สังคมไทย: ความยุติธรรมที่ผูกขาดและมีทีท่าว่าจะอ่อนกำลังลงเข้าไปทุกวัน

ปัญหาบ้านเรามีได้ไม่เว้นแต่ละวัน วันละหลายๆ เรื่อง ที่ต้องสะสางและจัดการเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับสังคมและความสงบสุขของประเทศ ทั้งนี้ สถาบันกำกับยุติธรรมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือ ตำรวจ อัยการ และศาล และอาจจะรวมถึงพนักงานปกครองที่กฎหมายบางเรื่องให้อำนาจกระทำการเพื่ออำนวยความยุติธรรมได้ ซึ่งก็เป็นหน่วยงานและมีบุคลากรที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเพื่อจัดการกับภัยคุกคามในสังคมและประเด็นพิพาทต่างๆ อย่างไรก็ดี เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าประสิทธิภาพและศักยภาพในการจัดการให้ทันต่อเวลา ทันต่อสถานการณ์ และความต้องการของเหยื่อที่จะได้รับการเยียวยาก็ยังคงเป็นปัญหาที่ยังประสบอยู่ในขณะนี้ 

และด้วยเหตุนี้ สังคมจึงต้องการพลเมืองที่แข็งขัน เป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ คอยสอดส่องความไม่ปกติในสังคมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้นหากเรานิ่งเฉยและไม่สนใจที่จะข้องแวะด้วยเหตุที่ว่าไม่ใช่เรื่องของตน หรือเกรงว่าจะมีภัยอันตรายมาสู่ตนจากการให้ข้อมูลหรือเบาะแสนั่นเอง ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นและเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ เช่น กรณีแหม่มโพธิ์ดำที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตัวเพราะว่าอาจจะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ภายหลังที่ได้มีการแฉปมหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนทั้งประเทศ แต่มีคนบางกลุ่มที่เข้าถึงเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้  

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นกระแสที่ร้อนแรงในสื่อออนไลน์ จนกระทั่งมีการตั้งแฮชแท็กเซฟแหม่มโพธิ์ดำขึ้น และเกิดเป็นคำถามที่น่าสงสัยว่า การแจ้งเบาะแสเพราะคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะได้รับผลประโยชน์เป็นการส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีใครได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด เป็นสำนึกที่บุคคลในสังคมจะต้องช่วยกันดูแลปกป้อง รักษาไม่ให้ประโยชน์สาธารณะถูกทำลาย ทำให้เสียหาย หรือได้รับความกระทบกระเทือนในลักษณะที่ไม่ถูกต้องอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น เหตุใดจึงกลายเป็นเรื่องที่มีความผิดไปเสียได้ อันที่จริงแล้ว เรื่องของคนอื่น ก็ย่อมที่จะไม่มีใครอยากจะเข้าไปยุ่งอยู่แล้วเพราะอาจจะโดนข่มขู่ทำร้ายจากผู้กระทำความผิดเอง เสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง หรือเสียเวลากันทั้งนั้น แล้วนี่ยังจะต้องมาผีซ้ำด้ำพลอยเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางจาก พรบ. คอมพิวเตอร์ อีก ยิ่งไปกว่านั้น การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องดังกล่าวยังได้สร้างสภาวะความหวาดกลัวให้กับประชาชนคนอื่นๆ ที่ประสงค์จะรายงานการกระทำที่ไม่ชอบให้กลายเป็นพลเมืองที่แน่นิ่งและเฉยเมยกับความอยุติธรรมในสังคมอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เรากำลังห่างไกลจากการทำหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดีที่ควรจะเป็นออกไปเรื่อยๆ อยู่หรือไม่?  

หากเราล้วนนิ่งเฉยต่อความผิดปกติบางอย่างในสังคม หรือละเว้นที่จะป้องกันภัยคุกคามใดๆ ก็ตาม สังคมก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวม (Tragedy of the common) กล่าวคือ ทุกคนจะเสียประโยชน์หมดถ้านิ่งดูดาย และรัฐก็จะกลายเป็นผู้ผูกขาดการรักษาและการเยียวยาความยุติธรรมที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการที่จะเป็นฐานในการตรวจสอบถ่วงดุลและกดดันให้ภาครัฐมีการพัฒนาธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความยุติธรรมในสังคมตอบสนองได้ล่าช้าเพราะรัฐต้องทำงานหนักขึ้นเนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน และอาจจะนำมาซึ่งความไม่โปร่งใสในการบริหารประเทศได้ ดังนั้น หน่วยงานยุติธรรมจะต้องตระหนักและชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้อย่างรอบคอบว่าการใช้   

พรบ. คอมพิวเตอร์ กับ การให้ข้อมูลกับรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้น อย่างไรเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะมากกว่ากัน ผลกระทบที่ตามมาคืออะไร เป็นการสร้างความสงบในสังคมที่ยุติธรรมแล้วหรือไม่ อีกทั้งมีทรัพยากรที่เพียงพอเพื่อรับมือกับผลกระทบที่ตามมาแล้วหรือไม่ มันจึงไม่ใช่แค่การมาตรวจสอบว่าเข้าองค์ประกอบฐานความผิดใน พรบ. คอมพิวเตอร์ ครบแล้วหรือไม่ เท่านั้น   

อย่างไรก็ดี การแจ้งเบาะแสก็เป็นเหมือนดาบสองคม บางครั้งบางคราวผู้แจ้งเบาะแสก็มีเจตนาไม่สุจริตให้ข้อมูลเพื่อกลั่นแกล้งหรือสร้างความปั่นป่วนในสังคม กรณีเฟคนิวส์เองก็เป็นตัวอย่างที่ปรากฎออกมาให้เห็นว่ามีผู้ไม่หวังดีที่ประสงค์จะสร้างความไม่สงบในสังคมด้วยเช่นกัน ดังนั้น หน่วยงานยุติธรรมจะต้องประเมินให้ได้จนแน่ชัดเสียก่อนว่าผู้แจ้งเบาะแสนั้น 1) เป็นกลุ่มที่มีข้อมูลที่ถูกต้องอยู่แล้วหรือไม่ หรือ 2) เป็นกลุ่มที่เชื่อว่าข้อมูลที่ตนมีนั้นถูกต้องจริงๆ แต่เป็นข้อมูลเท็จ หรือ 3) เป็นกลุ่มที่มีเจตนาไม่สุจริตแต่แรกและให้ข้อมูลเท็จ เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อกลั่นแกล้งให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ กลุ่มแรกและกลุ่มที่สองไม่สมควรต้องได้รับโทษตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ แต่อย่างใด เพราะเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและมีเหตุอันควรเชื่อ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักการข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่ารัฐต้องมีมาตรการที่สำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ พรบ. คอมพิวเตอร์ และการแจ้งเบาะแส โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้  

  1. องค์ประกอบของการเปิดเผยข้อมูลความลับที่ได้รับความคุ้มครองปราศจากการบังคับใช้ พรบ. คอมพิวเตอร์ พึงพิจารณาถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ 1) ข้อมูลที่เปิดเผยเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ 2) บุคคลมีช่องทางอื่นๆ ในการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ 3) ความถูกต้องของข้อมูลที่เปิดเผย 4) เจตนาของผู้เปิดเผย 5) ความเสียหาย (หากมี) ที่เกิดขึ้นและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ถูกกล่าวหา และความเสียหายนั้นมีความสำคัญมากกว่าประโยชน์สาธารณะหรือไม่ และ 6) ความรุนแรงของบทลงโทษที่มีต่อบุคคลผู้เปิดเผยข้อมูล และผลที่ตามมา 
  1. หากเป็นกรณีรายงานต่อสาธารณะ เช่น สื่อมวลชน องค์กรทางสังคม มูลนิธิ สมาคมทางกฎหมาย สหภาพการค้า องค์กรทางวิชาชีพ/ทางธุรกิจ หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ แทนที่จะเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจรับผิดชอบ การรายงานนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้ข้อมูลข่าวสารในกรณีที่เร่งด่วนหรือมีอันตราย เพราะหากใช้ช่องทางการรายงานตามปกติที่รัฐจัดไว้อาจจะไม่ทันการ และทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะเป็นวงกว้าง  
  1. เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลแก่สาธารณะที่ไม่ถูกต้อง หรือสร้างความสับสน รัฐควรจัดให้มีแนวทางให้ผู้แจ้งเบาะแสจำเป็นจะต้องหาข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นก่อนที่จะให้ข้อมูลนั้นๆ แก่เจ้าหน้าที่หรือสาธารณะ รวมทั้งรัฐจะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างครบถ้วน เหมาะสมและทันสมัย อยู่เสมอ เพื่อสามารถสอบทานความถูกต้องของข้อมูลที่ตนได้รับมากับข้อมูลที่ภาครัฐได้เปิดเผยได้ 
  1. สิ่งที่สำคัญที่สุดของการแจ้งเบาะแส คือ การรักษาความลับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้แจ้งตลอดจนครอบครัวของผู้แจ้ง เพราะนั่นหมายถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้แจ้งและบุคคลรอบข้างได้หากข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล ดังนั้น รัฐพึงมีหลักเกณฑ์การพิจารณาโดยต้องมีความชัดเจนและรัดกุม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาความลับและความปลอดภัยของผู้แจ้งเบาะแส 
  1. จัดให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างจริงจัง โดยจะต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบในการออกกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA) ให้มีความเหมาะสมและคุ้มค่าทางมิติทางสังคม เศรษฐกิจและในทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน โดยจะต้องกำหนดให้ผู้แจ้งเบาะแสพ้นจากโทษทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ตลอดจนทางวินัยที่อาจจะมีขึ้นจากการให้ข้อมูลนั้นๆ 

การใช้ พรบ. คอมพิวเตอร์ มีบทลงโทษที่รุนแรง และด้วยเหตุนี้ รัฐจึงต้องระมัดระวังที่จะใช้บทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว และต้องใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นโดยเฉพาะกับการรายงานข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อไม่ให้กระทบกับเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น การสร้างความมีส่วนร่วม ธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของรัฐในการกำกับกิจการดูแลบริหารประเทศ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวมที่ได้กล่าวมาข้างต้น และเพื่อให้การแจ้งเบาะแสเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมความยุติธรรมให้กับกระบวนและระบบของประเทศ รัฐพึงใช้แนวคิดสร้างแรงจูงใจทางบวกควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษการรายงานที่ไม่สุจริตและเป็นเท็จผ่านการสร้างจิตสำนึกของประชาชน และโครงการรณรงค์ต่างๆ ให้ต่อต้านการกระทำความผิดโดยให้เห็นความสำคัญของภาษีของประชาชนเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองผ่านการสร้างเครือข่ายพลเมืองให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและความเป็นธรรมในสังคมให้เดินควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างแท้จริง  

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย จิรวัฒน์ สุริยะโชติชยางกูล 
15 มีนาคม 2563