แม้สหรัฐฯ และจีน จะยอมเปิดเจรจาปัญหาสงครามการค้าอีกครั้ง แต่ไม่กี่วันถัดมา ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้าจีนมูลค่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารกลางจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าสู่ระดับ 7 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกมองว่าเป็นมาตรการตอบโต้ของจีน
วันนี้ (7 ส.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักจากความกังวลต่อผลของสงครามค่าเงิน นักวิเคราะห์ประเมินว่าสหรัฐฯ อาจตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีกับสินค้าจีนเป็น 25% อีกระลอก และใช้สงครามลดค่าเงินต่อกรในครั้งนี้
สงครามการค้า คู่กรณีเจ็บตัว
1 ปี ผ่านมาตั้งแต่สงครามการค้าเริ่มต้น มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีน ลดลง 38% ขณะที่มูลค่าการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ลดลง 13% คิดเป็นมูลการค้าลดลง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กำแพงภาษีของสหรัฐฯ มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้เดือนกันยายน ขณะที่จีนใช้กำแพงภาษีรวมมูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผลกระทบจากสงครามระหว่าง “มังกร” กับ “อินทรี” ทั้งคู่เจ็บตัว แต่จีนอาจได้รับผลกระทบมากกว่า ขณะที่ประเทศที่ไม่ใช่คู่กรณี คาดหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการที่เป็น “ทางเลือก” เมื่อ 2 ประเทศยักษ์ใหญ่ตั้งป้อมการค้าระหว่างกัน
ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ทั่วโลกได้รับผลจากสงครามการค้า โดยเฉพาะการส่งออกในภูมิภาคเอเชียที่ซบเซาถ้วนหน้า
“ตอนนี้ส่งออกครึ่งปีแรกของไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบไป 2.9% สงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ค่าเงินหยวนอ่อน ส่งผลกระทบด้านลบต่อไทยหลายด้าน ทั้งส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และเรื่องการลงทุนในไทย ”
ดร. กิริฎา ระบุว่า ขณะเดียวกันเกิดผลด้านบวกแต่ไม่มาก ไทยได้รับประโยชนในสินค้าบางรายการ เช่น สหรัฐฯ ซื้อคอมเพรสเซอร์แอร์ หรือ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครืองใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน มีสินค้าประมาณ 8-9% ของการส่งออกของเราทั้งหมดที่ได้รับอานิสงส์ แต่ที่เหลือจะได้รับผลกระทบด้านลบ
เวียดนาม…ผู้ชนะในสงครามการค้า
ท่ามกลางสงครามการค้า หลายประเทศได้รับผลกระทบจากการส่งออก เวียดนามกลายเป็นผู้ได้ประโยชน์ในครั้งนี้ ด้วยความพร้อมของระบบรองรับการลงทุน ประกอบกับแรงงานที่พร้อมรับทั้งการผลิตด้วยแรงงานราคาถูกไปจนถึงแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และปิโตรเคมี TDRI ประเมินว่าเวียดนามจะกลายเป็นฐานผลิตหลักในเอเชีย
ความหวัง “อาเซียน” รวมตัวรับมือสงครามการค้า
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เป็นความคาดหวังว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 6 ชาติคู่เจรจา จะเป็นกลไกสำคัญในการคลี่คลายข้อพิพาททางการค้า
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การที่อาเซียนไม่เป็นเอกภาพ ยากที่ RCEP จะได้ความตกลงคุณภาพสูง
ทีดีอาร์ไอ…เสนอ 4 ทางรอดไทยในสงครามการค้า
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวว่า สงครามการค้าจะยืดเยื้อยาวนาน และจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เสนอ 4 ทางออกไทยท่ามกลางสงครามการค้า คือ 1.กระจายความเสี่ยงในการค้าการลงทุนออกจากจีน, 2.กระชับความสัมพันธ์อาเซียน เพื่อสร้างตลาดใหม่, 3.ประกันการเข้าถึงตลาดหลัก ผ่านการรับการลงทุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และขยายข้อตกลงเขตการค้าเสรีใหม่ๆ (FTA) 4.เตรียมนโยบายช่วยธุรกิจรับมือความผันผวน และสุดท้ายกระจายต้นทุน และประโยชน์อย่างเป็นธรรม ผ่านมาตรการลดความเสี่ยงต่อข้อห่วงใยต่างๆ ของการทำ FTA
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน FTA Watch แสดงความเป็นห่วงต่อการเดินหน้าขยายความตกลงเขตการค้าเสรี โดยไม่ย้อนกลับไปพิจารณาผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมเขตการค้าเสรีของไทย
รัฐบาลต้องเตรียมการ เรื่อง SafetyNet หรือตาข่ายทางสังคมอย่างเข้มแข็ง แต่ไม่เห็นตรงนี้มากนัก รัฐไม่ได้พูดถึงสวัสดิการสังคม หรือรัฐสวัสดิการแบบทั่วหน้า แต่กลับพบว่ารัฐบาลพยายามทำการเจรการค้ามากขึ้น เช่น การเริ่มเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อห่วงใยหลายข้อ ตัวเนื้อหาถูกเสนอก่อนที่จะมีการัฐประหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเคยแสดงความกังวลต่อยาราคาแพงและการผูกขาด ที่อาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพไม่สามารถดูแลประชาชนได้ดีอย่างเดิม
หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน ไทยพีบีเอส เมื่อ 7 สิงหาคม 2562
[real3dflipbook id=”5″ mode =”normal”]