วิเคราะห์มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 1 และ 2

สืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เช่น ห้างสรรพสินค้า การระงับการให้บริการของสถานบริการต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในอีกหลายพื้นที่ การงดกิจกรรม อาทิการแข่งขันกีฬางานบันเทิง งานอบรมสัมมนา การแสดงสินค้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลกับการดำเนินชีวิตของประชาชน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 10 และวันที่ 17 มีนาคม 2563 เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ 

มาตรการระยะที่ 1 

มาตรการดูแลและเยียวยาประชาชน ข้อคิดเห็น 
1. เพิ่มสภาพคล่องโดยให้ค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์เป็นที่ต้องการอย่างมาก จึงนับได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ มีงานที่อยู่ระดับมั่นคง จึงไม่มีปัญหาสภาพคล่องเท่าใดนัก แต่หากการเพิ่มค่าเสี่ยงภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน จะช่วยลดแรงกดดันและความเครียดอันเกิดจากการทำงานลงได้ 
2. บรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟและคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟ การทำงานแบบ Work from home ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำและไฟฟ้าในครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนี้ จะช่วยเหลือแก่กลุ่มคนทำงานที่สามารถทำงานที่บ้านได้ ขณะที่กลุ่มคนที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เช่น ลูกจ้างสายการผลิต หรือพนักงานบริการลูกค้าตามสถานที่หรือร้านค้า จะไม่ได้รับประโยชน์มากนัก นอกจากนี้ ด้วยการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งเป็นภาระของเจ้าของบ้าน ทำให้ผู้ที่เช่าที่อยู่อาศัย ได้แก่ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และกลุ่มคนที่มาจากต่างจังหวัด จะไม่ได้รับประโยชน์เลย 
3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง การลดเงินสมทบลงร้อยละ 1-2 ของฐานเงินเดือนลูกจ้าง เป็นการลดภาระจำนวนไม่มาก หากแต่ภายใต้สถานการณ์ที่ธุรกิจไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้หรือประกอบกิจการได้ยาก จึงอาจส่งผลให้มีการลดชั่วโมงการทำงาน หรือลดการจ้างงานลง จะส่งผลกระทบที่มากกว่า และผู้ที่ถูกลดค่าจ้างหรือถูกเลิกจ้าง จะไม่ได้รับประโยชน์นี้เลย 
4. ลดภาระค่าธรรมเนียมค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ (ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ ให้กับผู้เช่าประเภทที่อยู่อาศัยและเกษตร) ผู้เช่าที่ราชพัสดุประเภทที่อยู่อาศัยและเกษตร มีจำนวนไม่มาก การลดภาระค่าธรรมเนียมค่าเช่าค่าตอบแทน จึงช่วยเหลือได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น 
5. เพิ่มความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน โดยเพิ่มวงเงินกองทุน SSF จาก 2 แสนบาท เป็น 4 แสนบาท การเพิ่มวงเงินกองทุน SSF ผู้ที่ได้รับประโยชน์มมาก คือผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้มาก 
มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ  
1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท ช่วยให้ธุรกิจเพิ่มสภาพคล่องได้ แต่ในบางธุรกิจที่สภาพโครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในระยะยาวได้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อตลาดสินเชื่อในระยะยาว 
2. พักเงินต้นลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ฯ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น-กลางได้ แต่ในระยะยาว ภาระดอกเบี้ยยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ ซึ่งหากสถานการณ์ไม่สามารถจบได้ในระยะเวลาอันใกล้ จะส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ฯ อย่างมาก 
3. ธปท. ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยให้ธุรกิจเพิ่มสภาพคล่องได้ แต่ในบางธุรกิจที่สภาพโครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในระยะยาวได้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อตลาดสินเชื่อในระยะยาว 
4. สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของประกันสังคม ช่วยให้ธุรกิจเพิ่มสภาพคล่องได้ แต่ในบางธุรกิจที่สภาพโครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในระยะยาวได้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อตลาดสินเชื่อในระยะยาว 
5. ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้รับจ้างได้ในระดับหนึ่ง แต่ผู้รับจ้างยังคงต้องมีภาระนำส่งภาษีโดยยอดรวมเท่าเดิม 
6. เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก สามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ส่งออกในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ดี สถานการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลให้เศรษฐกิจต่างประเทศมีความไม่แน่นอนสูง ซ฿งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
7. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ปี 2563 การเร่งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ จะช่วยให้เงินของรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วยิ่งขึ้น หากแต่ต้องระมัดระวังเรื่องความโปร่งใสเพิ่มเติม โดยเฉพาะหากมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ 
8. หักเพิ่มภาษีดอกเบี้ยจ่ายจาก 1 เท่า เป็น 1.5 เท่า ช่วยลดภาระผู้ประกอบการได้ หากแต่เป็นจำนวนไม่มากเมื่อคิดตามสัดส่วนค่าใช้จ่ายของธุรกิจ 
9. บรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำค่าไฟและคืนค่าประกันการใช้ไฟ สามารถช่วยกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กได้ อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ที่สถานประกอบการต้องถูกระงับการประกอบกิจการไป จึงอาจไม่ได้ช่วยลดต้นทุนได้มากนัก 
10. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง สามารถช่วยบางเบาภาระการจ้างงานของธุรกิจลงได้ในระดับหนึ่ง แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนัก 
11. หักรายจ่ายค่าจ้างงานได้ 3 เท่า สามารถช่วยบางเบาภาระการจ้างงานของธุรกิจลงได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก 
12. บรรเทาภาระค่าธรรมเนียมค่าเช่า ค่าตอบแทนในการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ (เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุ ให้กับผู้เช่าประเภทผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง) ผู้เช่าที่ราชพัสดุประเภทผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องมีจำนวนไม่มาก การลดภาระค่าธรรมเนียมค่าเช่าค่าตอบแทน จึงช่วยเหลือได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น 

บทวิเคราะห์ 

มาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ ระยะที่ 1 เป็นมาตรการในระยะสั้นและระยะกลาง โดยคาดหวังให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดจากช่วงเวลาที่ลำบากในระยะสั้นไปได้ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์โควิด-19 ในภาพรวม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกยังไม่คลี่คลาย มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีแนวทางรับมือและให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้ปรับตัวในระยะยาว นอกจากนี้ มาตรการฯ ระยะที่ 1 ได้แยกย่อยไปตามหน่วยงานต่างๆ ทำให้อาจไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบมากนัก 

มาตรการระยะที่ 2 

มาตรการดูแลและเยียวยาแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ข้อคิดเห็น 
1. สนับสนุนเงินคนละ 5 พันบาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน สามารถช่วยเหลือค่าครองชีพแก่แรงงานนอกระบบได้ โดยเป็นการโอนเงินเข้าระบบพร้อมเพย์ ทำให้ผู้ได้รับเงินสามารถถอนเงินสดไปใช้จ่ายได้ทันที ทั้งนี้ เงินดังกล่าว สามารถนำไปใช้จ่ายได้ทั้งสินค้าจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย 
2. สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาทต่อราย ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แรงงานนอกระบบที่จำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน โดยไม่ต้องไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ ทั้งนี้ ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของสถาบันการเงินผู้ให้กู้ 
3. สินเชื่อพิเศษ 50,000 บาทต่อราย ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แรงงานนอกระบบที่จำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน โดยไม่ต้องไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ ทั้งนี้ ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงของสถาบันการเงินผู้ให้กู้ 
4. สนง.ธนานุเคราะห์รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แรงงานนอกระบบที่จำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน โดยไม่ต้องไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ 
5. ยืดการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา หากแต่เป็นการเลื่อนการเสียภาษีเท่านั้น ภาระภาษียังคงอยู่ 
6. หักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มเติม ผู้ได้รับประโยชน์คือผู้มีกำลังซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นผู้ที่มีฐานรายได้สูง 
7. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์เป็นที่ต้องการอย่างมาก จึงนับได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ มีงานที่อยู่ระดับมั่นคง จึงไม่มีปัญหาสภาพคล่องเท่าใดนัก แต่ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าเสี่ยงภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน จะช่วยลดแรงกดดันและความเครียดอันเกิดจากการทำงานลงได้ 
8. ฝึกอบรม มีเงินใช้ สามารถช่วยรักษาทักษะ หรือสร้างทักษะในการทำงานใหม่ๆ ให้แก่แรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมได้ อย่างไรก็ดี ในระยะกลางถึงระยะยาวอาจต้องมีแผนสร้างงานเพื่อรองรับแรงงานด้วย 
มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการ  
1. สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ช่วยให้ธุรกิจเพิ่มสภาพคล่องได้ แต่ในบางธุรกิจที่สภาพโครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในระยะยาวได้ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อตลาดสินเชื่อในระยะยาว 
2. ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้นิติบุคคลที่เสียภาษีได้ หากแต่เป็นการเลื่อนการเสียภาษีเท่านั้น ภาระภาษียังคงอยู่ 
3. ยืดการเสียภาษีสรรพากร เช่น VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอื่นๆ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่เสียภาษีได้ หากแต่เป็นการเลื่อนการเสียภาษีเท่านั้น ภาระภาษียังคงอยู่ 
4. ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้กิจการสถานบริการ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่เสียภาษีได้ หากแต่เป็นการเลื่อนการเสียภาษีเท่านั้น ภาระภาษียังคงอยู่ 
5. ยืดการเสียภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่เสียภาษีได้ หากแต่เป็นการเลื่อนการเสียภาษีเท่านั้น ภาระภาษียังคงอยู่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน มีจำนวนไม่มากนัก การช่วยเหลือจึงมีอยู่อย่างจำกัด 
6. ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษา COVID-19 ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษา COVID-19 ได้ในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บจากสินค้าแต่ละประเภทที่เกี่ยวข้อง 
7. ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Non-bank) ช่วยลดต้นทุนด้านภาษีและค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จำเป็นต้องปรับรูปแบบธุรกิจของตนเอง 

บทวิเคราะห์ 

มาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ ระยะที่ 2 เป็นมาตรการในระยะสั้นและระยะกลาง ที่ออกโดยหน่วยงานกลางที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนและผู้ประกอบการในวงกว้าง ซึ่งมาตรการหลักยังคงเน้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระตุ้นการใช้จ่ายและการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์โควิด-19 ในภาพรวม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกยังไม่คลี่คลาย มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีแนวทางรับมือและให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้ปรับตัวในระยะยาว  

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


โดย คณะวิจัย TDRI 
31 มีนาคม 2563