วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
“ความเหลื่อมล้ำ” เป็นการเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นได้ทั้งในลักษณะเชิงนามธรรม เช่น ความรู้สึกไม่เป็นธรรม ความรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน ความรู้สึกขาดอำนาจการต่อรอง และในเชิงรูปธรรม เช่น การถือครองสินทรัพย์
ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัย การลดความเหลื่อมล้ำต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งในระดับบุคคล ชุมชน สังคม องค์กรเอกชน และหน่วยงานของรัฐ
ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองสินทรัพย์ อาจจำแนกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ ความเหลื่อมล้ำในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (tangible asset) และสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible asset)
ความเหลื่อมล้ำในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ดูได้จากความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการถือครองทรัพย์สิน ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทยแทบจะไม่ดีขึ้นเลยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ถึงแม้ว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยจะปรับตัวสูงขึ้น จากประมาณ 1,100 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี พ.ศ. 2531 เป็น 3,400 บาทต่อคนต่อเดือนในปี พ.ศ. 2543 และเพิ่มเป็น 9,600 บาทต่อคนต่อเดือนในปี พ.ศ. 2560 แต่ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ที่บอกถึงความไม่เสมอภาคแทบจะไม่ดีขึ้นเลย
ความไม่เสมอภาคทางรายได้เพิ่มจาก 0.487 ในปี พ.ศ. 2531 เป็น 0.522 ในปี พ.ศ. 2543 และความไม่เสมอภาคลดลงเล็กน้อยเป็น 0.453 ในปี พ.ศ. 2560 จึงกล่าวได้ว่า ประโยชน์โดยรวมที่ประเทศมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้ช่วยทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางดีขึ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบกับคนรายได้สูง
จึงไม่แปลกอะไรที่ Credit Suisse รายงานว่า ปี พ.ศ. 2561 คนไทยที่รวยที่สุด 5% ของประเทศถือครองทรัพย์สินที่มีทั้งหมดในประเทศถึง 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% ก็แบ่งกันถือระหว่างคนไทยที่เหลืออีก 95% และแน่นอนว่าคนจำนวนหนึ่งไม่มีทรัพย์สินให้ถือครองเลย
ถึงแม้ว่างานของ Credit Suisse จะใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2549 ในการประมาณการ แต่ภาพการถือครองทรัพย์สินในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่น่าจะเปลี่ยนมากนัก เพราะประเทศไทยไม่มีการปฏิรูประบบภาษีที่แรงพอที่จะไปกระทบการกระจายของการถือครองทรัพย์สิน
ความเหลื่อมล้ำในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ แต่ปรากฏในเชิงประจักษ์คือ ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ คนทุกคนต้องการมีสุขภาพดี เพราะการมีสุขภาพดีนำไปสู่ศักยภาพด้านอื่น ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกันปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมก็นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพได้ ปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วย ฐานะทางเศรษฐกิจ เพศสภาพ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ชาติกำเนิด อาชีพ ภาวะความพิการ ภาษาที่ใช้ ลำดับชั้นทางสังคม ถิ่นที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ
ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของไทยที่นำเสนอในงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหลายชิ้น เช่น คนก่อนวัยสูงอายุ (อายุ 50-59 ปี) มีการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 500 คนในปี พ.ศ. 2551 เป็นประมาณ 750 คนในปี พ.ศ. 2560 แม้จะไม่ได้สูงกว่ากลุ่มอายุวัยทำงานที่อายุ 30-49 ปี แต่อัตราการเพิ่มของการฆ่าตัวตายของกลุ่มอายุนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นสูงที่สุด สาเหตุเพราะความเครียดหรือไม่ เมื่อชีวิตเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงวัยขาลง อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ควรค้นหาคำตอบ
นอกจากนี้คนสูงอายุเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการขนส่ง เพิ่มจาก 1,000 คนในปี พ.ศ. 2551 เป็น 3,000 คนในปี พ.ศ. 2560 มารดาในภาคใต้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์มากกว่าคนกรุงเทพเกินกว่า 3 เท่าในปี พ.ศ. 2557 ทั้ง 2 สถานการณ์นี้ล้วนแต่เป็นการเสียชีวิตที่หลีกเลี่ยงได้
ตัวอย่างทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่มีต่อกลุ่มคนเปราะบางอันเนื่องมาจากอายุและถิ่นที่อยู่อาศัย การวิจัยยังพบว่า คนที่อยู่ในสถานะหย่าหรือแยกทางกัน มีความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตต่ำกว่าคนโสดและคนที่มีคู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพจิตด้วยปัจจัยทางสถานะครอบครัวที่เราอาจจะมองข้ามไป
ส่วนความเหลื่อมล้ำระหว่างอาชีพที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ คือ ค่าใช้จ่ายการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยสูงอายุที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการสูงกว่าผู้สูงอายุที่ใช้สิทธิบัตรทองประมาณสองเท่า ทั้ง ๆ ที่เป็นการรักษาในกลุ่มโรคเดียวกัน และข้าราชการเกษียณยังมีโอกาสมีอายุยืนยาวกว่าผู้สูงอายุที่ใช้บัตรทองถึง 3 ปี
ความเหลื่อมล้ำที่กล่าวมานี้ อาจมีผลต่อความสุขของคนได้ หนังสือ The origins of happiness โดย Andrew E. Clark, Sarah Fleche, Richard Layard, Nattavudh Pawdthavee และ George Ward ได้กล่าวว่า คนมักจะมีความสุขเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เพิ่ม แต่ถ้าเปรียบเทียบคนในประเทศหนึ่งตามกาลเวลาที่รายได้เพิ่มแล้ว ความสุขของคนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามรายได้ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Easterlin paradox ผู้เขียนได้ขยายความถึงเหตุผลหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ คนมีการเปรียบเทียบกันทางสังคม ถ้าเรามีรายได้เพิ่มขึ้นแต่เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ในสังคม เรายังมีฐานะทางเศรษฐกิจโดยเปรียบเทียบแย่เหมือนเดิม ความสุขของเราจะไม่เพิ่มไปกับรายได้ที่เพิ่ม ดังนั้นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพกายแต่ยังอาจเกี่ยวข้องไปถึงสุขภาพจิตได้
ในมิติของประเทศไทย เราอาจจะไม่สามารถทำให้คนทุกคนเท่าเทียมกัน แต่เราทั้งในฐานะที่เป็นปัจเจกชน เป็นสมาชิกของชุมชน สังคม องค์กรเอกชน และหน่วยงานของรัฐ สามารถร่วมกันสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยลงได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ บทบาทของระดับปัจเจก ชุมชน สังคม และองค์กรเอกชน ทำได้ตั้งแต่ร่วมสนับสนุนทั้งแรงและเงิน การเปิดโอกาสและเปิดใจให้ผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม แต่พลังที่สำคัญคือ หน่วยงานของรัฐซึ่งถือเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ควรที่จะต้องทำให้กลไกทางการคลังแข็งแรงพอที่จะให้การกระจายของสินทรัพย์ของคนกลุ่มใหญ่ (โดยเฉพาะกลุ่มคน 95% ที่ถือครองทรัพย์สินเพียง 5% ของประเทศ) ค่อย ๆ ดีขึ้นกว่าเดิม กลไกด้านการศึกษา บริการสาธารณสุข การจ้างงาน การเดินทาง และพัฒนาชุมชน ที่เปิดโอกาสกับคนทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม
อย่างไรก็ดี ยังมีคนบางกลุ่มที่ต้องการโอกาสที่พิเศษกว่าประชาชนทั่วไป คือ คนโชคร้ายที่ยากลำบากด้วยเหตุที่ตนมิได้ก่อไว้ เช่น คนโชคร้ายเกิดมามีร่างกายไม่ครบสามสิบสอง บางคนเกิดมาครบแต่ต้องเร่ร่อนย้ายถิ่น บางคนไม่มีทางเลือกมากนักในการทำมาเลี้ยงชีพ จึงต้องรับทำงานที่เสี่ยงหรือตกงาน บางคนอยากทำงาน แต่ภาวะพิการทำให้ออกจากบ้านไม่ได้ บางคนมีชาติกำเนิดไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่รู้จะไปที่ไหน บางคนอยู่ในครอบครัวแตกแยก หาคนปรึกษาด้วยไม่ได้ ขาดที่พึ่งทางทางใจ คนโชคร้ายเปราะบางเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในวงจรของความยากลำบาก และมีสุขภาพกายและใจที่อ่อนแอ
ในสังคมที่เป็นธรรมควรจะมีแต้มต่อให้แก่คนเหล่านี้ มีกลไกที่จะช่วยเร่งให้เขาตามคนอื่น ๆ ทัน และมิต้องตกอยู่ตำแหน่งพื้นล่างของสังคมตลอดกาล