‘Food Waste’ ปัญหาร่วมระหว่างเราและโลก (จบ)

ธารทิพย์ ศรีสุวรรรณเกศ

ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการลดปัญหาขยะอาหาร ด้วยมาตรการที่แตกต่างกันตามตัวอย่างในบทความก่อนหน้า

ขณะที่ประเทศไทย การจัดการเพื่อลดขยะอาหารยังเป็นเรื่องใหม่ และประเทศไทยไม่มีแม้กระทั่งข้อมูลปริมาณอาหารที่ผลิตและปริมาณการทิ้งขยะอาหารที่ชัดเจน มีเพียงข้อมูลขยะมูลฝอยที่เป็นขยะอินทรีย์ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษระบุว่าปี 2560 มีปริมาณ 17.56 ล้านตัน คิดเป็น 64% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ซึ่งข้อมูลนี้เป็นเพียงปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บโดยเทศบาลเท่านั้น ยังไม่รวมขยะอาหารจากภาคธุรกิจที่จ้าง บริษัทเอกชนดำเนินการ

การตั้งเป้าหมายเพื่อลดขยะอาหารให้ได้ ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับไทย “อาจเป็น ไปได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้”

ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมและค้าปลีกในไทยเริ่มตระหนัก โดยมีผู้ริเริ่มเป็นผู้ประกอบการต่างชาติ  เช่น เทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) ท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต อิเกีย (IKEA) และ ผูู้ประกอบการไทย เช่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์

ขณะโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซด์ เป็นแห่งแรกที่เข้าโครงการลดขยะอาหารของสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) รวมถึงโรงแรมจากต่างประเทศ ได้แก่ โรงแรม เจ ดับบลิว มาริออท (JW Marriott) โรงแรม ฮอลิเดย์อิน สีลม โรงแรม ดิแอสบาสเดอร์

ผู้ประกอบการเหล่านี้มีการจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อลดการ สูญเสียจากการขนส่ง การวางแผนการผลิตเพื่อไม่ให้เกิดอาหารส่วนเกิน การนำ อาหารที่ยังกินได้ไปบริจาคให้องค์กร ไม่แสวงหากำไร Scholars of Suste nance (SOS) การนำเศษอาหารไปจำหน่ายให้ฟาร์มสุกร  หรือไปหมักเพื่อทำปุ๋ย เป็นต้น

แต่การดำเนินการเหล่านี้ก็ยังประสบปัญหาหลายประการ เช่น การผูกขาดของบริษัทเอกชนที่ให้บริการจัดเก็บและรีไซเคิลขยะในบางพื้นที่ ซึ่ง อปท.ให้สัมปทานแก่ผู้ให้บริการรายเดียว ขาดหน่วยงานกลางทำหน้าที่กระจายอาหารส่วนเกินไปยังสถานสงเคราะห์ต่างๆ เนื่องจากในปัจจุบันมีเพียง SOS รายเดียวที่มีระบบในการขนส่งอาหารเพื่อนำไปบริจาคที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย แบกรับความรับผิดชอบหากมีการฟ้องร้องกรณีที่อาหารนำไปบริจาค ส่งผลต่อสุขภาพของผู้รับบริจาค การขาดการแยกขยะ ขาดข้อมูลจัดการขยะอาหาร ขาดเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ เป็นต้น

การจะก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคืออาจเริ่มดำเนินการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมก่อน โดยอันดับแรกต้องสร้างฐานข้อมูลปริมาณขยะอาหาร เพื่อนำร่องการพัฒนาข้อมูลขยะอาหารระดับประเทศ

สองคือ จัดทำเว็บไซต์บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับระบบนิเวศการบริหาร จัดการขยะอาหาร เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหาขยะอาหาร อย่าง สสปน. SOS เป็นต้น รายชื่อหน่วยงาน องค์กร หรือชุมชน ที่รับบริจาคอาหาร โดยอาจระบุลักษณะอาหารที่ต้องการ เช่น อาหารปรุงสำเร็จรูป วัตถุดิบปรุงอาหาร อาหารกระป๋อง ฯลฯ รายชื่อ บริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะอาหาร เช่น บริษัท SORT Corporation ที่จำหน่ายเครื่องแปรรูปขยะอาหารเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ และพลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน ภาครัฐอาจต้องจัดทำมาตรการส่งเสริมการนำอาหารไปบริจาค ออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริจาคและตัวกลางในการกระจายอาหารเพื่อนำไปบริจาค การกำหนดมาตรฐานของการถนอมอาหารและการขนส่งอาหารที่บริจาค ฯลฯ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี กรณีมีการบริจาคอาหารหรือวัตถุดิบให้แก่องค์กรไม่แสวงหากำไร องค์กรการกุศล หรือโรงเรียน เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตอาหารส่วนเกินไปบริจาคมากกว่าการนำไปทิ้ง
 
ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรมีมาตรการส่งเสริมให้มีการนำขยะอาหารไปรีไซเคิล ได้แก่ การแยกจัดเก็บขยะอินทรีย์ออกจากขยะทั่วไป โดยอาจสลับวันหรือมีรอบพิเศษในแต่ละวันของการจัดเก็บขยะอินทรีย์ซึ่งควรเริ่มจากภาคธุรกิจก่อน

การปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะของทุกพื้นที่ให้สะท้อนต้นทุนแท้จริง โดยอาจพิจารณาตามปริมาณและน้ำหนักของ ขยะ และต้องมีการปรับค่าธรรมเนียมให้เท่ากันทุกพื้นที่ มิฉะนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจหลีกเลี่ยงที่จะขึ้นค่าจัดเก็บขยะเนื่องจากกลัวเสียผลประโยชน์ทางการเมือง และมีศูนย์แปรรูปขยะอาหารในแต่ละท้องถิ่น  เพื่อให้ธุรกิจขนาดย่อมหรือครัวเรือนสามารถนำขยะอาหารมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์อื่นได้ เช่น ปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ

ผู้เขียนเห็นว่าปัญหา “ขยะอาหาร” จะเป็น ประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนมากขึ้นอย่างรวดเร็วต่อจากปัญหาขยะพลาสติก หากแต่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูล ปริมาณขยะอาหารที่มีการฝังกลบแต่ละวัน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความ ตื่นตัวถึงความรุนแรงของปัญหา และเราทุกคน สามารถเริ่มมีส่วนร่วมโดยการ “กินข้าวให้หมด จาน” และ “สั่งอาหารให้พอดีกับท้อง”

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 24 ตุลาคม 2562