tdri logo
tdri logo
9 พฤษภาคม 2019
Read in Minutes

Views

คุณภาพบริการรถเมล์ที่ดี ต้องมีกลไกปรับค่าโดยสารที่เป็นระบบ

กิตติยา ยิษฐาณิชกุล

การควบคุมราคาค่าโดยสารรถเมล์เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากบริการรถเมล์เป็นบริการสาธารณะพื้นฐานประเภทหนึ่ง แต่สภาพการณ์ ประกอบการที่ปัจจุบันผู้ประกอบการเอกชนจำเป็นต้องแบกรับภาระการเพิ่มขึ้นของต้นทุน และไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐโดยตรง จำเป็นต้องควบคุมและบริหารจัดการต้นทุนอย่างมาก ส่งผลต่อการพัฒนาด้านบริการ รวมถึงการลงทุนใหม่ๆ ของ ผู้ประกอบการ

แต่สิ่งที่สำคัญคือการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ควรเป็นธรรมกับการประกอบการของเอกชน รวมถึงเป็นธรรมกับผู้โดยสารที่ใช้บริการด้วย ในอดีตค่าโดยสารมีการปรับเปลี่ยนไปตามราคาน้ำมันเป็นหลัก โดยค่ารถเมล์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการปรับขึ้นสูงในช่วงปี 2549-2550 เนื่องจากการเพิ่มขึ้น ของราคาน้ำมันดีเซล และปรับลดลงเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในช่วงปี 2551-2557 และปรับขึ้นอีกครั้งในปี 2558 ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึง ราคาก๊าซธรรมชาติ (NGV) ก็ทยอยปรับขึ้น ในช่วงปี 2555 เป็นต้นมา

ปัญหาการปรับขึ้นค่าโดยสารจึงเกิดจากการพิจารณาโดยอิงราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยไม่สะท้อนต้นทุนอื่นๆ ของการประกอบการ ซึ่งโครงสร้างต้นทุนประกอบไปด้วยค่าจ้าง พนักงาน (31%) ค่าเชื้อเพลิง (27%) ค่ารถ (19%) และค่าบริหารจัดการอื่นๆ (23%) ซึ่งต้นทุนดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามดัชนีทางเศรษฐกิจเช่นกัน

ขณะที่รายได้หลักคือค่าโดยสาร เมื่อค่าโดยสารที่ไม่ได้มีการปรับปรุงตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องบริหารการเดินรถให้อยู่ในระดับที่เท่าทุน หรือขาดทุนน้อยที่สุด ทำให้ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะนำไปพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน ความปลอดภัยที่ดีขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการให้บริการของพนักงานขับรถและพนักงาน เก็บค่าโดยสาร ความพึงพอใจในการใช้บริการของประชาชนจึงมีแนวโน้มแย่ลง

ในกรณีต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง กลไกในการกำกับดูแลค่าโดยสารระบบ ขนส่งสาธารณะเป็นระบบ ทำให้ผู้ประกอบการ มีความยั่งยืนด้านการเงิน และสามารถให้บริการเดินรถได้อย่างต่อเนื่อง จากสูตรกลางในการพิจารณาและทบทวนค่าโดยสารทุกปี ที่คำนึงถึง 2 ประเด็นหลัก คือ 1.โครงสร้างต้นทุนการเดินรถ และ 2.การปรับค่าโดยสารตามดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้บริโภคพื้นฐาน ดัชนีค่าจ้างแรงงาน ดัชนีพลังงาน และดัชนีผลิตภาพการให้บริการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพบริการที่ดียิ่งขึ้น เมื่อมีคุณภาพบริการที่ดี ทั้ง 2 ประเทศจึงมีจำนวนประชากรมากถึง 80% ที่ใช้บริการในระบบขนส่งสาธารณะ

ดังนั้น การปรับค่าโดยสารรถเมล์ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นใช้แนวทางการพิจารณาที่ไม่แตกต่างจากหลายประเทศ เนื่องจากมีสูตรค่าโดยสารคล้ายกันกับสิงคโปร์และฮ่องกง อย่างไรก็ตาม การชดเชย เยียวยาให้แก่กลุ่มคนมีรายได้น้อยก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงเช่นกัน

แม้ปัจจุบันภาครัฐได้อุดหนุนค่าเดินทาง ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละ 500 บาท แต่จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ กลับพบว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะทำให้กลุ่มคนมีรายได้น้อยมีความสามารถในการจ่ายเพื่อใช้บริการรถเมล์ในอัตราเที่ยวละ 24 บาทภายใต้ 20 วัน ทำงาน จึงเห็นได้ว่าเมื่อค่าโดยสารปรับขึ้น ส่งผลให้นโยบายการเยียวยาของภาครัฐอาจไม่เพียงพอต่อผู้ที่ต้องเดินทางระยะไกล ด้วยรถเมล์แอร์ เราจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้

1.ควรพิจารณาค่าโดยสารภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่แท้จริงและปรับตามดัชนี ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจัดตั้งคณะทำงานที่มีหน้าที่ทบทวนค่าโดยสารอย่างต่อเนื่อง จัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาค่าโดยสาร ตลอดจนความพึงพอใจของ ผู้โดยสาร เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำแผนค่าโดยสารในอนาคต

2.ควรติดตามและประเมินปริมาณ ผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง หากเส้นทางไหนมีแนวโน้มขาดทุนเนื่องจากปริมาณผู้โดยสารน้อย ภาครัฐควรพิจารณาโครงข่ายเส้นทางใหม่ไม่ให้เกิดการทับซ้อน หรือปรับแผนการเดินรถ เช่น ความถี่ จำนวนรถ ฯลฯ เพื่อให้เกิดผลขาดทุนน้อยที่สุด ตลอดจนการกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ เพื่อประกันถึงประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน

3.ควรพิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนการเดินทางเป็น 700 บาทต่อเดือนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้กลุ่มคนมีรายได้น้อย มีความสามารถในการจ่ายที่สูงขึ้นและสามารถใช้บริการที่มีคุณภาพ

การปรับค่าโดยสารเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลไกการปรับที่เหมาะสมและมีการทบทวนค่าโดยสาร ทุกปี รวมถึงการวางแผนชดเชยเยียวยาให้กับกลุ่มคนมีรายได้น้อย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับ ผลกระทบอันเนื่องมาจากนโยบายภาครัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้บริการ มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการรถเมล์ก็ควรได้รับการประเมินประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการหาแนวทางการเดินรถที่ดีและมีเงินทุนเพียงพอที่จะนำไปลงทุนพัฒนามาตรฐานการให้บริการรถเมล์ ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถเมล์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการรถเมล์ก็ควรได้รับการประเมินประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อให้ผู้ประกอบการหาแนวทางการเดินรถที่ดีและมีเงินทุนเพียงพอที่จะนำไปลงทุนพัฒนามาตรฐานการให้บริการรถเมล์ ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถเมล์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด