เปิดมิติใหม่ ผู้ใช้งานร่วมออกแบบเลขสายรถเมล์ใหม่

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ทีดีอาร์ไอ เมล์เดย์ และกรมการขนส่งทางบก ผนึกกำลังจัดเวิร์คช็อป เรียงเบอร์ ‘เลขสายที่คิดออก’ เปิดให้ผู้ใช้งานได้ร่วมออกแบบเลขสายรถเมล์ เตรียมรับการปรับเส้นทางใหม่ หนุนการปฏิรูปรถเมล์ไทยเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลและการให้บริการที่มีประสิทธิภาพตอบสนองผู้ใช้งาน

เมื่อวันเสาร์ ที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับกลุ่มเมล์เดย์ และกรมการขนส่งทางบกจัดเวิร์คช็อป เรียงเบอร์ ‘เลขสายที่คิดออก’ ขึ้นที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยเวิร์คช็อปครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกแบบเลขสาย โดยมีผู้ใช้บริการรถประจำทางสาธารณะจริงเข้าร่วมกว่า 50 คน มาร่วมออกแบบ ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเลขสาย 10 รูปแบบ และภายในสัปดาห์หน้าจะนำผลงานทั้งหมดไปพัฒนาต่อยอดร่วมกับทางผู้ประกอบการ กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และจะนำผลลัพท์เลขสายที่ดีที่สุด 3 รูปแบบสุดท้าย มาให้ประชาชนทั่วไปได้โหวต และให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณานำไปปรับเลขสายต่อไป ซึ่งคาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จภายในเดือน พฤศจิกายน 2562 และจะมีการประชาสัมพันธ์เส้นทางและเลขสายใหม่ภายในเดือน มกราคม 2563

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป ถ่ายภาพร่วมกับทีมงาน ทีดีอาร์ไอ และ เมล์เดย์

การเวิร์คช็อป เรียงเบอร์ ‘เลขสายที่คิดออก’ นำโดยกลุ่มเมล์เดย์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น รถ ราง เรือ มารวมตัวกันด้วยแนวคิดที่ว่าอยากจะแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะด้วยการที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกคน เพราะเชื่อว่าคนที่จะมาแก้ปัญหาหรือว่าตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีที่สุดคือผู้ใช้งานจริง

ภาพบรรยากาศการทำเวิร์คช็อป

ทั้งนี้ กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ สมาชิกกลุ่มเมล์เดย์ ให้ข้อมูลว่า ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงเลขสายรถเมล์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยประเทศไทยมีการแก้ไขเลขสายรถเมล์มาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ในช่วงปี 2537 – 2560 แต่ครั้งนี้ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการจำนวนมาก มาร่วมออกแบบเลขสายใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมให้ทันกับการให้บริการเส้นทางใหม่ที่ช่วยให้รถเมล์ทำหน้าที่รับส่งเชื่อมต่อจากการเดินทางระบบอื่นอย่าง รถไฟฟ้าสถานีใหม่ที่จะเปิดใหม่เร็ว ๆ นี้  ทั้งนี้ กิจกรรมเวิร์คชอปครั้งนี้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เลขสายทำหน้าที่สื่อสารให้ผู้ใช้บริการรถเมลสะดวกต่อการใช้งาน และพบว่า 3 อันดับข้อมูลที่ผู้ใช้งานเสนอให้เลขสายรถเมล์สื่อถึงมากที่สุด ได้แก่ ประเภทเส้นทาง จุดหมาย และ โซนวิ่ง

ผู้ใช้งานรถโดยสารสาธารณะ ร่วมนำเสนอรูปแบบสายรถเมล์ใหม่ที่อยากเห็น

ทั้งนี้ปัญหารถเมล์ไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องปฏิรูป เนื่องด้วยทั้งโครงสร้างเมืองและพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผู้โดยสารที่ใช้รถเมล์ลดลง ในขณะเดียวกันจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ส่วนบุคคลนั่ง เพิ่มขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากเรื่องของคุณภาพรถเมล์ ประกอบกับในอนาคตที่รถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จครบทุกสาย ซึ่ง ทีดีอาร์ไอได้จัดทำแผนที่คาดการณ์พบว่าจำนวนสายรถเมล์กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ทับเส้นทางรถไฟฟ้าเกินห้าสถานีในแต่ละสายซึ่งจะทำให้การประกอบการของรถเมล์ไม่มีประสิทธิภาพ

ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงแนวคิดการปฏิรูปรถเมล์ ประกอบไปด้วย 6 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปการกำกับดูแล การปฏิรูปเส้นทาง การปฏิรูปโครงสร้างการประกอบการ การปฏิรูปการให้ใบอนุญาต การปรับปรุงสภาพรถ และกลไกสนับสนุนผู้ให้บริการ ซึ่งกุญแจสำคัญ คือ การให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ และรวมถึงกิจกรรมเวิร์คช็อปในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเส้นทางการเดินรถ  ที่จะทำให้เกิดเส้นทางเดินรถใหม่เร็ว ๆ นี้

ซ้าย : ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ขวา : กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ สมาชิกกลุ่มเมล์เดย์

ในส่วนของการปฏิรูปการกำกับดูแล จากเดิมขสมก. มีบทบาททับซ้อน ทั้งกำหนดนโยบาย กำกับรถร่วม และให้บริการเดินรถ และที่ผ่านมาสัญญาเดินรถร่วมที่ให้ผู้ประกอบการ มีการให้หรือต่ออายุได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกแบบแข่งขัน ดังนั้นจึงทำให้ผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจในการปรับปรุงการให้บริการเพื่อแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น ดังนั้นในช่วงสามปีที่ผ่านมาจงได้มีการปฏิรูปการกำกับดูแล ให้เอกชนสามารถขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกได้โดยตรง เพื่อสร้างระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในขณะที่การปฏิรูปเส้นทางมีจุดประสงค์เพื่อลดปัญหาการจราจร และการแย่งผู้โดยสาร เนื่องจากโครงสร้างสายรถเมล์เดิมมีเส้นทางที่ทับซ้อนกันทำให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพ จากเส้นทางที่ทับกันตรงกลางเมือง ซึ่ง การเปลี่ยนเส้นทางครั้งนี้เป็นการปรับปรุงจากโครงสร้างเดิมเพื่อให้กระทบผู้ใช้งานน้อยที่สุด โดยลดการทับซ้อน และลดความยาวของเส้นทางที่ไม่จำเป็น