‘คนทำงานรับใช้ในบ้าน’ สิทธิแรงงานที่ยังไม่เท่าเทียม

บุญวรา สุมะโน
ณัฏฐณิชา เลอฟิลิแบร์ต


ในปี 2558 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ระบุว่ามีคนทำงานรับใช้ในบ้าน (domestic worker) ทั่วโลก จำนวน 58 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 83% เป็นผู้หญิง ด้วยสภาพการทำงานที่ยากต่อการกำกับดูแลและติดตามตรวจสอบเนื่องจากอยู่ในสถานที่ส่วนบุคคล หลายกรณีไม่มีสัญญาจ้างที่ระบุขอบเขตประเภทงานที่รับผิดชอบ ช่วงเวลาทำงาน หรือแม้กระทั่งค่าจ้างและค่าชดเชยอื่นๆ คนทำงานรับใช้ในบ้านจึงถือเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด เอาเปรียบ และความไม่มั่นคงในการทำงาน

ปี 2554 องค์การแรงงานระหว่างประเทศจึงได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำการทำงานของคนทำงานรับใช้ในบ้าน เช่น ชั่วโมงทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าจ้าง การทำงานล่วงเวลา และสัญญาจ้าง ในอนุสัญญาคนทำงานรับใช้ในบ้านหรือ ILO Domestic Workers Convention (No.189) และประกาศให้วันที่ 16 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันคนทำงานรับใช้ในบ้านสากล (International Domestic Workers Day) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงาน รับใช้ในบ้าน และสิทธิต่างๆ ที่คนกลุ่มนี้พึงมี

ผู้อ่านหลายท่านอาจจะมีคนทำงานรับใช้ในบ้านที่คอยดูแลทำความสะอาดบ้าน จัดเตรียมอาหาร ช่วยเลี้ยงลูก หรือดูแลผู้สูงอายุในบ้าน บางท่านอาจเรียกคนทำงานเหล่านี้ว่า แม่บ้าน พี่เลี้ยง หรือชื่ออื่นๆ ไม่ว่าท่านจะเรียกผู้ประกอบอาชีพนี้ด้วยชื่ออะไร หรือให้ทำหน้าที่อะไร แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากปราศจากเขาเหล่านี้ที่ช่วยแบ่งเบาภาระในบ้านให้ท่านแล้ว ท่านคงจะไม่สามารถออกมาทำงาน ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หรือใช้ชีวิตข้างนอกบ้านได้อย่างอิสระสบายใจเช่นที่เป็นอยู่

ในประเทศไทย คนทำงานรับใช้ในบ้านได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดเรื่องสิทธิที่เกี่ยวกับการทำงานของคนทำงานรับใช้ในบ้าน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้ความคุ้มครองทั้งคนงานรับใช้ในบ้านชาวไทยและแรงงาน ข้ามชาติอย่างเท่าเทียม

เช่น คนทำงานรับใช้ในบ้านมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับวันหยุดไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน มีวันหยุดตามประเพณี ปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน (รวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย) ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี มีสิทธิ หยุดพักผ่อนประจำปี ปีละไม่เกิน 6 วันทำงาน และมีสิทธิลาป่วยตามที่ป่วยจริงได้  โดยหากลา 3 วันขึ้นไปนายจ้างสามารถขอใบรับรองแพทย์ ยืนยันจากลูกจ้างได้  ซึ่งสิทธิ เหล่านี้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ภายใต้อนุสัญญาฯ ฉบับที่ 189

อย่างไรก็ดี คนทำงานรับใช้ในบ้านยังไม่ได้รับสิทธิที่เกี่ยวกับการทำงานอื่นๆ ที่แรงงานทั่วไปได้รับภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีข้อยกเว้นสำคัญ เช่น สิทธิในการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย เมื่อถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ไม่มีสิทธิลาคลอด ไม่มีการคุ้มครองลูกจ้างหญิงที่จะไม่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุมีครรภ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ คนทำงานรับใช้ในบ้านหลายคนยังเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสังคมแม้ว่าจะมีนายจ้างที่แน่นอน ซึ่งโดยหลักแล้วควรจะสามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ประกันสังคม 9 ประเภท ได้แก่ ชราภาพ ทุพพลภาพ เสียชีวิต บาดเจ็บจากการทำงาน เจ็บป่วย คลอดบุตร รักษาพยาบาล ว่างงาน สงเคราะห์บุตร แต่เนื่องจากมาตรา 33 ระบุให้เฉพาะลูกจ้างในสถานประกอบการเท่านั้น ทำให้ คนทำงานรับใช้ในบ้านซึ่งมีสถานที่ทำงานเป็นบ้านพักอาศัยจึงไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 และต้องเข้ามาตรา 40 ซึ่งเป็นการสมทบเงินฝ่ายเดียวแบบสมัครใจที่ให้ สิทธิประโยชน์น้อยกว่าแทน หลายคนจึงเลือกที่จะไม่เป็นผู้ประกันตน ส่งผลให้ไม่ได้รับ ความคุ้มครองทางสังคมในหลายกรณี

ยิ่งไปกว่านั้น การบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองคนทำงานรับใช้ในบ้านยังมีช่องว่างสำคัญคือ ไม่มีการจดทะเบียนนายจ้าง ที่มีผู้รับใช้ในบ้านเว้นแต่จะเป็นการจ้างคนใช้ในบ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ทำให้ยากที่จะรู้ว่าบ้านไหนบ้างที่มีคนรับใช้ในบ้าน และกลไกการตรวจสอบกำกับดูแลของรัฐก็ยากจะเข้าไปถึงสถานที่ส่วนบุคคลอย่างบ้านเรือน

อย่างไรก็ดี เราทุกคนสามารถช่วยปกป้องสิทธิของคนทำงานรับใช้ในบ้านได้ หากท่านเห็นการละเมิดสิทธิของผู้รับใช้ในบ้าน หรือผู้รับใช้ในบ้านต้องการร้องเรียน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1546 หรือ https://eservice.labour.go.th/eformweb/

ข้อความใดๆ ที่พิจารณาได้ว่าอาจเป็นความคิดเห็น ความคิดเห็นนั้นเป็นของ ผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 20 มิถุนายน 2562