ปัญหาข่าวปลอมและขบวนการหลอกลวงในช่วงวิกฤตโควิด-19

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายสู่ผู้รับสารได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการผลิตข่าวสารและเผยแพร่ยังสามารถดำเนินการได้โดยประชาชนทั่วไปด้วยช่องทางออนไลน์ แทนการถูกผูกขาดโดยวิชาชีพด้านข่าวสารในยุคก่อน สิ่งนี้ได้เป็นผลให้สังคม ณ ปัจจุบัน ดำเนินอยู่ภายใต้สภาวะการไหลผ่านของข้อมูลที่มีความรวดเร็ว มีปริมาณมาก และถูกผลิตขึ้นโดยบุคคลใดก็ได้ที่เข้าถึงช่องทางออนไลน์ ซึ่งนำไปสู่การก่อตัวขึ้นและขยายตัวของข่าวปลอมและขบวนการหลอกลวงในท้ายที่สุด 

ความกังวลใจและความไม่แน่นอนจากปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ได้สร้างความตื่นตระหนกขึ้นในประชาชนหมู่มาก ในการนี้ ช่วงเริ่มแรกของการระบาด หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้คำแนะนำ อาทิเช่น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) หรือกระทรวงสาธารณสุขของไทย ก็ไม่สามารถให้คำตอบหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนนัก (เช่น การใส่หน้ากาก การรักษาระยะห่าง หรือคุณลักษณะการแพร่กระจายและความอันตราย)1 

ภายใต้ความไม่ชัดเจนเรื่องแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมจากหน่วยงานที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และคุณลักษณะของสื่อออนไลน์ที่บุคคลใดก็สามารถนำเสนอข้อมูลต่างๆ ได้ เป็นผลให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องการรับมือต่อสภาวะการระบาดเต็มไปด้วยข้อมูลแนวทางที่หลากหลายซึ่งสร้างความสับสนและไม่ชัดเจน และปัญหาที่ได้เกิดขึ้นก็มิได้เป็นเพียงปัญหาในไทย หากแต่เป็นปัญหาใหญ่ลุกลามทั่วโลก 

ข่าวปลอมที่ปรากฏในไทยโดยทั่วไปมักปรากฏใน 2 ลักษณะ คือ 1) ในช่วงแรกเริ่มของการระบาด จะเป็นข่าวปลอมเรื่องพื้นที่แพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ และ 2) ข่าวปลอมเรื่องอาการของการติดเชื้อและแนวทางในการรักษา 

กรณีแรก ข่าวปลอมเรื่องพื้นที่แพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อนั้น เป็นผลอันเกิดจากความไม่ชัดเจนในมาตรการควบคุมโรคและการประชาสัมพันธ์โดยหน่วยงานภาครัฐ มาตรการรองรับ เช่น การกักตัวจากต่างประเทศ การตรวจวัดอุณหภูมิ หรือการบริหารจัดการชาวต่างชาติ รวมถึงขณะนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) และรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการปล่อยข่าวลือบนช่องทางออนไลน์ต่างๆ ว่าในพื้นที่หนึ่งๆ ได้มีผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่2 

ผลจากข่าวปลอมเรื่องพื้นที่การระบาดแม้ว่าด้านหนึ่งจะกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเกิดการระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้สร้างให้เกิดความหวาดระแวงต่อพื้นที่นั้นๆ และส่งผลให้เกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน 

กรณีที่สอง ข่าวปลอมเรื่องอาการของการติดเชื้อและแนวทางในการรักษานั้น เนื่องจากในช่วงแรกเริ่ม คุณลักษณะของโควิด-19 ยังไม่มีความชัดเจนในทางการแพทย์นัก ส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และเหมารวมอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ3 ไปจนถึงความกังวลใจเรื่องการเสียชีวิตหากติดเชื้อ4 

ภายใต้ความตื่นตระหนกและความกังวลใจต่อความไม่ชัดเจนเรื่องอาการ ความอันตราย และแนวทางการรักษา ก็ได้ส่งผลให้เกิดการผลิตและส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเรื่องแนวทางในการป้องกันหรือรักษาโรคขึ้น อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับพ่นปากและลำคอสามารถฆ่าเชื้อได้5 หรือการดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือเพื่อฆ่าเชื้อ6 เป็นต้น 

ผลจากข่าวปลอมเรื่องแนวทางการรักษาได้นำไปสู่การสร้างความเชื่อในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการระบาดที่ผิด ซึ่งในบางกรณีอาจก่อให้เกิดอันตรายหากปฏิบัติตามขึ้นได้ 

ไม่เพียงแค่นี้ ในสถานการณ์การระบาด นอกจากข่าวปลอมแล้ว การขยายตัวของช่องทางสื่อออนไลน์ยังได้ก่อให้เกิดปัญหาขบวนการหลอกลวง โดยอาศัยความตื่นตระหนกของประชาชนเป็นช่องทางในการดำเนินการ 

ปัญหาสำคัญที่ได้เกิดขึ้นหลังการระบาด คือ การขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งเกิดกรณีการกักตุนหน้ากากอนามัยเพื่อแสวงหากำไร และนำไปสู่ปัญหาการฉ้อโกงเรื่องการซื้อ-ขายหน้ากากอนามัยโดยไม่มีการส่งมอบสินค้าเกิดขึ้น7 ทั้งยังเกิดกรณีการทำธุรกิจไร้จริยธรรม โดยการนำหน้ากากอนามัยที่ใช้งานแล้วมาบรรจุขายใหม่ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางสุขอนามัย8 ไปจนถึงการปล่อยข่าวลือเรื่องอันตรายจากการซื้อ-ขายหน้ากากอนามัยที่มีการป้ายยาเพื่อปล้นทรัพย์9 

นอกจากนี้ มิจฉาชีพจำนวนมากยังฉวยโอกาสแสวงหาประโยชน์จากความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยดำเนินการในรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น สวมรอยเป็นธนาคาร ปลอมแปลงเว็บไซต์ธนาคาร บริการฉีดยาฆ่าเชื้อ หรือแอบอ้างเป็นแพทย์ ไปจนถึงการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาตรวจสอบการลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่10 

จากกรณีตัวอย่างที่ได้ยกไว้ข้างต้น จะพบว่า ความไม่ชัดเจนด้านข้อมูลข่าวสารจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาข่าวปลอม และการหลอกลวงโดยมิจฉาชีพที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านสุขภาวะ เช่น การปฏิบัติตนที่ไม่เหมาะสม การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม หรือความหวาดระแวงต่อความเสี่ยง ซึ่งเป็นผลเสียทั้งเชิงกายภาพและเชิงจิตใจ รวมไปถึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม จากปัญหามิจฉาชีพต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐได้ เพราะประชาชนไม่มั่นใจว่า เป็นแนวทางปฏิบัติจากภาครัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐจริงหรือไม่ 

ด้วยเหตุดังนี้ ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และสร้างกลไกป้องกันข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง  

โดยในต่างประเทศ สำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถืออย่าง AFP ได้มีการจัดทำเว็บไซต์ “AFP Fact Check” (https://factcheck.afp.com/) เพื่อใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารต่างๆ ครอบคลุมทั่วโลก 

ขณะเดียวกัน จากปัญหาข่าวปลอมที่แพร่กระจาย ในไทยนั้น ภาครัฐได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) (https://www.antifakenewscenter.com) เพื่อช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารต่างๆ ที่มีการเผยแพร่หรือส่งต่อผ่านช่องทางออนไลน์เกิดขึ้นแล้ว 

ในส่วนนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้ บทความชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 

1. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะต้องรายงานข้อมูลข่าวสาร และช่วยตรวจสอบความถูกต้องอย่างชัดเจน ถูกต้อง และเป็นกลาง มุ่งเน้นวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ โดยไม่มีนัยอื่นแอบแฝง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นที่พึ่งในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลดังกล่าว 

2. ภาครัฐจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการเข้าถึงศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแก่ประชาชน รวมถึงจะต้องมีการออกแบบเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนสามารถใช้งานตรวจสอบหรือค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้โดยง่ายและรวดเร็ว 

3. ภาครัฐจะต้องมีการดำเนินการเชิงรุก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากมิจฉาชีพ โดยมีการดำเนินการจับกุมหรือลงโทษเชิงรุก แก่กรณีการแสวงหาประโยชน์จากการแพร่ระบาด เช่น การกักตุนหน้ากากอนามัย การขึ้นราคาหน้ากากอนามัย การนำหน้ากากอนามัยใช้แล้วมาขายซ้ำ รวมถึงกลุ่มมิจฉาชีพที่ดำเนินการ เช่น การสร้างเว็บไซต์ธนาคารปลอม หรือการแอบอ้างต่างๆ 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1 ตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกเริ่มของการระบาด WHO มิได้รณรงค์ให้เกิดการใส่หน้ากากแต่อย่างใด และได้ทำการเปลี่ยนแปลงคำแนะนำภายหลัง หรือกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้แสดงความเห็นแก่สื่อสาธารณะ ว่าโควิด-19 ไม่ใช่โรคร้ายแรง เป็นต้น; https://www.thairath.co.th/news/foreign/1810394; https://www.thairath.co.th/news/foreign/1812463; https://www.matichon.co.th/politics/news_2473021  

2 ตัวอย่างเช่น พบผู้ป่วยชาวจีนติดเชื้อไวรัสโคโรนา รักษาตัวที่ รพ. ราชธานี จ.พระนครศรีอยุธยา ข่าวปลอมสร้างความปั่นป่วน​ หยุดแชร์!; https://www.antifakenewscenter.com/พบผู้ป่วยชาวจีนติดเชื้/ 

3 ตัวอย่างเช่น ความร้ายแรงของไข้หวัดใหญ่สายใหม่ “ไวรัสโคโรนา” มีวิธีป้องกันคือ ต้องรักษาความชุ่มชื้นของเยื่อเมือกลำคอ อย่าให้ลำคอแห้งโดยเด็ดขาด ข่าวปลอม อย่าแชร์; https://www.antifakenewscenter.com/ความร้ายแรงของไข้หวัดใ/ 

4 ตัวอย่างเช่น ข่าวปลอม อย่าแชร์! ติดเชื้อไวรัสโคโรนาทำให้เสียชีวิตทุกรายในเวลาอันสั้น; https://www.antifakenewscenter.com/ข่าวปลอม-อย่าแชร์-ติดเช/ 

5 https://siamrath.co.th/n/207779 

6 https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000000016 

7 https://news.thaipbs.or.th/content/291246 

8 https://www.thairath.co.th/scoop/1784648 

9 https://mgronline.com/crime/detail/9630000028276 

10 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/881025 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

(*ชื่อบทความเดิม: ปัญหาข่าวปลอมและขบวนการหลอกลวง)

โดย คณะวิจัย TDRI
28 กุมภาพันธ์ 2563