tdri logo
tdri logo
20 กุมภาพันธ์ 2020
Read in Minutes

Views

แรงงานนอกระบบ อาชีพเล่นดนตรีเปิดหมวก

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์

แรงงานนอกระบบมีความเสี่ยงต่อความผันผวนของรายได้สูงกว่าแรงงานในระบบที่มักมีรายได้เป็นเงินเดือน ทำให้แรงงานนอกระบบมีความเสี่ยงต่อความยากจน แรงงานนอกระบบมีความหลากหลายค่อนข้างสูง การทำความเข้าใจแรงงานนอกระบบจำเป็นต้องเจาะลึกเป็นกลุ่ม พื้นที่ หรืออาชีพ

“อาชีพเล่นดนตรีเปิดหมวก” เป็นแรงงานนอกระบบอาชีพหนึ่งที่มีทั้งความเสี่ยงต่อความยากจนและขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะสร้างชื่อเสียงได้รวดเร็ว ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นดนตรีมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ข้อเด่นของอาชีพเล่นดนตรีเปิดหมวกคือ เสรีภาพในการประกอบอาชีพตราบเท่าที่ไม่สร้างความรำคาญให้กับสังคม และมีการลงทุนที่ต่ำทำให้สามารถประกอบอาชีพนี้เมื่อไรก็ได้ ด้วยคุณลักษณะนี้ทำให้นักดนตรีเปิดหมวกมีความหลากหลายตั้งแต่ความสามารถในการเล่นดนตรีสูงใกล้เคียงระดับมืออาชีพ จนถึงความสามารถต่ำขนาดร้องเพลงไม่เพราะ แต่ใช้วิธีการเปิดเทปเพลงเพื่อเปิดหมวก รวมถึงเครื่องมือในการประกอบอาชีพมีตั้งแต่หรูหรา ราคาแพง จนถึงราคาถูก ไม่กี่สิบบาท

การสำรวจแรงงานนอกระบบในโครงการสนับสนุนทางวิชาการและการจัดการความรู้แผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เลือกกรณีศึกษาแรงงานนอกระบบอาชีพเล่นดนตรีเปิดหมวก โดยให้ความสนใจกลุ่มที่มีความเปราะบางทางสังคม เนื่องจาก ประชากรเฉพาะกลุ่มนี้มีความเสียเปรียบเมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ความเปราะบางทางสังคมอาจมีผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต ดังนั้น การสำรวจจึงมีเป้าหมายในการค้นหาปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบที่เปราะบางกลุ่มนี้ รวมถึงการเสนอแนะแนวนโยบายที่เหมาะสมสำหรับแรงงานกลุ่มนี้

การศึกษาได้ทำการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามกับแรงงานนอกระบบที่มาเล่นดนตรีเปิดหมวกวันที่ 6-8 ธันวาคม 2562 ภายในบริเวณงานเทศกาลไหมนานาชาติ จังหวัดขอนแก่น ที่จัดในช่วงวันที่ 29 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2562 นักวิจัยได้ทำการสัมภาษณ์ผู้เล่นดนตรีเปิดหมวกทุกคนที่ออกมาทำงานในบริเวณงานในช่วงวันที่สัมภาษณ์ ผู้ร้องเพลงเปิดหมวกมีทั้งหมด 10 ราย โดยทุกคนรับทราบเกี่ยวกับการวิจัยและสมัครใจให้สัมภาษณ์ ต่อไปนี้เป็นผลการสัมภาษณ์แรงงานทั้ง 10 คน โดยชื่อที่ใช้ต่อไปนี้เป็นชื่อสมมติ

1. นางบุญยืนกับน้องชายตาบอด

นางบุญยืน อายุ 83 ปี เดินทางจากอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ นางบุญยืนพาน้องชายที่ตาบอดทั้งสองข้างมางานไหมด้วยการโดยสารรถประจำทาง ทั้งนางบุญยืนและน้องชายไม่เคยได้รับการศึกษา น้องชายเป็นผู้เล่นดนตรีซึ่งเป็นพิณเก่ามาก ส่วนนางบุญยืนใช้ข้องใส่ปลาเป็นอุปกรณ์เพื่อใส่เงิน

ป็นไข้หวัด นางบุญยืนรักษาการเจ็บป่วยโดยการใช้สิทธิสวัสดิการบัตรทอง นางบุญยืนเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่ไม่มียาประจำตัว เมื่อมีอาการป่วยจะไปหาหมอที่โรงพยาบาลแถวบ้านที่ตนเองเคยใช้สิทธิบัตรทอง เวลาไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดแล้วรู้สึกไม่สบาย นางบุญยืนจะใช้การนั่งพักให้รู้สึกดีขึ้น นอกจากการไปพบแพทย์ด้วยโรคประจำตัวแล้ว นางบุญยืนไม่เคยไปโรงพยาบาลเพื่อรับบริการส่งเสริมสุขภาพ นางบุญยืนคิดว่าไม่รู้จะไปโรงพยาบาลทำไม เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเป็นไข้หรือปวดหัว จะปล่อยให้หายเอง ถ้าเวลาผ่านไปนานแล้วยังไม่ดีขึ้นจะเลือกไปรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

ปัจจุบันนางบุญยืนมีสิทธิสวัสดิการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นางบุญยืนไม่คิดว่าการมาเล่นดนตรีเปิดหมวกเป็นอาชีพ คิดว่าตนเองไม่สามารถจะไปประกอบอาชีพอื่นใดได้ เพราะขาดปัจจัย ทั้งที่ดินและเงินทุนที่จะไปทำมาหากิน รวมถึงไม่มีการศึกษา เมื่อประสบกับปัญหาเงินไม่พอใช้ก็เลือกที่จะพาน้องชายมาเล่นดนตรีเปิดหมวก

เมื่อก่อนที่นางบุญยืนยังแข็งแรงอยู่ นางบุญยืนเคยรับจ้างทำนา พอแก่ตัวลงไม่สามารถทำงานได้เหมือนแต่ก่อนจึงไม่มีคนจ้าง รายได้หลักในปัจจุบันมาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ลูกหลานเคยให้เงินบ้าง ตอนนี้มีรายได้เสริมจากการที่น้องชายเล่นดนตรีเปิดหมวก นางบุญยืนอาศัยอยู่บ้านที่จังหวัดสุรินทร์กับน้องชายเพียงสองคน ไม่มีลูกหลานดูแลประจำ นางบุญยืนไม่มีหนี้สิน แต่รายได้ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย นางบุญยืนไม่ชอบการทำอาชีพนี้ รายได้ในงานไหมประมาณ 200-400 บาทต่อวัน นางบุญยืนคิดว่าทุกวันนี้มีความพึงพอใจในชีวิต 5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

2. นางบัวกับหลานสาว

นางบัวอายุ 65 ปี อาศัยอยู่กับหลานที่อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ นางบัวตาบอดทั้งสองข้าง ได้เดินทางมาที่งานไหมกับหลานสาว นางบัวมาร้องเพลงเปิดหมวก ส่วนหลานสาวเดินขายพวงกุญแจ

นางบัวไม่เคยได้รับการศึกษา จึงไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไรดี คิดว่าการที่ตนตาบอดเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ตนเองขาดทั้งโอกาสและทุนที่จะไปประกอบอาชีพเหมือนคนปกติทั่วไป เครื่องมือที่นางบัวมีประกอบด้วยไมโครโฟนและลำโพงสำหรับเปิดเพลง และกระป๋องพลาสติกสำหรับใส่เงิน ถ้าไม่ออกมาร้องเพลงนางบัวจะอยู่บ้านเฉย ๆ มีรายได้จากเงินที่ลูกหลานให้ การร้องเพลงเปิดหมวกเป็นรายได้เสริมจากการขอเงินลูกหลานและการรับเบี้ยคนพิการ

นางบัวบอกว่าไม่มีโรคประจำตัวและมีสวัสดิการรักษาพยาบาลประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) นางบัวเคยใช้สิทธิในการรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไปและเคยใช้บริการส่งเสริมสุขภาพ โดยรับบริการคัดกรองเบาหวานที่ รพ.สต. การเจ็บป่วยครั้งล่าสุดมีอาการป่วยเป็นไข้ รักษาด้วยการซื้อยามาทานเอง ไม่ไปใช้สิทธิสวัสดิการรักษาสุขภาพที่ตนเองมี เพราะคิดว่าเป็นอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายเองประมาณ 200 บาท โดยปกติถ้ามีอาการเจ็บป่วยด้วยอาการปวดหัวหรือเป็นไข้ จะเลือกรักษาด้วยวิธีซื้อยามาทานเอง ถ้าผ่านไป 5 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นถึงจะไปรับการรักษาที่ รพ.สต. หรือโรงพยาบาล

นางบัวมักติดตามหลานไปในที่ต่าง ๆ เมื่อหลานออกไปขายของ นางบัวก็จะออกมาร้องเพลง รายได้หลักในปัจจุบันมาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ลูกหลานให้ และการออกมาร้องเพลง รายได้จากการร้องเพลงเปิดหมวกที่งานไหมประมาณ 500-700 บาทต่อวัน นางบัวไม่ชอบการออกมาร้องเพลงเปิดหมวกเพราะรายได้ไม่แน่นอนและรู้สึกเหนื่อย ถึงแม้จะไม่มีหนี้สินและรายได้ที่หามาได้ใช้จ่ายเพียงคนเดียว แต่รายได้ในปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย นางบัวประเมินชีวิตตนเองและคิดว่ามีความพึงพอใจในชีวิต 2 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

3. นายทำนอง (เสียงดี) กับภรรยา

นายทำนอง อายุ 43 ปี พิการตาบอดทั้งสองข้าง ไม่เคยได้รับการศึกษา เดินทางมาจากอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทราโดยรถประจำทางกับภรรยา บ้านที่นายทำนองอยู่อาศัยประกอบด้วยภรรยา น้องสะใภ้ และลูกอีก 2 คน ภรรยาตั้งใจพานายทำนองมาร้องเพลงเปิดหมวกที่งานไหม โดยปกตินายทำนองจะร้องเพลงเปิดหมวกตามตลาดนัดแถวบ้าน นาน ๆ ครั้งจึงจะออกเดินทางมาตามงานประจำจังหวัดต่าง ๆ อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพมี ไมโครโฟน ลำโพง และกระป๋องพลาสติก 1 อัน

นายทำนองมีสวัสดิการรักษาพยาบาลประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) นายทำนองไม่มีโรคประจำตัวและไม่เคยรับบริการส่งเสริมสุขภาพ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย จะปล่อยให้หายเองเพราะหวาดกลัวการพบแพทย์ กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยยาวนานติดต่อกัน 5 วันขึ้นไป จึงจะเลือกไปพบแพทย์ที่ รพ.สต. โดยใช้สิทธิบัตรทอง นายทำนองมีเพียงรายได้จากการร้องเพลงเปิดหมวกเท่านั้น ร้องเพลงเปิดหมวกมาตั้งแต่จำความได้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี นายทำนองรู้ซึ้งถึงความยากลำบากจากการหาเงิน แต่คิดว่าตนเองไม่มีโอกาสจะไปประกอบอาชีพอื่น นายทำนองมีห้องแถวที่เป็นสมบัติแบ่งกับญาติพี่น้อง ปัจจุบันภรรยาหารายได้จากห้องแถวนี้ แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ภรรยาเคยกู้เงินมาเพื่อลงทุนเปิดร้านเกมส์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดหนี้จากการลงทุนในครั้งนั้น และมีหนี้คงเหลือที่ต้องชำระประมาณ 180,000 บาท รายได้จากการร้องเพลงเปิดหมวกประมาณ 500-2,000 บาทต่อวัน ครอบครัวนายทำนองมีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

4. นางสาวโสภากับพี่สาว

นางสาวโสภา อายุ 57 ปี มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ได้เดินทางมาจากอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม กับพี่สาวที่ตาบอดทั้งสองข้างและพิการทางสมอง ทั้งสองพี่น้องเปิดเพลงแทนการเล่นดนตรี อุปกรณ์ในการใช้หาเงินประกอบไปด้วยลำโพงและแฟลชไดร์สำหรับเปิดเพลง นางสาวโสภาให้ข้อมูลว่าเดินทางมากันเองกับพี่สาวโดยรถประจำทาง (หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ นักวิจัยพบว่า มีคนดูแลวัยกลางคนมาด้วย 1 คน เป็นคนเดียวกับคนที่มารับ-ส่ง นางพรและสามี ที่จะกล่าวถึงในลำดับต่อไป)

นางสาวโสภามีสวัสดิการรักษาพยาบาลประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) นางสาวโสภาไม่มีโรคประจำตัวและไม่ค่อยมีการเจ็บป่วย ถ้ามีอาการเป็นไข้หรือปวดหัวก็จะปล่อยให้หายเอง กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยยาวนานถึง 5 วันก็จะเลือกไปซื้อยามารับประทานเอง ไม่ไปพบแพทย์เพราะคิดแต่เพียงว่าเดี๋ยวอาการเหล่านั้นก็จะหายไปเอง นางสาวโสภาไม่เคยใช้สิทธิสวัสดิการบัตรทอง เพราะไม่ชอบการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

นางสาวโสภาเริ่มประกอบอาชีพเปิดหมวกตั้งแต่อายุ 20 ปี รายได้ที่งานไหมประมาณ 100-1,000 บาทต่อวัน รายได้นี้ใช้กันสองคน พี่สาวได้รับเบี้ยคนพิการแต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย นางสาวโสภารู้สึกเหนื่อยที่ต้องมาทำอาชีพนี้ แต่ก็ไม่รู้จะต้องไปทำอะไรเพื่อให้สามารถหารายได้มาเลี้ยงดูตนเองและพี่สาวให้เพียงพอ นางสาวโสภาประเมินคะแนนความพึงพอใจในชีวิตเท่ากับ 1 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

5. นางพรและสามี

นางพร อายุ 63 ปี ตาบอดทั้งสองข้างมาตั้งแต่เกิด นางพรเดินทางมางานไหมกับสามีที่ตาบอดและพิการทางการเคลื่อนไหว สามีภรรยาคู่นี้ไม่เคยได้รับการศึกษา นางพรเป็นคนจังหวัดอุดรธานี ส่วนสามีเป็นคนจังหวัดมหาสารคาม ทั้งสองมีคนดูแล 1 คน เป็นผู้ไปรับมาจากบ้านที่จังหวัดมหาสารคาม (ไม่ระบุความสัมพันธ์กับผู้ดูแล แต่เป็นผู้ดูแลคนเดียวกับนางสาวโสภาและพี่สาว กรณีศึกษาที่ 4) โดยจ่ายค่าน้ำมันให้แก่ผู้ดูแล นางพรและสามีพักที่ห้องเช่าและออกมาร้องเพลงเปิดหมวกในช่วงตอนเย็น อุปกรณ์ในการมาร้องเพลงเปิดหมวกประกอบด้วยพิณ ไมโครโฟน และกล่องพลาสติกสำหรับใส่เงิน

นางพรมีสวัสดิการรักษาพยาบาลประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) การเจ็บป่วยครั้งล่าสุดใน 1 เดือนที่ผ่านมา มีการติดเชื้อในกระแสเลือดและไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอุดรธานี นางพรมีโรคประจำตัว คือ โรคปลายประสาทอักเสบ ต้องไปรับการรักษาเป็นประจำ โดยปกติเมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้หรือปวดหัวจะซื้อยามาทานเอง ถ้าผ่านไป 5 วันแล้วยังไม่หายจะไปรับการรักษาที่คลินิกใกล้บ้านก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นจึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล การรับบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว นางพรจะพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือมีอาการจากโรคประจำตัวเท่านั้น

ในปัจจุบันนางพรมีรายได้จากเบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงอายุ และร้องเพลงเปิดหมวก รายได้ที่งานไหมประมาณ 400-1,000 บาทต่อวัน ก่อนที่จะมาร้องเพลงเปิดหมวกที่งานไหม จังหวัดขอนแก่น นางพรได้ร้องเพลงเปิดหมวกที่งานงิ้ว จังหวัดมหาสารคามมาก่อน และต่อจากงานไหม จะเดินทางไปตามงานประจำจังหวัดเรื่อย ๆ ถ้าช่วงไหนที่ไม่มีงานประจำจังหวัดก็จะเลือกร้องเพลงเปิดหมวกที่ตลาดคลองถม (ไม่ระบุจังหวัด) หรือตลาดนัดทั่วไป เนื่องจากทั้งนางพรและสามีตาบอดทั้งคู่จึงไม่สามารถนับเงินได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลที่มารับ-ส่งเป็นคนนับและบอกจำนวนเงินให้ทราบในแต่ละวัน นางพรประเมินว่าตนมีความพึงพอใจในชีวิต 5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

6. นายบุญสมกับน้องสาว และหลานสาว

นายบุญสม อายุ 53  ปี พิการตาบอดทั้งสองข้างตั้งแต่เกิด นายบุญสมเดินทางมาจากอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันอาศัยอยู่กับน้องสาว น้องเขย และหลาน นายบุญสมร้องเพลงเปิดหมวกตั้งแต่ยังเด็ก นายบุญสมไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ จึงไม่รู้ว่าจะหาเงินด้วยวิธีไหนดี นายบุญสมเป็นคนชอบร้องเพลง อุปกรณ์ในการร้องเพลงเปิดหมวกประกอบด้วยไมโครโฟน ลำโพง เครื่องเสียง และกล่องพลาสติก

นายบุญสมมีสวัสดิการรักษาพยาบาลประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เคยใช้สิทธิสวัสดิการของตนเองในด้านการรักษาพยาบาลทั่วไปและโรคประจำตัว นายบุญสมมีโรคประจำตัว คือ โรคไต ทำให้ต้องเข้ารักษาตัวอยู่เสมอ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 4 ครั้ง มีการรับบริการส่งเสริมสุขภาพด้านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคจาก รพ.สต. นายบุญสมมักไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บป่วย

นายบุญสมเดินทางมาที่งานไหม จังหวัดขอนแก่น โดยรถประจำทางกับน้องสาวและหลานสาว ตั้งใจมาเพื่อมาร้องเพลงเปิดหมวก รายได้ปัจจุบันมาจากเบี้ยคนพิการและร้องเพลงเปิดหมวก แต่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย นายบุญสมมีหนี้สินคงค้างประมาณ 40,000 บาท หนี้สินนี้เกิดจากการกู้ยืมมาให้น้องสาวลงทุนทำนา รายได้จากการร้องเพลงเปิดหมวกที่งานไหมประมาณ 100-1,000 บาทต่อวัน นายบุญสมประเมินคะแนนความพึงพอใจในชีวิตเท่ากับ 8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

7. นายเสมากับน้องสาว (เสียงดี)

นายเสมา อายุ 37 ปี ตาบอดทั้งสองข้าง นายเสมาเดินทางมาจากอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ นายเสมาเดินทางมากับน้องสาวซึ่งมาเปิดร้านขายของในงานไหม อุปกรณ์ที่นายเสมาใช้ในการเล่นดนตรีเปิดหมวกประกอบไปด้วยพิณ เครื่องเสียง และกล่องสำหรับใส่เงิน

นายเสมามีสวัสดิการรักษาพยาบาลประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แต่แทบจะไม่เคยไปใช้สิทธิของตนเองเพราะไม่มีโรคประจำตัว และไม่เคยรับบริการส่งเสริมสุขภาพ เมื่อมีอาการเป็นไข้หรือปวดหัวก็จะซื้อยาทานเองเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็หาย เนื่องจากพิการทางการมองเห็น การจะไปรับบริการทางด้านสุขภาพก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้ดูแลพาไป การดูแลรักษาสุขภาพตนเองดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งจำเป็นที่นายเสมาทำได้มากกว่าการไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล

หลังจากนายเสมาจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายด้านดนตรี ได้ประกอบอาชีพเป็นครูสอนดนตรีที่มหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยเลิกจ้างจึงไม่มีอาชีพ ปัจจุบันนายเสมาอาศัยอยู่กับครอบครัวของน้องสาว ซึ่งมีอาชีพค้าขาย ทุกครั้งที่น้องสาวออกไปค้าขายก็จะอาศัยติดรถออกไปเล่นดนตรีหาเงินด้วย นายเสมารู้สึกไม่ชอบการออกมาเล่นดนตรีหาเงิน แต่ชอบการสอนดนตรีเป็นอาชีพมากกว่า

ปัจจุบันนายเสมามีรายได้จากเบี้ยคนพิการและจากการเล่นดนตรีเปิดหมวก รวมถึงมีสวัสดิการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นายเสมามีหนี้สินคงค้างที่ต้องชำระจากการไปกู้เงินมาลงทุนขายลอตเตอรี่ประมาณ 13,000 บาท รายได้จากการร้องเพลงเปิดหมวกที่งานไหมประมาณ 700-1,000 บาทต่อวัน นายเสมาไม่เข้าใจคำถามเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต

8. นายประทีป นักกีฬาผู้พิการทีมชาติ

นายประทีป อายุ 25 ปี ตาบอดทั้งสองข้าง นายประทีปเป็นนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย พื้นเพเดิมเป็นคน กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการกีฬา แต่ได้ย้ายมาอาศัยที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น นายประทีปได้รับคัดเลือกเป็นนักกีฬาฟุตบอลคนพิการทีมชาติไทย เมื่อเว้นว่างจากการแข่งกีฬาจะมาร้องเพลงเปิดหมวกเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงดูแลตนเอง นายประทีปเคยอยู่วงดนตรีของผู้พิการ จึงเลือกความมาประกอบอาชีพหารายได้เสริม นายประทีปบอกว่าชอบและมีความสุขและสนุกกับการมาร้องเพลงเปิดหมวกมาก ทำให้ได้เที่ยวในที่ใหม่ ก่อนที่จะมาที่งานไหม จังหวัดขอนแก่น นายประทีปได้ไปที่งานงิ้ว จังหวัดมหาสารคาม นายประทีปร้องเพลงเปิดหมวกมาเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ทำอาชีพนี้ตลอด ช่วงไหนที่มีการแข่งขันกีฬาก็จะไม่ได้มาร้องเพลงเปิดหมวก

เนื่องจากนายประทีปเป็นนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ทำให้มีสวัสดิการรักษาพยาบาลประกอบด้วยสวัสดิการรักษาพยาบาลประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และสิทธิรักษาพยาบาลของการประกันสังคม เนื่องจากนายประทีปเป็นลูกจ้างประเภทคนพิการกับบริษัทด้านโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง นายประทีปค่อนข้างมีความรู้ในด้านสวัสดิการที่ตนได้รับเป็นอย่างดี เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยนายประทีปจะไปรับการรักษาจากแพทย์เสมอ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาเคยได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีโดยสิทธิสวัสดิการประกันสังคม ปัจจุบันไม่โรคประจำตัว และมีการดูแลสุขภาพเป็นประจำจากสมาคมนักกีฬา

นายประทีปมีรายได้ทั้งจากการแข่งขันกีฬา การร้องเพลงเปิดหมวก และเบี้ยคนพิการ นายประทีปบอกว่ารายได้หลักมาจากการร้องเพลงเปิดหมวก รายได้ที่งานไหมประมาณ 500-3,000 บาทต่อวัน นายประทีปจ้างคนขับรถในการเดินทางมางานไหมและมีผู้ดูแลช่วยพาเดินหนึ่งคน โดยจ่ายเงิน 1,000 บาทสำหรับสองคนที่ช่วยกันพามา นายประทีปไม่มีหนี้สินและพักอาศัยอยู่กับเพื่อน ๆ คนพิการที่เคยร่วมวงดนตรีเดียวกัน นายประทีปคิดไม่ออกว่าควรจะทำอาชีพอะไรดีนอกเหนือไปจากที่ทำอยู่ นายประทีปมีคะแนนความพึงพอใจในชีวิต 8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

9. นายเข้มกับหลาน

นายเข้ม อายุ 83 ปี เดินทางมาจากอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมกับหลานสาว นายเข้มไม่เคยได้รับการศึกษา แต่ก่อนนายเข้มเคยประกอบอาชีพทำนา ทำสวน แต่เมื่อแก่ตัวลงไม่สามารถทำอาชีพเดิมได้อีก จึงออกมาเล่นดนตรีเปิดหมวก โดยมีหลานสาวเป็นคนดูแลพาออกจากบ้าน ปัจจุบันนายเข้มอาศัยอยู่กับหลานสองคน (ไม่ระบุว่าหลานประกอบอาชีพหรือไม่) นายเข้มบอกว่าได้ออกมาเล่นดนตรีเปิดหมวกประมาณ 1 ปีแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้การประกอบอาชีพมีฉิ่งกับแก้วพลาสติกใส่เงิน

นายเข้มมีสวัสดิการรักษาพยาบาลประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ไม่มีโรคประจำตัว และไม่ค่อยไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วยเป็นไข้ นายเข้มไม่สะดวกในการเดินทางไปพบแพทย์ กรณีที่เจ็บป่วยเป็นระยะเวลานานติดต่อกันนายเข้มจะซื้อยาทานเอง นายเข้มไม่เคยรับบริการส่งเสริมสุขภาพ

ความชราเป็นอุปสรรคกับนายเข้มในการทำมาหากิน วันใดที่ไม่ออกมาเล่นดนตรีนายเข้มจะอยู่บ้าน นายเข้มค่อนข้างเก็บตัวเห็นได้จากจุดที่นั่งเล่นดนตรีเป็นหัวมุมถนนที่เงียบไม่ได้อยู่กลางงานไหมเหมือนคนอื่น ๆ นายเข้มมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุและจากการเล่นดนตรีเปิดหมวก รายได้รวมทั้งหมดประมาณเดือนละ 2,000-2,800 บาท ไม่มีรายได้จากสิทธิสวัสดิการอื่น ๆ ของรัฐ ส่วนรายได้จากการเล่นดนตรีที่งานไหมประมาณ 100-200 บาทต่อวัน นายเข้มไม่มีหนี้สิน

นายเข้มไม่ชอบการออกมาเล่นดนตรีเปิดหมวกแบบนี้ นายเข้มให้คะแนนความพึงพอใจในชีวิต 3 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน นายเข้มกล่าวว่า “ชีวิตแบบนี้จะมีความสุขได้อย่างไร”

10. นายสุชาติ (เสียงดี)

นายสุชาติเป็นผู้มีร่างกายปกติ แต่กลับไม่เคยได้รับการศึกษา ปัจจุบันนายสุชาติมีอายุ 40 ปี บ้านอยู่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นดนตรีเปิดหมวกคือ โหวด และกล่องพลาสติกสำหรับใส่เงิน

นายสุชาติไม่รู้จักว่าสิทธิบัตรทองคืออะไร รู้เพียงว่าเวลาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในอำเภอท่าตะเกียบจะเสียค่ารักษาพยาบาลในราคาถูก จึงคิดว่าทางโรงพยาบาลเห็นว่าจนถึงช่วยค่ารักษา เวลาที่นายสุชาติเดินทางมาเป่าโหวดในต่างจังหวัดแล้วเกิดอาการเจ็บป่วยก็มักจะซื้อยามาทานเอง ไม่กล้าที่จะไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น ๆ เพราะกลัวจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพง นายสุชาติไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นอะไรแต่มักมีอาการไอเป็นเลือดอยู่เสมอ ใน 1 เดือนที่ผ่านมามีอาการไอเป็นเลือดแทบทุกวัน นายสุชาติซื้อยามาทานเองเพราะคิดว่าเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย

นายสุชาติเคยเป็นนักดนตรีในวงหมอลำที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ประมาณ 3-4 เดือนจึงจะมีงานสักครั้ง เมื่อออกจากวงหมอลำก็เริ่มเล่นดนตรีเปิดหมวกเมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้ว นายสุชาติเคยถูกโกงเงินประมาณ 15 ปีที่แล้ว (ไม่ให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดของการถูกโกง) นายสุชาติเดินทางไปตามงานประจำจังหวัดต่าง ๆ เพียงคนเดียว ก่อนที่จะมาที่งานไหม จังหวัดขอนแก่น ได้ไปเล่นดนตรีเปิดหมวกที่งานประจำจังหวัดมหาสารคาม และหลังจากงานขอนแก่น จะเดินทางไปงานจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีรายได้จากการเล่นดนตรีเปิดหมวกเพียงอย่างเดียว ไม่ได้รับสวัสดิการอื่นใดจากรัฐ รายได้ในงานไหมประมาณ 600-1,000 บาทต่อวัน นายสุชาติชอบการเล่นดนตรี นายสุชาติไม่เข้าใจคำถามเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต

บทสรุป

การสำรวจทำให้ทราบว่าผู้ที่มาเล่นดนตรีเปิดหมวกเกือบทั้งหมดมีความพิการตาบอดทั้งสองข้าง หรือสูงอายุจนทำงานไม่ได้ หรือเป็นผู้ดูแลคนพิการ มีเพียงกรณีเดียวที่เป็นคนอยู่ในวัยทำงานที่ไม่พิการ แต่แรงงานผู้นี้ไม่เคยได้รับการศึกษา อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สรุปได้ว่าความด้อยโอกาสและเปราะบางของกลุ่มนักดนตรีเปิดหมวกเหล่านี้เกิดจากความพิการและการขาดการศึกษา ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ไม่สามารถเยียวยาได้แล้วสำหรับคนรุ่นเหล่านี้

เมื่อพิการจนถึงขั้นที่ความสามารถในการออกจากบ้านถูกจำกัด ทำให้ทุกคนที่ออกมาประกอบอาชีพจะต้องมีผู้ดูแลมาด้วย ซึ่งผู้ดูแลส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้อง หรือคู่สมรส ส่วนผู้ดูแลที่ไม่ใช่ญาติจะต้องมีการว่าจ้าง ข้อจำกัดในการออกจากบ้านนี้ ทำให้ต้นทุนในการทำมาหากินสูงขึ้น และโอกาสในการไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วยลดลง ผู้พิการเกือบทั้งหมดไม่ไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย รอให้หายเอง หรือถ้าเป็นมากก็จะซื้อยาทานเอง เขาเหล่านั้นไม่เคยตรวจสุขภาพจึงคิดไปเองว่าตนเองไม่มีโรคประจำตัว ส่วนคนที่พบแล้วว่าตนเองมีโรคประจำตัว ก็จะไปพบแพทย์บ่อยกว่าคนอื่น

การขาดการศึกษามีส่วนอย่างมากในการจำกัดทางเลือกในการประกอบอาชีพ การเล่นดนตรีเปิดหมวกเป็นอาชีพที่เปิดเสรีแก่ทุกคน ทำให้แรงงานเหล่านี้สามารถใช้ทักษะที่มีอยู่ประกอบอาชีพได้ แต่รายได้มักผันผวน (100-3,000 บาทต่อวัน) และแรงงานเหล่านี้ต้องเดินทางบ่อยเพื่อไปตามจังหวัดต่าง ๆ ที่มีงาน นักดนตรีเปิดหมวก เช่น นายสุชาติที่ไม่มีการศึกษาและยากจน ต้องเดินทางไปที่ต่าง ๆ เพื่อเปิดหมวกหารายได้จนขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการแห่งรัฐเนื่องจากอยู่ไม่เป็นที่ ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่รู้จักว่าบัตรทองคืออะไร มีอาการเจ็บป่วยก็ไม่กล้าไปพบแพทย์

นักดนตรีเปิดหมวกเหล่านี้มักกล่าวว่า การเจ็บป่วยของตนเป็นเรื่องเล็กน้อยทำให้ไม่ไปพบแพทย์ แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ลึกแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะ stigma effect (ความรู้สึกย่ำแย่ ด้อยกว่าผู้อื่น) คือ นักดนตรีเหล่านี้ไม่ต้องการไปอยู่ในที่ที่มีคนมาก และคิดว่าตนเองเป็นส่วนที่คนหมู่มากนั้นอาจจะรังเกียจได้ สถานที่ที่นักดนตรีเหล่านี้อยู่ประจำคือในตลาด และต้องมีอุปกรณ์การเล่นดนตรีเป็นองค์ประกอบคู่ชีวิต แต่ถ้าไปโรงพยาบาล ต้องไปมือเปล่า ต้องเกรงว่าคนจะรังเกียจ หลบ ไม่อยากเข้าใกล้ และต้องเกรงว่าแพทย์จะคิดเงินแล้วไม่มีเงินจ่ายก็จะรู้สึกอับอายได้ ความเปราะบางทางสังคมของนักดนตรีเปิดหมวกทำให้จำกัดการเข้าถึงบริการสุขภาพ

นักวิจัยยังสังเกตเห็นว่า stigma effect เกิดขึ้นได้กับนักดนตรีที่ไม่พิการ นายเข้มที่อายุ 83 ปี พยายามหลบผู้คน ไปเปิดหมวกอยู่ในมุมเงียบ นายเข้มเป็นคนที่ตาไม่บอด จึงสามารถมองเห็นปฏิกิริยาของผู้อื่นต่อตนเอง ในขณะที่นักดนตรีตาบอดทุกคน จะถูกพาไปนั่งในสี่แยก ตรงจุดที่มีคนพลุกพล่านที่สุด นักดนตรีตาบอดไม่ทราบว่ามีคนจำนวนมากน้อยเพียงใด มีใครมองเขาและมีปฏิกิริยาต่อพวกเขาอย่างไร นักดนตรีตาบอดอยู่ในจุดพลุกพล่านทำให้ได้เงินรายได้มากกว่า นายเข้มนั่งในมุมเงียบจึงมีรายได้อย่างมากสุดเพียง 200 บาทต่อวัน นอกจากนี้ นักดนตรีเกือบทั้งหมดบอกว่าไม่ชอบมาร้องเพลงเปิดหมวก พวกเขาทำเพราะไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ ความพึงพอใจในชีวิตของคนเหล่านี้ค่อนข้างต่ำ

อย่างไรก็ดี มีข้อพึงสังเกตเกี่ยวกับการประเมินความพึงพอใจในชีวิตของนักดนตรีเปิดหมวดทุกคน การตีความส่วนนี้จึงต้องระมัดระวังบ้าง กล่าวคือ เมื่อนักวิจัยให้ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนประเมินความพึงพอใจในชีวิตของตนเอง โดยบอกว่า 1 หมายถึง ต่ำสุด และ 10 หมายถึงสูงที่สุด ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่า 10 คะแนนนี้ได้อีกแล้ว ผลคือ ผู้ถูกสัมภาษณ์เกือบทั้งหมดไม่เคยเรียนหนังสือ ไม่เข้าใจตรรกะของตัวเลข และการเรียงลำดับ การพยายามสื่อสารของนักวิจัยกับผู้ให้สัมภาษณ์จึงอาจจะมีความเข้าใจระหว่างกันที่คลาดเคลื่อนบ้าง

เรามักมีนโยบายในการช่วยเหลือคนจน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่เรามักจะประสบปัญหาในการตามหาคนจนแท้จริง นักดนตรีเปิดหมวกผู้เปราะบางทางสังคมนั่งทำงานอยู่กลางสี่แยกในงานต่าง ๆ แต่คนในสังคมมองไม่เห็นเขาในฐานะของคนที่สังคมควรต้องเข้าไปพยุงขึ้นมาจากความยากจน ในการสำรวจนักดนตรีเปิดหมวก 10 คนนี้ มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีก 7 ครอบครัวที่มีคนรวมกันในครอบครัวทั้งหมดไม่น้อยกว่า 14 คนไม่ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ

ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้ชี้ให้เห็นว่าโครงการตามหาคนจนในระดับประเทศขาดประสิทธิภาพในการจัดการให้ความช่วยเหลือได้ตรงตามเป้าหมาย

เราสามารถปรับแนวทางการช่วยเหลือผู้เปราะบางในสังคมได้อย่างไร

นางบุญยืนและนายเข้ม ทั้งสองคนอายุ 83 ปี และเคยเป็นชาวนามาก่อน แต่ความชราทำให้ทำงานหนักไม่ได้ แม้ว่านางบุญยืนและนายเข้มจะไม่พิการแต่นับว่ามีความด้อยโอกาสอย่างมาก ด้านนางบุญยืนนอกจากชราแล้วยังต้องดูแลน้องชายตาบอด นางบุญยืนได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการดำรงชีพ ส่วนนักดนตรีคนอื่นที่พิการมักได้รับเบี้ยคนพิการ แต่การช่วยเหลือเหล่านั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพเช่นกัน การช่วยเหลือผู้เปราะบางลักษณะนี้ควรเป็นบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนพอที่จะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเปราะบางของประชาชนในพื้นที่ ผู้พิการที่ไม่มีการศึกษาควรได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม ผู้ดูแลผู้เปราะบางก็ควรได้รับความช่วยเหลือ ผู้ดูแลเป็นผู้ที่อาจจะมีความทุกข์มากกว่าผู้พิการ เช่น กรณีนางสาวโสภาที่ชีวิตอาจจะดีกว่านี้ถ้าอยู่ตัวคนเดียว

การช่วยเหลือคนเหล่านี้ไม่ได้ใช้เงินมากเกินไปกว่าความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะจ่ายได้ หรือถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีรายได้น้อย ก็ควรให้ท้องถิ่นที่ร่ำรวยกว่าโอนรายได้ของท้องถิ่นไปช่วยท้องถิ่นที่ยากจนเพื่อช่วยเหลือประชากรเปราะบางได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ในท้องถิ่นจนหรือรวย การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำสิ่งเหล่านี้ได้นโยบายต้องมาจากส่วนกลาง

ผู้พิการบางรายมีทักษะมากพอที่จะประกอบอาชีพได้ เช่น นายประทีปมีความสามารถด้านกีฬา จึงได้เป็นนักกีฬาประเภทพิการประจำบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และได้เป็นนักกีฬาพิการทีมชาติไทย ทำให้นายประทีปมีความภูมิใจและพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนอื่น ๆ ส่วนนายทำนอง นายเสมา หรือนายสุชาติ มีทักษะการร้องเพลงได้ดี ภาครัฐควรมีนวัตกรรมในการจ้างแรงงานเหล่านี้ เช่น การใช้นโยบายอุดหนุนค่าจ้างให้แก่สถานประกอบการที่จ้างผู้พิการที่มีความสามารถเหล่านี้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจอาจจะต่ำ แต่ความคุ้มค่าทางสังคมย่อมสูงกว่า ภาครัฐควรรวบรวมข้อมูลผู้พิการที่มีความสามารถเหล่านี้ส่งต่อให้บริษัทเอกชน เพื่อจ้างผู้พิการทำงานตามนโยบายของรัฐได้ การมีทางเลือกให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพอื่นจะทำให้คุณภาพชีวิตและความพึงพอใจในชีวิตของผู้พิการเพิ่มขึ้นได้ จากการสัมภาษณ์ประชากรเปราะบาง เราพบว่าทุกคนกล่าวถึงข้อจำกัดในการประกอบอาชีพของตน ไม่มีคนใดเลยที่เรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐ ทุกคนยังเชื่อมั่นในการพึ่งตนเองตามศักยภาพที่มีอยู่

นโยบายในการป้องกันย่อมดีกว่าการรอจนเป็นผู้เปราะบางแล้วจึงใช้นโยบายเยียวยา จากกรณีศึกษาแรงงานนอกระบบผู้เปราะบางเหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเข้าถึงการศึกษาของคนทุกคน โดยเฉพาะสำหรับผู้พิการ การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ เป็นจุดอ่อนในการใช้ชีวิตอิสระ สิ่งที่สำคัญอันดับต่อมาคือ ทักษะในการประกอบอาชีพ กรณีชาวนาสูงอายุชี้ให้เห็นว่า เมื่อความสามารถในการใช้แรงทำงานตกต่ำลงจนไม่สามารถทำนาได้ ความสามารถในการหารายได้จบลงทันที ดังนั้น แรงงานนอกระบบที่ขายแรงทั้งหลายจำเป็นจะต้องมีทักษะในการประกอบอาชีพที่หลากหลายขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในวัยสูงอายุ ทักษะที่กล่าวถึงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นทักษะที่ซับซ้อน แต่ควรเป็นทักษะที่สามารถใช้หารายได้ได้บ้าง เป็นอาชีพที่ผู้ทำเห็นว่ามีคุณค่าและอยากทำ

อย่างไรก็ดี สำหรับแรงงานเปราะบางที่มาถึงวัย 83 ปี ย่อมไม่มีเวลาป้องกันอะไรได้อีกแล้ว กลไกของสวัสดิการสังคมควรดีพอที่จะเข้าไปคุ้มครองผู้เปราะบางเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังควรมีกลไกที่เข้มแข็งช่วยคุ้มครองลูกหลานผู้เปราะบางไม่ให้สืบสานความเปราะบางจากรุ่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย อีกด้วย

กลไกการเข้าถึงบริการสุขภาพเชิงรุกเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ควรสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เมื่อแรงงานผู้เปราะบางไม่สามารถเดินทางไปหาระบบดูแลสุขภาพ เราน่าจะออกแบบให้ระบบสุขภาพเดินทางมาหาแรงงานผู้เปราะบาง เป็นการทำงานเชิงรุกที่สามารถป้องกันการเจ็บป่วยเรื้อรังที่มักมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการป้องกัน ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถร่วมมือกันออกแบบการดูแลสุขภาพเชิงรุกได้ เช่น การมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานล่วงเวลา มีจุดให้บริการตรวจสุขภาพในงานเทศกาลหรือตลาดนัด มีผู้เดินสำรวจคัดกรองคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพ และรับสมัครผู้มีจิตอาสาช่วยเหลือในจุดให้บริการเหล่านั้น เป็นต้น

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • รองศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
  • บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด