ความเหลื่อมล้ำ 2020 (ตอน 2): เราควรทำอะไร

สมชัย จิตสุชน

ในตอนที่แล้ว ผมพูดถึงเรื่องที่รู้มานานหรือรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ และเรื่องที่ไม่ค่อยรู้แต่ควรรู้หกประการ ในตอนนี้ผมจะพูดถึงเรื่องที่เรา (หมายถึงสังคมไทย ไม่ใช่เพียงรัฐไทย) ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ดีสิบประการ ประกอบด้วย

ประการแรก ทุกนโยบายสำคัญของรัฐบาลต้องคำนึงถึงมิติความเหลื่อมล้ำเสมอ เราจะใช้แนวคิดเดิมว่าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวแล้วทุกอย่างจะดีเองไม่ได้ การที่สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2559 และ 2561 ทั้งที่เศรษฐกิจขยายตัวดีในสองปีนั้นเป็นเสมือน ‘นาฬิกาปลุก’ ที่ปลุกให้เราตื่นจากความเชื่อนี้ ตัวอย่างในปัจจุบันคือเมื่อต้องการเร่งพัฒนาพื้นที่อีอีซีก็ต้องดูผลกระทบทางสังคมและต่อความเหลื่อมล้ำด้วย ทั้งความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ และความเหลื่อมล้ำข้ามพื้นที่ และแม้นโยบายที่ดูเหมือนจะช่วยคนจนและน่าจะลดความเหลื่อมล้ำเช่นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ต้องศึกษาอย่างจริงจังว่าลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ หลักฐานจากการสำรวจที่พบว่ามี ‘คนจนตัวจริง’ ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคิดเป็นถึงร้อยละ 64 ของคนจน ก็ต้องนำมาใช้เพื่อปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น

ประการที่สอง ต้องแบ่งหน้าที่ระหว่างภาครัฐและเอกชนให้ดี ตอนที่แล้วที่ผมบอกว่าประเทศที่เหลื่อมล้ำน้อยเป็นเพราะนโยบายด้านสวัสดิการเป็นไปอย่างทั่วถึง ถ้วนหน้า และเพียงพอ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้งบประมาณมากและยากที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ในเร็ววัน สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือลดบทบาทในภาคการผลิตของรัฐบาล เน้นเอื้อให้เอกชนเป็นหัวจักรแทนด้วยการยกเลิกกฎระเบียบที่มากมายและเป็นปัญหาในการทำธุรกิจ ลดขนาดรัฐวิสาหกิจแทนที่จะเพิ่มเช่นในระยะหลัง ใช้แนวทาง PPP สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่นนี้จะช่วยให้รัฐเหลืองบประมาณด้านสังคมมากขึ้น นโยบายหาเสียงของหลายพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันจะได้ทำได้เสียที เช่นมารดาประชารัฐ เกิดปั๊บรับแสน

ประการที่สาม กระจายอำนาจการเมืองและอำนาจการคลังออกจากส่วนกลาง พร้อมทั้งยกระดับธรรมาภิบาลของการบริหารภาครัฐ (ภาคการเมืองและภาคราชการ) ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แนวทางนี้จะทำให้นโยบายภาครัฐมีส่วนลดความเหลื่อมล้ำได้ดีขึ้น

ประการที่สี่ ยกเครื่องความสามารถในการควบคุมการผูกขาด ถึงแม้จะมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าใหม่แล้ว แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องเห็นผลสัมฤทธิ์มากกว่าปัจจุบัน

ประการที่ห้า ลดช่องว่างคุณภาพการศึกษาโดยลูกคนรวยต้องไม่ล้ำหน้าเกินลูกคนชั้นกลางล่างหรือรากหญ้าจนยากรับได้เช่นปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึง แก้ปัญหาคุณภาพโรงเรียนอย่างมีจินตนาการและกล้าหาญ เช่นยุบโรงเรียนเล็กแล้วเอางบประมาณที่ประหยัดได้มาจัดบริการรถรับส่งเพื่อช่วยการเดินทางมาโรงเรียนของเด็กชนบท การบริหารโรงเรียนควรสะท้อนความต้องการของผู้ปกครอง

ประการที่หก ยกระดับการประกันสุขภาพ โดยสิทธิประโยชน์จากสามกองทุนต้องไม่ห่างกันมากและขยับเข้าใกล้บริการเอกชน โดยต้องมีความยั่งยืนทั้งทางด้านการเงินการคลัง และด้านการให้บริการ คือต้องตอบทั้งโจทย์ของคนไข้และของผู้ให้บริการคือโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์

ประการที่เจ็ด วางแนวทางเตรียมตัวสู่สังคมอายุยืนที่ไม่ใช่เพียงรอให้คนแก่แล้วมาแก้ปัญหา ต้องเป็นนโยบายเชิงรุก เช่นการส่งเสริมความรอบรู้ทางการเงิน (financial literacy) ที่ช่วยส่งเสริมการออมและปรับพฤติกรรมเป็นหนี้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (health literacy) ที่ช่วยลดการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะจากโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (non-communicable diseases, NCDs) ลดภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพและรักษาแรงงานให้ระบบเศรษฐกิจได้นานขึ้น การขาดความรอบรู้ในสองเรื่องนี้ค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มรากหญ้าและซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ประการที่แปด ดูแลผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยมีนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง (inclusive technology policy) ซึ่งอาจเพิ่มแต้มต่อให้คนชั้นกลางและรากหญ้าไม่ให้ถูกทิ้งห่างทางเทคโนโลยีจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีในการลดความเหลื่อมล้ำ เช่นการให้บริการคนจนได้เร็วขึ้น ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสะดวกขึ้น ดังเช่นการทำประชามติบ่อยครั้งแบบออนไลน์ของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ตอบสนองความต้องการประชาชนได้ดีกว่าการเลือกตั้งสี่ปีหน

ประการที่เก้า สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติต่อ ‘คนจนและผู้ด้อยโอกาส’ เสียใหม่ ไม่มองว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนขี้เกียจ ไม่รักดี เอาแต่แบมือ ต้องมองว่าเขาก็เป็นคนเหมือนเรา หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกับเขาก็อาจทำตัวเหมือนเขาเช่นกัน ต้องทำความรู้จักและเข้าใจเขาเหล่านั้นให้มากขึ้น

ประการที่สิบ สิ่งที่พูดมาทั้งหมดอาจไม่มีวันเป็นจริงเลยหากเราไม่มีประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ซึ่งในความเห็นผมคือประชาธิปไตยที่รับรองสิทธิ์ เสรีภาพ และหน้าที่ของพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ลดทอนการครอบงำทางการเมืองของผู้มีอำนาจและอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นอำนาจเงินหรืออำนาจอื่นใด

ผมหวังว่าเราจะร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง และอีกสิบปีข้างหน้าผมไม่ต้องตีพิมพ์บทความสองตอนนี้ซ้ำอีก โดยเปลี่ยนเพียงชื่อเป็น “ความเหลื่อมล้ำ 2030”

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: ความเหลื่อมล้ำ 2020 (ตอน 1) : เรารู้อะไร เราควรรู้อะไร

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 30 มกราคม 2563