ทีดีอาร์ไอ ประเมินมาตรการ “ไฟฟ้าฟรี” เสนอ 3 ทางเลือกปรับนโยบาย ปิดช่องสิทธิรั่วไหลไม่ถึงคนจน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

งานวิจัยเผย มาตราการไฟฟ้าฟรีช่วยผู้มีรายได้น้อย ปี 56 – 58 เข้าถึงครัวเรือนรายได้น้อยได้ค่อนข้างดี แต่ยังมีกลุ่มตกหล่น และสิทธิรั่วไหลไปยังคนไม่จนจริง คาดเป็นกลุ่มคนมีบ้านหลังที่สองจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ พบบางส่วนลดการใช้ไฟเพื่อให้ได้รับสิทธิ ส่งผลกระทบสร้างภาระอุดหนุนเพิ่มหลายล้านบาทต่อปี แนะอุดช่องโหว่นโยบาย เก็บตกคนจนให้ทั่วถึง หนุนยกเลิกผูกสิทธิตามโควต้าการใช้ ปรับเป็นแบบเหมาจ่ายต่อเดือน

ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผล งานวิจัย โครงการประเมินนโยบายไฟฟ้าฟรีเพื่อผู้มีรายได้น้อย ในงาน TSRI FORUM “ทางเลือกนโยบาย…เพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน” ซึ่งสนับสนุน โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีเป้าหมายศึกษานโยบายอุดหนุน “ไฟฟ้าฟรี” ในช่วงรัฐบาล คสช. ปี พ.ศ. 2556 – 2558  ที่อุดหนุนไฟฟรีให้แก่ครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนในอดีต หรือ 50 หน่วยต่อเดือนในปัจจุบัน เพื่อประเมินผลนโยบายใน 5 มิติ ได้แก่ 1) การเข้าถึงสิทธิไฟฟ้าฟรีเทียบพื้นที่ครัวเรือนรายได้น้อย 2) การรั่วไหลของนโยบายไฟฟ้าฟรี 3) ความพอเพียงและความเหมาะสมของสิทธิ 4) การบิดเบือนพฤติกรรมของการบริโภคไฟฟ้า 5) ภาระเงินอุดหนุน และเสนอ 3 ทางเลือกนโยบายในการปรับปรุงมาตรการ เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงาน

ดร.วิชสิณี เทียบเคียงสัดส่วนผู้ที่ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี กับครัวเรือนรายได้น้อยในแต่ละจังหวัด พบว่า มีความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ค่อนข้างสูงคือร้อยละ 64 ซึ่งหมายความว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนครัวเรือนรายได้น้อยมากจะมีสัดส่วนผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีมากเช่นกัน (อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้วิจัยไม่สามารถเชื่อมข้อมูลผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี กับฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมได้ จึงไม่ทราบว่าผู้ได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรีนั้นส่วนใหญ่คือครัวเรือนรายได้น้อยจริงหรือไม่) แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงทำให้ไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว ราว 10,996 ครัวเรือน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.นครนายก จ.น่าน และ จ.ลำพูน อีกทั้งครัวเรือนที่ไม่มีมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของตัวเองก็ไม่ได้รับสิทธิ ได้แก่ กลุ่มผู้เช่าอยู่ และผู้อาศัยในเพิงพักพิงชั่วคราว ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ปี พ.ศ. 2558 มีจำนวน 15,497 ครัวเรือน

สำหรับปริมาณไฟฟ้าที่ภาครัฐให้การอุดหนุนให้ใช้ฟรี ใน ปี พ.ศ. 2558 อยู่ที่ไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน พบว่ายังต่ำกว่าความต้องการไฟฟ้าพื้นฐานของครัวเรือนรายได้น้อย เนื่องจาก การสำรวจสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่าความต้องการใช้ไฟของครัวเรือนที่มีสมาชิก 2.5 คน มีความจำเป็นใช้ไฟขั้นต่ำอยู่ที่ 60 หน่วยต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าที่รัฐอุดหนุน และจำนวนสมาชิกในครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยของประเทศไทยส่วนใหญ่มีจ่านวนสมาชิกโดยเฉลี่ย 3.3 -3.5 คนต่อครัวเรือน และครัวเรือนรายได้น้อยเกือบ 25 % มีจ่านวนสมาชิกมากกว่า 5 ดังนั้นการอุดหนุนจึงยังไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรมสำหรับครัวเรือนที่มีขนาดใหญ่

ผลศึกษา ปัญหาการรั่วไหลของนโยบายไฟฟ้าฟรี พบว่า ยังมีการรั่วไหลไปนอกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งพิจารณาจากครัวเรือนที่ใช้ฟ้าน้อยกว่า 50 หน่วยต่อเดือนแต่ไม่สม่ำเสมอ สันนิษฐานว่าอาจเป็นบ้านหลังที่สอง ที่ไม่ควรได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี

“ในระหว่างปี 2555 – 25558 พบว่า เงินอุดหนุนที่รั่วไหลในเขต กฟภ. ที่อุดหนุนให้กับการรั่วไหลที่อาจไปยังบ้านหลังที่สอง มีมูลค่าสูงถึง 830 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ผลกระทบจากนโยบาย ยังทำให้เกิดกรณีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลดการใช้ไฟฟ้าลง 1-2 หน่วย เพื่อได้รับสิทธิไฟฟ้าฟรี ซึ่งเห็นได้จากข้อมูลการใช้ไฟของประเทศไทยในช่วงที่มีมาตรการไฟฟ้าฟรี กระจุกอยู่ที่ 50 หน่วยต่อเดือน เป็นจำนวนมาก ถึงแม้จะมีแง่ดีในแง่การลดใช้พลังงาน แต่ก็ได้เพิ่มภาระในการอุดหนุนอย่างน้อย 18 – 23 ล้านบาทต่อปีด้วยเช่นกัน” ดร.วิชสิณี กล่าว

เนื่องจากนโยบายไฟฟ้าฟรี ใช้วิธีการอุดหนุนแบบไขว้ ดร.วิชสิณี วิเคราะห์ว่าทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 โดยภาระเกือบทั้งหมดตกอยู่กับผู้ใช้ไฟประเภทกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม การผลิตอาหาร โรงแรม ผลิตเครื่องจักร สิ่งทอ และเหล็ก ซึ่งถือเป็นภาระที่ไม่สูงมากนัก

เพื่อปรับปรุงนโยบายสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานในอนาคต ดร.วิชสิณี เสนอแก้ ปัญหาสำคัญ คือ สิทธิที่ยังรั่วไหลและเข้าไม่ถึงผู้มีรายได้น้อยจริง ด้วย 3 นโยบายทางเลือก รวมถึงทางแก้ไขการอุดหนุนที่ยังไม่เหมาะสมเพียงพอ

ทางเลือกแรกคือ ใช้กลไกระบุตัวผู้ได้รับสิทธิ ผ่านการลงทะเบียนสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ปี พ.ศ. 2560 โดยกระทรวงการคลัง

ทางเลือกที่สอง คือ การระบุผู้มีรายได้น้อยจากข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เช่น ข้อมูลจากแผนที่ความยากจนของสำนักงานสถิติแห่งชาติเพื่อระบุพื้นที่ ควบคู่กับ ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการระบุตัวคนรายได้น้อย

ทางเลือกที่สาม คือ การระบุผู้มีรายได้น้อยจากข้อมูลที่ขนาดใหญ่ (Big Data) เช่น ข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศ ข้อมูลเพื่อการบริหาร (administrative data) เช่น บิลค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ การใช้โทรศัพท์มือถือ

โดยทั้งสามทางเลือก เสนอใช้วิธีการอุดหนุนค่าไฟฟรีแบบเหมาจ่าย แทนการผูกสิทธิกับปริมาณใช้ไฟ ผ่านบัตร smart card เพื่อแก้ปัญหาการมีพฤติกรรมใช้ไฟบิดเบือน และเสนอใช้งบประมาณอุดหนุนที่มาจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือจากงบประมาณประจำปี