ปัญหาการกักตุนสินค้าจำเป็นในช่วงวิกฤติการโควิด-19

เมื่อเกิดวิกฤติ ความต้องการสินค้าจะมีความผันผวนมากกว่าปกติและทำให้การจัดสรรทรัพยากรโดยอาศัยกลไกตลาดอาจจะเกิดปัญหาได้ ซึ่งวิกฤติการโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดความต้องการสินค้าทางการแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับการกักตัว ส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งชิงสินค้าที่จำเป็น และการกักตุนสินค้า ไปจนถึงการแสวงหากำไรจากความต้องการสินค้าต่างๆ  

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ในสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น ราคาสินค้าตามกลไกตลาดถูกผลักดันให้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ราคาน้ำมันจากที่เคยอยู่ที่ประมาณ 2-5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อแกลลอน ถูกปรับราคาขึ้นเป็น 20 เหรียญสหรัฐฯ น้ำดื่มแพ็ค 24 ขวด ถูกกำหนดราคาที่ 99 เหรียญสหรัฐฯ จากที่เคยมีราคาประมาณ 10-20 เหรียญสหรัฐฯ ในสภาวะปกติ1 

แม้ว่าระดับราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่กระนั้น ยังพบว่าประชาชนรวมทั้งภาคธุรกิจมีการกักตุนสินค้า เนื่องจากในส่วนของภาคธุรกิจจะเป็นการแสวงหากำไรจากการกักตุนสินค้าเพื่อนำมาขายในราคาที่สูง ในขณะที่ประชาชนก็มีการกักตุนสินค้าเพื่อให้มีสินค้าที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เมื่อทั้งสองภาคส่วนต่างก็พยายามกักตุนสินค้า ยิ่งทำให้สินค้ามีความขาดแคลนมากยิ่งขึ้น และทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีก กลไกนี้เองเป็นสภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ 

จากกรณีศึกษา จะพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการกักตุนสินค้าคือ 1) ปัจจัยในด้านการดำเนินธุรกิจที่ต้องแสวงหากำไร และ 2) ปัจจัยในด้านการดำเนินชีวิตที่ต้องแสวงหาทางในการเอาตัวรอด นอกจากนี้ กลจักรในทางเศรษฐศาสตร์ที่บังคับให้ระดับราคาเพิ่มขึ้นสูง คือ กลไกการจัดสรรทรัพยากรโดยใช้กลไกราคา ที่อธิบายพฤติกรรมตลาดว่า ระดับราคาสินค้าจะลดลงหากตลาดมีสินค้าล้นเกิน และระดับราคาที่เพิ่มขึ้นสูงในสถานการณ์ที่สินค้าขาดแคลน นอกเหนือจากสภาวะวิกฤติที่สินค้ามีการกระจายได้อย่างยากลำบากมากขึ้น (เช่น อุทกภัยทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าเข้าไปในพื้นที่ได้) แล้วปัญหาการกักตุนสินค้ายังทำให้สินค้ามีแนวโน้มขาดแคลนมากยิ่งขึ้น และทำให้ระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบทำให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการดังกล่าวได้ หรือสามารถเข้าถึงได้ในระดับราคาที่สูงเกินความเหมาะสม 

สืบเนื่องจากการแนวทางปฏิบัติในการรับมือกับโรคระบาดตามแนวทางของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคประชาชนควรสวมใส่หน้ากากอนามัย และมีการล้างมือโดยใช้น้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล2 ก็ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการหน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์เจล เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเริ่มต้นการระบาด เนื่องจากการระบาดเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ประชาชนไม่สามารถเตรียมอุปกรณ์รองรับการระบาดได้ล่วงหน้า ผลจากความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ได้ทำหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจลขาดตลาด และเกิดการแย่งชิงสินค้า รวมไปถึงการแสวงหากำไรเกินควรเกิดขึ้น สำหรับการผลิตหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจลภายหลัง นอกจากนี้ สินค้าทั้งสองประเภท ยังเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งาน เพื่อให้ถูกสุขลักษณะหน้ากากอนามัยไม่ควรมีการนำมาใช้งานซ้ำ (และควรมีการทำความสะอาดเป็นประจำสำหรับกรณีหน้ากากผ้า) และแอลกอฮอล์เจลต่อหน่วยมีปริมาณที่จำกัด 

แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ จะทำการคุมราคาสินค้า รวมถึงจำกัดการส่งออกสินค้า เพื่อให้ปริมาณสินค้าภายในประเทศมีเพียงพอ และไม่มีการขายเกินราคาที่เหมาะสม3 หากแต่ในทางปฏิบัติ การขาดการดำเนินการเชิงรุก และการบังคับใช้บทลงโทษจริงยังเกิดขึ้นไม่มากนัก ส่งผลให้หน้ากากอนามัยกลายเป็นสินค้าขาดตลาด หาซื้อได้ยาก และมีราคาสูงอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง4 โดยหน้ากากอนามัยพบว่ามีการซื้อขายในราคาสูงกว่าเดิมไม่น้อยกว่า 1-2 เท่าจากราคาปกติ5 ในขณะเดียวกันก็พบว่า บุคลากรทางการแพทย์มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อโรคที่จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลขนาดเล็ก6 

ขณะเดียวกัน ความจำเป็นในการปิดเมือง ด้วยรูปแบบของการปิดสถานที่ จำกัดเวลาเข้า-ออกสถานที่ หรือการรณรงค์ลดการเดินทางออกจากบ้าน ก็ได้ก่อให้เกิดความต้องการในการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับการปิดเมืองของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมา คือ สินค้าอุปโภคบริโภคมีไม่เพียงพอ เกิดการแก่งแย่งสินค้าระหว่างประชาชน รวมไปถึงความหนาแน่นของประชาชนที่มารอซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีกลุ่มคนที่แสวงหาประโยชน์จากวิกฤตการณ์ โดยการแสวงหากำไรจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค ตัวอย่างเช่น กรณีการแย่งซื้อข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กระดาษชำระ น้ำดื่ม น้ำตาล น้ำมันพืช จนสินค้าหมดตลาด7 กรณีประชาชนแย่งกันซื้อหน้ากากอนามัยที่กระทรวงพาณิชย์จัดสรรให้ ซึ่งทำให้เกิดการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นในสถานที่ปิด8 หรือกรณีขายไข่ไก่ราคาแพง ไปจนถึงการหลอกขายหน้ากากอนามัยโดยไม่มีการส่งมอบสินค้า9 เป็นต้น 

ปัญหาทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากมาตรการปิดเมือง และการขาดการจัดการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่เพียงแต่สร้างปัญหาการกักตุนสินค้าและเข้าไม่ถึงสินค้าจำเป็นอย่างทั่วถึง หากแต่ การบริหารจัดการที่ไม่ดี ยังเพิ่มความความเสี่ยงในการแพร่ระบาด เพราะทำให้เกิดการรวมตัวหนาแน่นภายในพื้นที่ปิดจากการแย่งซื้อสินค้า 

เมื่อพิจารณาหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และบทเรียนการรับมือของต่างประเทศ พบว่า แนวทางในการจัดการกับปัญหาการกักตุนสินค้าและปัญหาการขาดแคลนสินค้าในช่วงวิกฤติ สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย 

ขั้นตอนที่หนึ่ง การกำหนดขอบเขต ชนิดและประเภทของสินค้าที่จะเข้ามาดูแล โดยภาครัฐสามารถที่จะเลือกเข้ามาดูแลสินค้าทุกประเภท หรือ เลือกเฉพาะกลุ่มสินค้าที่สำคัญบางประเภทเท่านั้น ตัวอย่างเช่น รัฐนิวเจอร์ซีย์ กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ขายที่ขายสินค้าและบริการสูงเกินกว่าร้อยละ 10 ของราคาสินค้าก่อนช่วงวิกฤติ เป็นกรณีของการที่ภาครัฐเข้ามาดูแลทุกประเภท ในขณะที่ รัฐฟลอริด้า กำหนดกลุ่มสินค้าที่ควบคุมราคา คือ สินค้าจำเป็นในครัวเรือน ค่าเช่า น้ำมัน เป็นต้น 

ขั้นตอนที่สอง การกำหนดรูปแบบในการเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาด มีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ คือ 1) การกำหนดเพดานราคา (รวมถึงการกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม) และ 2) การเข้ามาผลิตสินค้าบริการ หรือจัดหาสินค้าและบริการเองโดยภาครัฐ โดยในรูปแบบแรกนั้น จะส่งผลกระทบที่สำคัญ คือ ทำให้สินค้าขาดแคลน เนื่องจากระดับราคาที่ถูกกำหนดอยู่ต่ำกว่าดุลยภาพ และนำไปสู่ปัญหาการค้าขายกันในตลาดมืด นั่นคือ ปัญหาการขาดแคลนสินค้าและการกักตุนสินค้าอาจจะยังคงมีอยู่ในวงกว้าง และต้องพึ่งพาการตรวจตราจากภาครัฐในการจัดการกับการค้าขายเกินราคานอกตลาด รูปแบบที่สอง จะต้องอาศัยความสามารถของภาครัฐในการเข้ามาดำเนินการจัดการโดยตรงเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าและกระจายสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งการเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าไปในตลาดจะช่วยให้ปัญหาการขาดแคลนสินค้าบรรเทาลงได้อย่างมาก ทำให้ผู้คนและธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการกักตุนสินค้า จึงเป็นทางออกที่เหมาะสม ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญที่จะประสบความสำเร็จคือ ภาครัฐจะต้องมีความสามารถในการจัดการที่ดี มีความโปร่งใสในการทำงาน มิฉะนั้นก็อาจจะเกิดปัญหาการได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น รวมไปถึงกลไกการบริหารจัดการที่อาจจะไม่มีความเหมาะสม เกิดเป็นต้นทุนกับผู้ที่เดือดร้อนอยู่แล้วมากขึ้นไปอีก 

ในการนี้ เพื่อให้เกิดการกระจายสินค้าจำเป็นและการเข้าถึงสินค้าจำเป็นอย่างทั่วถึง บทความชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 

1. การบังคับใช้การคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ จะต้องมีการบังคับใช้จริง และมีบทลงโทษอย่างสมเหตุสมผลโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสแสวงหากำไรในช่วงวิกฤตการณ์ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการดำเนินงานเชิงรุก และเปิดช่องทางสำหรับให้ประชาชนร้องเรียนกรณีที่เกิดการพบเจอ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายต่อไป 

2. การรายงานข่าว หรือให้ข้อมูล ทั้งภาครัฐและสื่อต่างๆ จะต้องไม่สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ไม่ควรรายงานข่าวหรือให้ข้อมูลที่ถูกเติมแต่งจนเกินจริง และหากเป็นกรณีที่เกิดความรุนแรงมาก ภาครัฐจำเป็นจะต้องมีกลไกรองรับความตื่นตระหนกของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การแย่งชิงและกักตุนสินค้า 

3. หน่วยงานภาครัฐควรมีกลไกรองรับความต้องการสินค้าจำเป็นที่จะขยายตัวสูงขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ โดยหน่วยงานภาครัฐควรประสานงานขอความร่วมมือ หรือจัดทำข้อตกลงกับภาคธุรกิจ ในการควบคุมการกระจายสินค้าจำเป็นและการเข้าถึงสินค้าจำเป็นให้เกิดความทั่วถึง ไม่มีการกักตุนสินค้าเกิดขึ้น โดยอาจอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาเพดานสินค้าจำเป็นบางประเภทที่ไม่สามารถผลิตได้มากเท่าความต้องการของประชาชน 

4. เพื่อรองรับกรณีประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือไม่สามารถเข้าถึงช่องทางจำหน่ายสินค้าได้อย่างสะดวก ภาครัฐควรใช้ช่องทางออนไลน์อย่างพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ในการสนับสนุนให้เกิดการกระจายสินค้าจำเป็นและการเข้าถึงสินค้าจำเป็นแก่ประชาชนกลุ่มนี้ ซึ่งภาครัฐอาจเข้ามามีส่วนในการดำเนินการด้วยตนเอง หรืออาจร่วมมือกับภาคเอกชน 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1 https://www.accuweather.com/en/weather-news/the-history-of-price-gouging-amid-us-disasters-and-how-different-states-fight-against-it/344793 

2 https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/info.php 

3 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/053/T_0008.PDF 

4 https://www.matichon.co.th/economy/news_2494566 

5 โวยร้านค้าโก่งราคาหน้ากากอนามัย ช่วงที่มีข่าวโควิด-19 ระบาดหนัก; https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1992204 

6 บุคลากรการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มรายวัน เหตุขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน; https://www.hfocus.org/content/2020/04/18981 

7 ผวาโควิด-19 ระบาดหนัก คนแห่เข้าห้างตุนสินค้า ถึงขนาดรถเข็นไม่พอ; https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1795696 

8 ประชาชนต่อคิวซื้อหน้ากากอนามัย ที่พาณิชย์กระจายให้ค้าปลีก วูบเดียวหมด; https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1797053 

9 อ่างทองจับไข่แพง แถมขาดตลาด รวบกะเทยตุ๋น ขายแมสก์ 30 ล้าน; https://www.thairath.co.th/news/local/1806134 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI 
14 กุมภาพันธ์ 2563