tdri logo
tdri logo
31 มีนาคม 2020
Read in Minutes

Views

ปัญหา Hate Crime และ Spillover Effect จากโควิด-19

ช่วงที่โรคโควิด-19 ได้ระบาดระลอกแรกๆ ในต่างประเทศ (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา) ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เกิดขึ้นกับชาวเอเชียหลายครั้ง อาทิเช่น การทำร้ายร่างกาย การฆาตกรรม หรือการทำร้ายจิตใจ โดยการข่มขู่หรือด่าทอเรื่องการเป็นต้นตอของโรค ขณะที่อีกกรณีหนึ่ง เกิดความรังเกียจชาวเอเชียจากความหวาดระแวงว่า ชาวเอเชียอาจเป็นพาหะของโรคโควิด-19 นำไปสู่การปฏิเสธการให้บริการ หรือเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์ด้วย 

การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็น “อาชญากรรมจากความเกลียดชัง” หรือ Hate Crime ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นผลมาจากจุดกำเนิดของโรคโควิด-19 ที่ระบาดมาจากประเทศจีน (โดยในตะวันตกหลายกรณีก็ได้มีการเรียกชื่อของโรคในอีกชื่อหนึ่งว่า “ไข้หวัดจีน” หรือ China Flu) ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ทางลบต่อชาวเอเชีย และส่งผลให้เกิดการปฏิบัติอันไม่เท่าเทียม (discrimination) ขึ้น 

บทความชิ้นนี้จะกล่าวถึง “ผลกระทบทางอ้อม” หรือที่เรียกว่า “Spillover Effect” อันเป็นผลมาจากความเกลียดชังต่อโรค ว่าเกิดผลกระทบใดขึ้น และสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยได้อย่างไร โดยเก็บรวบรวมกรณีศึกษาความเกลียดชังที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ ในช่วงการระบาดของโรคในไทย และผลกระทบทางอ้อมที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการรับมือ ให้เกิดผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและสังคมน้อยที่สุด 

Hate Crime และ Spillover Effect 

Hate Crime เป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้น โดยมีมูลเหตุมาจากคุณสมบัติ/สถานะของผู้ถูกกระทำ เช่น เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา บรรพบุรุษ ชาติกำเนิด ความพิการ หรือเพศ ผลจากอาชญากรรมดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำ ทั้งทางร่างกาย (ทำร้ายร่างกาย หรือฆาตกรรม) และจิตใจ (เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย หรือหวาดกลัวในการใช้ชีวิต)1 

ส่วน Spillover Effect คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง หากแต่อยู่ในโครงข่ายที่ยังคงเชื่อมโยงกันอยู่ ตัวอย่างเช่น ในทางเศรษฐศาสตร์ การที่ประเทศแคนาดามีการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้ากับสหรัฐอเมริกาผ่านการค้า หากเศรษฐกิจในสหรัฐเกิดการชะลอตัวลง เศรษฐกิจของแคนาดาก็จะหดตัวลงตาม แม้ว่าสหรัฐและแคนาดาจะมิใช่ประเทศเดียวกัน เนื่องจากแคนาดาพึ่งพิงการส่งออกสู่สหรัฐ2 

ในแง่นี้ Hate Crime ในหลายกรณีเกิดขึ้นจาก Spillover Effect เนื่องจากผู้กระทำอาชญากรรมปะติดปะต่อและขยายความให้ผู้ถูกกระทำมีลักษณะเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่ตนเกลียดชัง และดำเนินการความรุนแรงเพื่อจัดการกับสิ่งที่ตนเกลียดชัง โดยอาศัยคุณลักษณะที่ทำการเชื่อมโยงเป็นเหตุจูงใจในการก่ออาชญากรรม3 

กรณี Hate Crime ของโรคโควิด-19 ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน สืบเนื่องจากการที่ต้นตอของโรคแพร่ระบาดมาจากประเทศจีน คนจำนวนมากก็ได้เกิดการขยายความ ก่อให้เกิดความระแวงต่อชาวจีน (และเอเชีย) ว่าอาจจะเป็นพาหะของโรค และอาจแพร่เชื้อให้แก่ตนได้ แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะมิได้ติดเชื้อ เป็นพาหะ หรือแพร่เชื้อ ซึ่งนำไปสู่การก่ออาชญากรรมกับชาวเอเชีย โดยอาศัยโรคโควิด-19 เป็นเหตุจูงใจ 

กรณี Hate Crime และ Spillover Effect ในไทย 

แม้ว่าในไทยจะไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือการฆาตกรรม บุคคลซึ่งต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับโรคโควิด-19 เกิดขึ้น แต่ผลของ Spillover Effect ได้ปรากฏเป็น Hate Crime ในรูปของการเหยียดหรือรังเกียจในหลายกรณี โดยจะเกิดขึ้นเมื่อมีบุคคลในกลุ่มคนประเภทใดประเภทหนึ่ง (อาชีพ พื้นที่ หรือกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน) เกิดการติดเชื้อ แต่ผลกระทบจากบุคคลที่ติดเชื้อได้ขยายตัวไปสู่บุคคลในกลุ่มเดียวกันซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นที่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดในต่างประเทศ พ่อค้าแม่ค้าในไทยหลายแห่งได้มีการปฏิเสธที่จะขายหรือให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจีน ในร้านอาหารบางแห่ง หากมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาใช้บริการ ลูกค้าชาวไทยก็จะเดินออกจากร้าน4 หรือกรณีบุคลากรทางการแพทย์บางท่านเกิดการติดเชื้อขึ้น (หรือมีข่าวลือว่าเกิดการติดเชื้อ) แต่สังคมได้มองว่า บุคลากรทางแพทย์ทั้งหมดติดเชื้อ5 เป็นต้น สังคมจึงเกิดความรังเกียจ และหลีกเลี่ยงปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยว หรือบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด แม้ว่ากรณีเช่นนี้จะไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงก็ตาม 

ความเกลียดชังต่อกลุ่มคนอันเป็นผลมาจาก Spillover Effect สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงกับโรค และกับกลุ่มคนปกติซึ่งไม่เกี่ยวข้อง 

ในกลุ่มแรก กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงอาจเกิดความรู้สึกถูกกดดัน หรือรังเกียจจากสังคม ทั้งทางตรง คือ การถูกวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมอันเกี่ยวกับโรค และทางอ้อม คือการถูกวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมส่วนบุคคลซึ่งไม่เกี่ยวกับโรค ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งอาจนำไปสู่การปกปิดข้อมูลการเจ็บป่วยหรือความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม  

ส่วนกลุ่มที่สอง กลุ่มคนปกติซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ อาจเกิดความหวาดระแวงว่าตนจะติดโรคจากกลุ่มเสี่ยงนำไปสู่ ความเกลียดชัง หรือความหวาดกลัวคนกลุ่มแรก ซึ่งความเกลียดชังและความหวาดกลัวอาจขยายตัวไปมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมอันเกี่ยวกับโรค ทำให้เกิด Hate Crime ขึ้นโดยเจตนาหรือไม่เจตนา รวมถึงยังเกิดความหวาดระแวงในการใช้ชีวิตจนเกินความจำเป็น ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมกว้างกว่าที่ควรจะเป็น 

รูปที่ 1 :ร้านอาหารปฏิเสธให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

ที่มา: Amarin TV6 

การที่ไทยเกิดปรากฏการณ์ “รังเกียจกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับโรค” ขึ้นแล้ว ในบทความนี้ได้ทำการรวบรวมเหตุการณ์กลุ่มคนซึ่งเกี่ยวพันกับเชื้อโควิด-19 และผลกระทบที่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนต่างๆ จากที่ปรากฏในข่าวและสื่อทางโซเชียล โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้ 

ช่วงที่เป็นข่าว กลุ่มคน เหตุการณ์  ประเด็น 
6 มีนาคม 2563 ผู้ชมกีฬาชกมวย สนามมวยลุมพินี จัดแข่งขันชกมวย ซึ่งมีผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศเข้าร่วม และแพร่เชื้อ เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมไม่รับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะผู้ที่กลับจากต่างประเทศ  เกิดกรณีปกปิดข้อมูลขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ชมกังวลเรื่องการกระทำผิด และการถูกวิพากษ์วิจารณ์ 
ต้น มีนาคม 2563 กลุ่มสถานบันเทิง ย่านทองหล่อ ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ได้ใช้บริการสถานบันเทิง โดยไม่มีการระมัดระวังเรื่องการกักตัว เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมไม่รับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะผู้ที่กลับจากต่างประเทศ  เกิดกรณีปกปิดข้อมูลขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ชมกังวลเรื่องการกระทำผิด และการถูกวิพากษ์วิจารณ์ 
ต้น มีนาคม 2563 แรงงานไทยผิดกฎหมายจากเกาหลีใต้ แรงงานกลุ่มนี้ขอเดินทางกลับเข้าประเทศไทย เนื่องจากโรคโควิด-19 ระบาดในเกาหลีใต้ แรงงานกลุ่มนี้ถูกสังคมเรียกว่า ผีน้อย เนื่องจากลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย สังคมเกิดความหวาดระแวงว่า แรงงานกลุ่มนี้จะนำโรคเข้ามาในไทย สังคมวิพากษณ์วิจารณ์ลักษณะการทำงานที่ผิดกฎหมายของแรงงานกลุ่มนี้ และตั้งคำถามว่า รัฐควรจะให้ความช่วยเหลือหรือไม่ 
ปลาย มีนาคม 2563 บุคลากรทางการแพทย์ พ่อค้าแม่ค้าปฏิเสธการให้บริการ/ขายสินค้าแก่บุคลาการทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ถูกเบียดขับออกจากสังคม และถูกรังเกียจ เนื่องจากสังคมวิตกกังวลว่า บุคลากรทางการแพทย์จะแพร่เชื้อ พ่อค้าแม่ค้าปฏิเสธการให้บริการ/ขายสินค้า เพราะมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง บางกรณีเกิดการไล่ออกจากร้านค้า 
28 มีนาคม 2563 ผู้เสียชีวิต ศาสนาสถานปฏิเสธการประกอบพิธีทางศาสนา และฌาปนกิจ สังคมเกิดความหวาดระแวงว่า การฌาปนกิจศพจะแพร่กระจายเชื้อ ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตระหว่างนั้น ไม่สามารถประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อของครอบครัวได้ 
29 มีนาคม 2563 นักโทษ นักโทษก่อเหตุจลาจลในเรือนจำบุรีรัมย์ เนื่องจากเกิดข่าวลือว่า มีนักโทษติดเชื้อ นักโทษเกิดความหวาดระแวงกันเองว่า นักโทษด้วยกันจะแพร่เชื้อ สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า นักโทษเป็นกลุ่มคนที่ชอบก่อปัญหา ไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือ 
6 เมษายน 2563 มุสลิม ชาวไทยมุสลิมเดินทางกลับมาจากการแสวงบุญที่อินโดนีเซีย ภายใต้การแพร่ระบาด ชาวไทยมุสลิมกลุ่มนี้เกิดความวิตกกังวลว่า เป็นผู้ที่นำโรคเข้าประเทศ  มีข่าวลือเกิดขึ้นว่า ชาวไทยมุสลิมกลุ่มนี้หลบหนีการกักตัว สังคมมองว่า มุสลิมไร้วินัย สร้างความเสี่ยงแก่ผู้อื่น 
ธันวาคม 2563 แรงงานต่างด้าว (ถูก/ผิดกฎหมาย) ในพื้นที่สมุทรสาคร เกิดการแพร่ระบาดจากการลักลอบเข้าประเทศของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่สมุทรสาคร เกิดกระแสรังเกียจแรงงานต่างด้าวขึ้นในสังคม มีการตั้งคำถามถึงวิธีการจัดการ ควบคุม แรงงานต่างด้าว รวมถึงการให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นการลักลอบเข้ามา เกิดผลกระทบทางอ้อมขึ้น คือ มีกระแสหยุดบริโภค กุ้ง และอาหารทะเล เนื่องจากความวิตกว่าจะมีการปนเปื้อน ส่งผลให้การค้ากุ้ง และอาหารทะเลชะงักงัน รวมถึงอุตสาหกรรมประมง ได้รับความเสียหาย 
23 ธันวาคม 2563 นักพนัน เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในหมู่นักพนัน จังหวัดระยอง สังคมวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของนักพนัน เรื่องการไม่ให้ความร่วมมือในการรับมือโรค และมีส่วนแพร่กระจายโรค เกิดการตั้งคำถามว่า รัฐควรให้ความช่วยเหลือหรือไม่ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย (การเล่นพนัน และการฝ่าฝืนการควบคุมโรค) เกิดปัญหาการปกปิดข้อมูลขึ้น ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ และมีความเสี่ยงจากการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรมทางสังคม (ทั้งจากการเล่นพนัน และไม่ใช่) เนื่องจากสังคมมองว่า คนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ขัดต่อจารีต เกิดความอับอายที่จะเผยแพร่ประวัติการเดินทางของตน 
24 ธันวาคม 2563 ประชาชนในพื้นที่สีแดง รัฐประกาศแบ่งเขตพื้นที่ความเสี่ยง กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่สีแดงชะงักงัน จากมาตรการป้องกันการระบาดในพื้นที่ รวมถึงเกิดความระแวงในการเดินทางข้ามพื้นที่ (ทั้งในพื้นที่เสี่ยงสูง และไม่เสี่ยงสูง) ขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้วางใจบุคคลต่างถิ่น 

ที่มา: รวบรวมโดยคณะผู้วิจัย 

นอกจากนี้ ช่วงเดือนมกราคม 2564 ยังเกิดกรณี Super Spreader จากการจัดปาร์ตี้มั่วสุมในสภาวะโรคระบาดหนักขึ้น7 บุคคลที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้มีการจัดงานสังสรรค์วันเกิดซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อและแพร่ระบาด สังคมผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของการดำเนินชีวิตในช่วงการระบาดของคนกลุ่มนี้ เกิดการวิจารณ์ต่อพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งได้ขยายไปถึงการโจมตีไปยังพฤติกรรมส่วนตัวส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคด้วย เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ หรือพฤติกรรมทางเพศ8 ส่งผลให้กลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสังสรรค์จำนวนไม่น้อยเลือกปกปิดข้อมูลของตน9 เนื่องจากได้รับความกดดันจากสังคมอย่างรุนแรง 

การกดดันผู้ติดเชื้อกลุ่มต่างๆ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งที่เกี่ยวข้องกับโรคและไม่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ เป็นผลจาก Spillover Effect ที่สังคมขยายความพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จนเกินขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับโรค โดยขยายไปวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น ลักษณะนิสัย การศึกษา การทำงาน สถานะทางสังคม หรือศาสนา เป็นต้น ความไม่เกี่ยวพันดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูล (สู่สาธารณะ) เพราะเกรงกลัวว่า จะถูกสังคมรังเกียจอย่างรุนแรง และท้ายที่สุด ส่งผลให้ภาครัฐไม่สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ผลจาก Spillover Effect ที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่มีความเสี่ยง มักปรากฏในรูปของการปกปิดข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางจิตใจจากการถูกกดดันโดยสังคม ส่วนในกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนปกติซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ มักจะปรากฏในรูปของ Hate Crime เช่น การปฏิเสธที่จะเข้าใกล้ หรือแสดงออกซึ่งความรังเกียจ คล้ายกับกรณีพ่อค้าแม่ค้าในไทยปฏิเสธที่จะขายหรือให้บริการแก่นักท่องเที่ยว หรือการหวาดระแวงจนเกินเหตุ ดังจะพบจากกรณีการปฏิเสธการตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือการหยุดบริโภคอาหารทะเล/อาหารญี่ปุ่น 

ในกรณีหลังจะพบว่า ความเกลียดชังต่อโรคได้ขยายความจนเกินขอบเขต เกิดการปฏิเสธการตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น เพราะ กลุ่มคนในพื้นที่เกิดความหวาดกลัวว่า โรงพยาบาลจะเป็นแหล่งสะสมโรค หรืออาจแพร่กระจายโรคสู่คนในพื้นที่ได้ แม้ทางสาธารณสุขจะยืนยันว่า พื้นที่โรงพยาบาลสนามมีการแยกขาดออกจากพื้นที่ชุมชน ไม่มีความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อสู่คนในท้องที่ก็ตาม10 หรืออีกกรณีหนึ่ง การหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารญี่ปุ่น อันเป็นผลจากข่าวที่ว่า มีการแพร่ระบาดผ่านเขียงปลาแซลมอนในประเทศจีน11 ซึ่งทำให้เกิดความหวาดระแวงในการรับประทานปลาดิบ และอาหารญี่ปุ่น ส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยจำนวนมากได้รับผลกระทบและต้องปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก แม้ว่าวัตถุดิบหลายแห่งจะปลอดภัยก็ตาม12 

บทเรียนต่างประเทศ และแนวทางที่ควรปฏิบัติ 

Institute for Social and Economic Research, University of Essex พบว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิด Hate Crime โดยหลักประกอบด้วย 1) ความหวาดระแวงโรคระบาด นำไปสู่การกล่าวโทษกลุ่มคนที่เป็นพาหะ ซึ่งไม่เพียงปรากฏในกรณีของโรคโควิด-19 เท่านั้น โรคอื่นๆ เช่น อีโบลา เองก็สามารถก่อผลกระทบ Hate Crime ได้ในลักษณะเดียวกัน และ 2) ความตกต่ำของเศรษฐกิจ ที่ขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ ก่อให้เกิดความกดดันทางร่างกายและจิตใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น การถูกเลิกจ้าง การลดค่าจ้าง เป็นต้น13 

ผลที่เกิดขึ้นจาก Hate Crime มักจะปรากฏในรูปของ Spillover Effect ที่ขยายความเกลียดชังและความหวาดกลัวไปไกลกว่าความเป็นจริง ซึ่งในไทยก็ได้เกิดกรณีเช่น คนไม่ไปพื้นที่ใกล้เคียง/คล้ายคลึงสถานที่ติดเชื้อ หยุดใช้บริการ (ไม่กินกุ้ง/อาหารญี่ปุ่น) หรือ ไม่ให้บริการ/พูดคุยกลุ่มคนที่เป็นข่าว ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรค และไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรค เช่น อุตสาหกรรมประมงขาดรายได้ ร้านอาหารญี่ปุ่นปิดกิจการ หรือการเดินทางข้ามจังหวัดหดตัวลง 

ในส่วนนี้ Institute for Social and Economic Research ได้พบว่า สื่อช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อทางโซเชียลซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตีตรา และสร้างความหวาดระแวงแก่สังคม ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลต่างๆ จำเป็นที่จะต้องมีการระมัดระวัง เพื่อป้องกันการเกิด Spillover Effect ที่จะเกิดขึ้น 

ในแง่นี้ บทความชิ้นนี้ จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 

1. สื่อกระแสหลักควรหยุดสร้างความหวาดกลัวเรื่องการแพร่กระจายโรค หยุดสร้างความหวาดกลัวต่อ Super Spreader เพื่อมิให้เกิดการขยายความของประชาชนในวงกว้างผ่านสื่อทางโซเชียล แต่ควรเปลี่ยนมาสร้างความเชื่อมั่น ว่ารัฐสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการหวาดวิตกในลักษณะของ Spillover Effect ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง 

2. ภาครัฐควรสร้างความเชื่อมั่นกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงกับโรค ว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อใช้ในการรับมือและป้องการการแพร่ระบาด และสร้างความเชื่อมั่นกับกลุ่มคนปกติซึ่งไม่เกี่ยวข้อง ว่ากลุ่มคนที่ติดโรคมิใช่สิ่งซึ่งน่ารังเกียจ ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์จนเกินเหตุ และภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่กระจายได้ 

3. ในกลุ่มคนทั่วไป กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงควรให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการควบคุมโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่จะเกิดจากการปกปิดข้อมูล ส่วนกลุ่มคนปกติซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ ควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูล ไม่ควรหวาดวิตกจนเกินขอบเขต และควรวิพากษ์วิจารณ์ข่าวเกี่ยวกับผู้ติดเชื้ออย่างเห็นอกเห็นใจ ไม่วิพากษ์วิจารณ์เกินเลยจนเกิด Hate Crime ขึ้น 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1 https://health.ucdavis.edu/diversity-inclusion/resources/COVID-19/PDFs/Hate-Crimes-Talking-Points-for-COVID-19.pdf 

2 https://www.investopedia.com/terms/s/spillover-effect.asp 

3 https://www.iser.essex.ac.uk/blog/2020/07/29/is-hate-crime-rising-during-the-covid-19-crisis 

4 https://www.amarintv.com/news/detail/21447 

5 https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_3808716 

6 https://www.amarintv.com/news/detail/21447 

7 https://www.matichon.co.th/entertainment/thai-entertainment/news_2539558 

8 https://www.thairath.co.th/entertain/news/2026023 

9 https://www.dailynews.co.th/politics/821817 

10 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/915827 

11 https://brandinside.asia/japanese-restaurant-can-not-sell-raw-menu/ 

12 https://mgronline.com/business/detail/9630000129930 

13 https://www.iser.essex.ac.uk/blog/2020/07/29/is-hate-crime-rising-during-the-covid-19-crisis 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
31 มีนาคม 2563

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด