‘คราฟท์เบียร์ไทย’ เสียท่า ด้วยกติกาขัดขาตัวเอง

ศศิ สุมา

ตลาดคราฟท์เบียร์เป็นเบียร์ที่เกิดจากผู้ผลิต ขนาดเล็ก ดำเนินธุรกิจอย่างอิสระและใช้วิธีการแบบดั้งเดิมในการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่คิดค้นรสชาติ หมัก บรรจุขวด และส่งขายเองทั้งหมด ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน

กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช ผู้ผลิตเบียร์สเปซคราฟท์ เปิดเผยกับวอยซ์ทีวีว่าในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าคราฟท์เบียร์มูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะมีมูลค่านำเข้าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.5% ของมูลค่าตลาด เบียร์ไทยซึ่งมีมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท แต่ที่ประเทศไทยต้องนำเข้าคราฟท์เบียร์เป็นเพราะเราไม่มีการผลิตคราฟท์เบียร์ในประเทศไทยด้วยกฎกติกาของรัฐนั่นเอง

ในช่วงปี 2560 มีข่าวสรรพสามิตจังหวัดนนทบุรี จับกุมผู้ผลิตเบียร์รายหนึ่ง ที่หมักเองเพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มเพื่อนที่ชื่นชอบในรสชาติของเบียร์ที่ลองผลิตขึ้นมา ในข้อหาการทำสุราโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และการจำหน่ายสุราโดยไม่ได้ติดแสตมป์สุรา ได้รับโทษ 5,200 บาท และโทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี โดยผู้ต้องหารายนี้ระบุว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นบทเรียน โดยมีแนวคิดที่จะลงทุนคราฟท์เบียร์ต่างประเทศ และนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย

กรณีนี้เป็นตัวอย่างของกฎระเบียบที่ไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคกีดกันการประกอบอาชีพสุจริต แต่เป็นการกีดกันการแข่งขันในธุรกิจการผลิตเบียร์ในประเทศอีกด้วย ทำให้คนไทยได้แต่ดื่มเบียร์จาก “ขาใหญ่” ไม่กี่รายเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสเบียร์ผู้ผลิตขนาดเล็กคิดค้นสูตรขึ้นมา

ในปัจจุบันผู้ที่จะผลิตเบียร์ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เช่น ต้มดื่มเอง ที่บ้าน หรือทดลองสูตร รวมถึงผลิตเพื่อขาย จะต้องขออนุญาตการผลิตกับกรมสรรพสามิต ต้องมีคุณสมบัติคือเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และหากจะผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brew Pub) อย่างเช่นร้านโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี หรือหากคิดเป็นเบียร์ขวดเล็กที่คราฟท์เบียร์นิยมบรรจุขายขนาดประมาณ 300 มิลลิลิตร จะต้องผลิตประมาณไม่ต่ำกว่า 3 แสนขวด ต่อปี และไม่เกิน 3 ล้านขวดต่อปี และหากจะผลิตเพื่อขายนอก สถานที่ผลิตจะต้องผลิตปริมาณไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 33 ล้านขวดต่อปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา ปี 2560

อย่างไรก็ตาม คราฟท์เบียร์เป็นเบียร์ที่ผลิตได้ในระดับครัวเรือน หากจะจำหน่ายต้องลองผิดลองถูกหลายครั้งเพื่อที่จะได้สูตรที่มีรสชาติที่ผู้ซื้อชื่นชอบ จึงไม่คุ้มค่าหากจะต้องไปจัดตั้งบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทเพื่อขออนุญาตผลิต ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปีต้องใช้เงินทุนสูงถึงหลักร้อยล้านบาท

ด้วยข้อกำหนดของกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยส่วนมากต้องผลิตสินค้าอย่างผิดกฎหมายแล้วจำหน่ายเป็นแบรนด์ที่อยู่ใต้ดิน ยอมเสี่ยงค่าปรับหากถูกจับ หรือหลีกหนีข้อจำกัดทางกฎหมายดังกล่าวไปผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา แล้วนำเข้ามาจำหน่ายในไทยอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจากการรายงานของ บีบีซีไทย คาดว่ามีอย่างน้อยประมาณ 30 รายในปัจจุบัน

การกำกับดูแลการผลิตเบียร์ของภาครัฐในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐ ผู้เขียนพบว่าโดยหลักๆ แล้วจะแยกการผลิตเบียร์ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.การผลิตที่ไม่ใช่เพื่อเชิงพาณิชย์หรือผลิตเพื่อบริโภคเอง จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องขออนุญาตแต่จะกำหนดอายุของผู้ที่สามารถผลิตหรืออาจจำกัดปริมาณการผลิตร่วมด้วย และ 2.การผลิตเพื่อเชิงพาณิชย์ แม้ต้องขออนุญาตแต่มิได้มีการกำหนดทุนจดทะเบียนและปริมาณการผลิตขั้นต่ำเหมือนประเทศไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ สิงคโปร์ เป็นประเทศที่เพิ่งมีมาตรการในการส่งเสริมผู้ผลิตเบียร์รายย่อย (Microbreweries) โดยการลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี จากเดิมเป็นอัตราตายตัวที่สูงเป็นการเก็บตามปริมาณการผลิตจริงแทน

ไม่นานมานี้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แหล่งข่าวกรมสรรพสามิตได้เปิดเผยว่าทางกรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนให้มีการผลิตคราฟท์เบียร์ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับวงการเบียร์ไทย

ธุรกิจคราฟท์เบียร์สามารถเกิดขึ้นในประเทศได้หากมีการ 1.ยกเลิกการขออนุญาตหากเป็นการผลิตเพื่อบริโภคเอง ภาครัฐควรมองว่าการผลิตเบียร์เพื่อบริโภคเองก็เป็นสิทธิของประชาชนดังในต่างประเทศที่ศึกษามา

2.ยกเลิกข้อกำหนดปริมาณการผลิต และเงินลงทุนขั้นต่ำหากเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งยังคงต้องขออนุญาต เพื่อเป็นการไม่กีดกันผู้ผลิตรายย่อยในการเข้ามาแข่งขันในตลาด

และ 3.กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตตามปริมาณการผลิตดังเช่นในสิงคโปร์เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย ส่วนเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยนั้น เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบดูแลจากกรมสรรพสามิตอยู่แล้ว

การปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้มีการผลิตคราฟท์เบียร์ นอกจากจะทำให้ตลาดเบียร์ในประเทศมีการแข่งขันมากขึ้น ยังจะทำให้คนไทยมีโอกาสพัฒนาเป็นผู้ผลิตเบียร์ในระดับภูมิภาคได้ แทนที่จะต้องนำเข้าคราฟท์เบียร์จากประเทศเพื่อนบ้านที่กฎหมายเขาไม่กีดกันการผลิตเหมือนเรา แต่หากการดำเนินการในการแก้กฎหมายล่าช้าแล้ว ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่เราจะสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาผู้ผลิตเบียร์ในประเทศให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสิงคโปร์ และเวียดนามที่มีผู้ผลิตคราฟท์เบียร์จำนวนมาก เพราะผู้ผลิตไทยตอนนี้ก็ต้องกระเจิดกระเจิงหนีไปผลิตในต่างประเทศหมดแล้ว ไปสร้างโอกาส ทำรายได้ให้กับแรงงานและประเทศอื่นแทน

 หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ