Food Waste ปัญหาร่วมระหว่างเรา และ โลก (1)

กะรัตลักษณ์ เหลี่ยมเพชร

“ขยะอาหาร” หนึ่งในปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญ เพราะการเน่าเสียของอาหารปล่อยก๊าซมีเทนที่มีศักยภาพเป็นก๊าซเรือนกระจก หรือทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 25 เท่า ในแต่ละปีจะมีขยะอาหารที่ถูกต้องฝังกลบ ประมาณ 1,300 ล้านตัน ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษคิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

อีกทั้งในปัจจุบันมีจำนวนประชากรทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความหิวโหย ถึง 870 ล้านคน ในขณะที่แต่ละปีทั่วโลก มีอาหารที่ยังรับประทานได้ถูกทิ้งจำนวนมหาศาล เฉพาะสหรัฐทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 60 ล้านตัน

องค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้กำหนดให้ขยะอาหาร เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกจะต้องลดลง 50% จุดมุ่งหมายแรกคือการพัฒนาเครื่องมือและตัวชี้วัดปริมาณของการ สูญเสียอาหารและขยะอาหาร

หลายประเทศให้ความสำคัญกับการ ลดปริมาณขยะอาหาร โดยเริ่มจากการ ใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังรับประทานได้ หรือเรียกว่า “อาหารส่วนเกิน” ที่อาจเหลือ จากงานเลี้ยง หรือ บุฟเฟต์ในโรงแรม หรือ อาหารสด และ อาหารกระป๋อง จากซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการบริจาคอาหารส่วนเกิน และมีการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดมากที่สุด คือ ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร ซึ่งกำหนดให้ ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 400 ตารางเมตร ขึ้นไปจะต้องบริจาคสินค้าอาหารที่ยังทานได้ แก่มูลนิธิรับบริจาคอาหาร เพื่อนำไปแจกจ่าย ให้ผู้ที่ต้องการ หากไม่ดำเนินการจะมีโทษปรับจำนวน 3,750 ยูโร หรือประมาณ 133,293 บาท ในขณะเดียวกันผู้บริจาคจะได้รับเครดิตภาษี 60% ของมูลค่าอาหารที่บริจาค ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ฝรั่งเศสใช้ทั้งไม้เรียวและไม้นวมในการลดปัญหาขยะอาหาร

สหรัฐ เน้นมาตรการสร้างแรงจูงใจ มากกว่าการลงโทษ เริ่มจากมีกฎหมายที่ให้การยกเว้นความรับผิดทางแพ่งและอาญาให้แก่ผู้บริจาคอาหารที่อยู่ในสภาพดีเพื่อการกุศล ทำให้ภาคธุรกิจกล้าที่จะบริจาคอาหาร ในขณะเดียวกันมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับผู้ที่บริจาคอาหารให้กับมูลนิธิ หรือองค์กร การกุศลเช่นเดียวกับฝรั่งเศส เช่น มลรัฐ แอริโซนา ให้สิทธิลดหย่อนภาษีแก่ร้านอาหาร และเกษตรกรที่บริจาคอาหารหรือผลผลิต ทางการเกษตร มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้เครดิต ภาษี 10% ของมูลค่าสินค้าที่บริจาค เฉพาะสำหรับภาคการเกษตร และมลรัฐ มิสซูรีให้เครดิตภาษีแก่ผู้ที่บริจาคให้กับโรงทานในพื้นที่ 50% ของมูลค่าอาหารที่บริจาค แต่ไม่เกิน 2,500 ดอลลาร์ต่อปี

นอกจากการสร้างแรงจูงใจหรือกำหนดบทลงโทษแล้ว การใช้แอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์มจับคู่ผู้ที่ต้องการบริจาคอาหาร และผู้ต้องการรับบริจาคก็เป็นอีกมาตรการลดปัญหาอาหารส่วนเกินในหลายประเทศ

เนื่องจากอาหารสดมีอายุจำกัด ความรวดเร็ว ในการบริหารจัดการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่าง แอพพลิเคชั่น Food Cloud ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ Too Good To Go ในทวีปยุโรปและสหรัฐ ซึ่งจับคู่ผู้บริโภคที่ต้องการอาหารและ ร้านอาหารที่มีอาหารเหลือ โดยผู้บริโภค สามารถค้นหาวัตถุดิบหรืออาหารที่ต้องการ และจ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชั่นให้กับ ร้านอาหารในราคาถูก ตั้งแต่ปี 2015-2017 มีผู้เรียกใช้แอพพลิเคชั่นกว่า 1.2 ล้านครั้ง

เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการลด ปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือน โดยพัฒนาระบบ pay-as-you-recycle ซึ่งครัวเรือนจะต้องซื้อถุงบรรจุขยะอาหาร ที่ย่อยสลายได้เฉลี่ยเดือนละ 6 ดอลลาร์ หรือประมาณ 184 บาท (สำหรับครัวเรือน ที่มีสมาชิก 4 คน) ทำให้ครัวเรือนจำกัด ปริมาณขยะอาหารเนื่องจากถุงย่อยสลายได้ มีราคาแพง และช่วยอำนวยความสะดวก ในการนำขยะไปรีไซเคิลโดยการหมัก เพื่อทำปุ๋ยหรือผลิตก๊าซชีวภาพได้เลย นอกจากนี้แล้ว

กรุงโซลยังมีการพัฒนา Smart Bins หรือ ถังขยะอาหารที่มีระบบชั่งน้ำหนักและระบบรีไซเคิลขยะอาหาร ผู้คนสามารถนำขยะอาหารมาทิ้งในถัง และจ่ายค่ารีไซเคิลตามน้ำหนักที่ทิ้งลงในถัง จากนโยบายการผลักดันที่จริงจัง และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เกาหลีใต้สามารถ ลดปริมาณขยะอาหารโดยรวม และนำขยะอาหารมารีไซเคิลได้ถึง 95%

กลับมามองที่ประเทศไทย จากข้อมูล ของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ขยะอาหาร คิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมด แต่มีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากเทศบาลส่วนมากไม่มีการแยกขยะ เช่น กทม. รีไซเคิลขยะอาหารได้ 2% เท่านั้น ที่เหลือจะนำไปกำจัดโดยวิธีการฝังกลบรวม ที่ไม่มีระบบการจัดการแบบถูกสุขาภิบาล

 แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีภาคเอกชน ค้าปลีก โรงแรม ภัตตาคารจุดประกาย ขับเคลื่อนการลดปริมาณขยะอาหาร และนำอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพดี ไปบริจาค เช่น SOS (Scholars of Sustenance Foundation) มูลนิธิรับบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อไปกระจาย ให้แก่ผู้ที่ต้องการอาหาร สำนักงานส่งเสริม การจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หน่วยงานรัฐที่เข้ามาให้เงินอุดหนุนแก่ โรงแรม ในการจ้างที่ปรึกษาด้านการจัดการอาหารเพื่อวางระบบการบริหารจัดการ ขยะอาหารและอาหารเหลือ รวมทั้งมีบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลดปริมาณ ขยะอาหาร LightBlue Environmental Consulting เป็นต้น

การดำเนินการขององค์กรเหล่านี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอุปสรรค อื่นๆ ที่ประเทศไทยจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้ สถานการณ์การจัดการอาหารที่ทิ้งของประเทศไทยเป็นอย่างไร มีปัญหา และอุปสรรคอย่างไร และแนวทางในการ แก้ไขปัญหาเหล่านั้นคืออะไร ผู้เขียนจะขอ แบ่งปันในบทความถัดไป

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 10 ตุลาคม 2562