ปฏิรูป ‘รถเมล์ไทย’ โดยผู้ใช้บริการ

สุเมธ องกิตติกุล
          วาริ ปล้องอ่อน
          ณิชมน ทองพัฒน์

บริการรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ มีปัญหาด้านคุณภาพสะสมมานาน แม้ว่าผู้ประกอบการเดินรถต้องการปรับปรุงคุณภาพ การบริการให้ดีขึ้น แต่ด้วยอุปสรรคเชิงโครงสร้างในอดีต ทั้งการบริหาร จัดการการกำกับดูแลและโครงสร้างการประกอบการ จึงส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางลดลง

นอกจากนี้การเลือกเดินทางด้วยรูปแบบอื่นโดยเฉพาะรถส่วนบุคคล ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางมีแนวโน้มลดลง จึงยิ่งทำให้ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ไม่สามารถแก้ไขได้ การพัฒนาคุณภาพบริการจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยอาศัยหลักการ สร้างแนวทางการกำกับดูแลและบริหารจัดการที่มีแบบแผนชัดเจน ผ่านการออกแบบกระบวนการให้ใบอนุญาตประกอบการเดินรถที่มีประสิทธิภาพ สามารถติดตามและประเมินผลจนนำไปสู่การให้บริการที่มีคุณภาพได้ อีกทั้งยังมีการปฏิรูปโครงข่ายการเดินรถโดยสาร ประจำทางจำนวน 269 เส้นทาง ที่ลดความทับซ้อน เพิ่มความครอบคลุม และส่งเสริมการเชื่อมต่อกับการเดินทางรูปแบบอื่น

ความท้าทายสำคัญอีกประการของการปฏิรูปโครงข่ายต่อสังคมคือ การกำหนดระบบเลขสายรถ เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้โดยสารเคยชินในการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง ซึ่งเลขสายปัจจุบันไม่สามารถให้ข้อมูล การเดินรถได้อย่างเหมาะสม และไม่มีระบบในการกำหนด

ทั้งนี้ เส้นทางปฏิรูปดังกล่าวประกอบด้วยเส้นทางเดิม เส้นทางเดิม ที่มีการเปลี่ยนแปลงบางช่วง และเส้นทางใหม่ ดังนั้น หากไม่มีการกำหนด เลขสายอย่างเป็นระบบ อาจทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่านของกระบวนการปฏิรูป โดยกระบวนการออกแบบระบบ เลขสายควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้บริการรัฐสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้

ทีดีอาร์ไอจึงร่วมกับ Mayday กลุ่มคนที่มีความสนใจ แก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการนำข้อมูลและความคิดสร้างสรรค์มาสร้าง การเปลี่ยนแปลง จัด “Workshop เรียงเบอร์ : เลขสายที่คิดออก” เพื่อให้ผู้โดยสารจากหลากสาขาอาชีพ ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมกันสร้างสรรค์แนวทางการกำหนดเลขสายใหม่ ผ่านกระบวนการ  Design Thinking ที่ร่วมกันทำความเข้าใจต้นเหตุของปัญหา และออกแบบเลขสายโดยยึดผู้โดยสารเป็นศูนย์กลาง จนได้มาซึ่ง 3 ประเด็นหลัก เพื่อเป็นแนวทางการกำหนดเลขสายใหม่ ได้แก่ 1.จำนวนหลักเลขสาย 2.การระบุโซนต้นทาง-ปลายทางในเลขสาย 3.เลขสายสำหรับรถเส้นทางพิเศษ เช่น รถวิ่งทางด่วนและรถวิ่งเชื่อมต่อสนามบิน เป็นต้น

ซึ่งประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์สามารถร่วมโหวตเลือกเลขสาย ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ในช่วง 21-28 พ.ย.นี้ ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ “Mayday” หรือ TDRI ที่ กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกรมการขนส่งทางบก เครือข่ายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่คำนึงถึงความต้องการของผู้โดยสารเป็นสำคัญในการกำหนดนโยบาย เพื่อให้การกำหนดเลขสายใหม่บรรลุผลตามเป้าหมายแผนการปฏิรูปฯ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งแตกต่างจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงเลขสายหลายครั้งที่ผ่านมา

นอกจากการจัดกระบวนการออกแบบและเลือกเลขสายรถเมล์ใหม่ผ่านระบบออนไลน์เพื่อประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว หลังจากนี้จะมีการลงพื้นที่สำรวจบริเวณป้ายรถเมล์ เพื่อเปิดรับคะแนนเสียงจากผู้สนใจที่ไม่สามารถเข้าถึงช่องทางออนไลน์ได้

ผลการลงคะแนนเสียงทั้งหมดที่ได้จะนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เพื่อขอความเห็นชอบก่อนประกาศใช้จริง พร้อมให้เป็นของขวัญแก่ประชาชนในการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2563 ปีแห่งการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ตามมา ไม่เพียงแต่การมีระบบเลขสายใหม่เท่านั้น ด้วยความคาดหวังและตั้งใจให้ประชาชนได้รับบริการและประสบการณ์เกี่ยวกับรถโดยสารประจำทางที่ดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2562