 หมื่นบาทหากรับการดูแลที่บ้าน จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลที่บ้านจะต่ำกว่า อีกทั้งการรับบริการที่บ้าน ยังช่วยลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาล ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจ ว่าหากเลือกได้ผู้สูงอายุมักเลือกบ้านเป็นสถานที่สุดท้ายของชีวิต
 
ดังนั้น แม้เราปฏิเสธความตายไม่ได้ แต่การเตรียมการที่ดีจะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การปรับทัศนคติและตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการก่อนตายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ว่าอายุเท่าใด ก็ควรทำความเข้าใจและเตรียมไว้ล่วงหน้า

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 11 เมษายน 2562 ในชื่อ เตรียมตัวก่อนวาระสุดท้าย เลือกอยู่หรือไปต้องได้อย่างหวัง