วิเคราะห์มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 1 และ 2 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย

เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการสินเชื่อสำหรับลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น รวม 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการะยะที่ 1 (28 กุมภาพันธ์ 2563) และมาตรการระยะที่ 2 (19 มิถุนายน 2563) 

สาระสำคัญของ มาตรการะยะที่ 1 จะพุ่งเป้าไปที่ 5 กลุ่มประเภทสินเชื่อ1 ดังนี้ 

1. หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน กำหนดให้มีการลดอัตราผ่อนชำระชั้นต่ำเหลือ ร้อยละ 5 ในปี 2563-2564 ร้อยละ 8 ในปี 2565 และร้อยละ 10 ในปี 2566 นอกจากนี้ ลูกหนี้ยังสามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวเพื่อให้มีภาระดอกเบี้ยที่ต่ำลงได้ 

2. หนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สามารถเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน และสำหรับผู้ที่ให้บริการรายอื่น สามรถพิจารณาเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ ลดค่างวดอย่างร้อยละ 30 ของค่างวดเดิมเป็นเวลา 6 เดือน 

3. หนี้สินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่ม รถมอเตอร์ไซด์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท และรถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท และลิสซิ่งที่มีมูลค่าคงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท กำหนดให้ผู้บริการพิจารณาให้เลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือ พักชำระเงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน 

4. หนี้สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท กำหนดให้พักชำระเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือนและลดอัตราดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม 

5. หนี้สินเชื่อธุรกิจ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท กำหนดให้พักชำระเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือนและลดอัตราดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสม 

ทั้งนี้  ในส่วนของหนี้สินเชื่อธุรกิจ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออก พรก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 20192 ณ วันที่ 19 เมษายน 2563 ทำให้เจ้าของธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท และที่เข้าข่ายเกณฑ์ตามที่ ธปท. กำหนดจะได้รับสิทธิ์เลื่อนจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน โดยดอกเบี้ยที่พักชำระไว้จะทยอยจ่ายในงวดที่เหลือตามที่ตกลงกันระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงิน 

สำหรับสาระสำคัญของมาตรการในระยะที่ 23 มีดังนี้ 

1. ปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2-4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ 

2. เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทวงเงินหมุนเวียนหรือที่ผ่อนชำระเป็นงวด สำหรับลูกหนี้ที่มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มเติม และมีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท ขยายวงเงินจากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นการชั่วคราว 

3. มาตรการขั้นต่ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ขยายขอบเขตและระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และไม่เป็น NPLs ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีทางเลือกความช่วยเหลือขั้นต่ำให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้เลือกตามประเภทสินเชื่อ เช่น การผ่อนชำระขั้นต่ำ การเปลี่ยนสินเชื่อระยะสั้นเป็นระยะยาว การลดค่างวด การเลื่อนชำระค่างวดหรือเงินต้น เป็นต้น และกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น เปรียบเทียบภาระหนี้เดิมและหนี้ใหม่ จำนวนหนี้และจำนวนงวดที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเพิ่มจากการขอเลื่อนชำระหนี้ 

การช่วยเหลือตามมาตรการขั้นต่ำข้างต้นจะไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้ จึงไม่สามารถเรียกเก็บเบี้ยปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และในกรณีที่ลูกหนี้ประสงค์จะชำระหนี้ก่อนกำหนด จะต้องไม่มีการคิดค่าเบี้ยปรับ (prepayment fee) 

4. การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้ เช่น โดยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาว เลื่อนการชำระค่างวด ลดดอกเบี้ย และกรณีลูกหนี้ี่ได้รับผลกระทบจนเป็น NPLs ขอให้พิจารณาชะลอการยึดทรัพย์ 

แม้ว่ามาตรการที่ออกมาจะเป็นการตอบสนองต่อปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและธุรกิจรายย่อยได้เป็นอย่างดี แต่คณะผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจะให้ความสนใจเพิ่มเติมมากขึ้น ดังต่อไปนี้ 

1. มาตรการเลื่อนการชำระหนี้ กำหนดให้ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างมาตรการเลื่อนการชำระหนี้ จะต้องมีการชำระในอนาคต ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้เปรียบเสมือนการผลักภาระหนี้ไปในอนาคต โดยที่ผู้กู้ยังคงต้องจ่ายเงินในส่วนเดิม และยังต้องจ่ายดอกเบี้ยค้างที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าอีกด้วย ทำให้ในอนาคต ขนาดของหนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเกิดเป็นระเบิดเวลาขนาดใหญ่  

2. การปล่อยสินเชื่อใหม่ ภายใต้สถานการณ์ที่ลูกหนี้ยังคงมีภาระหนี้จำนวนมากค้างอยู่ ประกอบกับการกำหนดเพดานดอกเบี้ยบางประเภทเพิ่มเติม จะเป็นตัวรั้งทำให้การปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนและภาคธุรกิจมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการประคองตัวเอง และธุรกิจให้รอดในยามที่ประเทศเกิดวิกฤติ เพราะทั้งประชาชนและภาคธุรกิจต้องการสภาพคล่อง หรือ เงินหมุนเวียนเพื่อประคองตัวให้รอดในสภาวะที่เศรษฐกิจตึงตัวเช่นนี้ 

3. ธปท. ควรจะพิจารณากลุ่มสินเชื่อเฉพาะที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ อาทิ เช่น สินเชื่อกลุ่มโรงแรม หรือ กลุ่มที่ออกหุ้นกู้ระดมทุน เพราะปัญหาสำคัญ คือ สภาพคล่องของบางกลุ่มธุรกิจอาจจะมีปัญหาเพราะปัญหาโควิด-19 จะทำให้บางกลุ่มกิจกรรม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะมีความเสี่ยงของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถที่จะขอสินเชื่อ หรือ ออกหุ้นกู้ใหม่มาทดแทนของเดิมได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบที่จะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ 

4. ธปท. ควรจะหาแนวทางการอุดหนุนดอกเบี้ย โดยที่ไม่พึ่งพาการช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องตอบสนองต่อผู้ถือหุ้นด้วยการสร้างกำไรให้มากที่สุด ดังนั้น การให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาแบกรับต้นทุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือธุรกิจที่มีศักยภาพที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือ การอุดหนุนที่เหมาะสมอาจจะใช้เครื่องมือทางการคลังทางตรง เช่น การประสานของบประมาณเพื่ออุดหนุนจากกระทรวงการคลัง หรือ การใช้เครื่องมือทางอ้อมผ่านทางกลไกสถาบันการเงินภาครัฐ หรือ ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ เช่น บสย. เป็นต้น 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1 https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n1263.aspx 

2 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0006.PDF 

3 https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n3263.aspx 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
31 มีนาคม 2563