tdri logo
tdri logo
11 มีนาคม 2020
Read in Minutes

Views

แรงงานนอกระบบ กรณีค้าขายข้างถนน

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์

แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานที่มีความหลากหลายและเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จากการสำรวจแรงงงานนอกระบบโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2561 พบว่า ในจํานวนผู้มีงานทําทั้งสิ้น 38.3 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทํางานหรือที่ต่อไปนี้เรียกว่า “แรงงานนอกระบบ” จำนวน 21.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.3 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ ร้อยละ 44.7 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2561) แม้แรงงานนอกระบบจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย แต่มักเป็นกลุ่มคนที่ประสบปัญหาความผันผวนของรายได้ ชีวิตขาดความมั่นคง และมีความเปราะบางต่อความยากจน แรงงานกลุ่มนี้มักต้องทำงานหนัก แต่ได้รับผลตอบแทนจากการทำงานต่ำ แรงงานนอกระบบบางกลุ่มมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการจ้างงานต่อเนื่อง และบางกลุ่มยังมีปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การได้รับสารเคมีอันตราย ความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน ปัญหาฝุ่น ควัน เป็นต้น

การศึกษาของ Rockefeller Foundation (2013) ที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยจากการทำงานของแรงงานนอกระบบในบางประเทศ เช่น แรงงานนอกระบบในสาธารณรัฐกานา มักมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลต่ำ เพราะแรงงานมีรายได้ต่ำและแรงงานนอกระบบมักเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงของครอบครัว แรงงานนอกระบบที่ทำมาค้าขายริมถนนมักเจ็บป่วยด้วยอาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น อาการปวดหลัง ปวดข้อเข่า รวมถึงมีสภาพการทำงานในที่อากาศร้อนจัดและยังมีโอกาสได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่แพร่กระจายในที่สาธารณะข้างถนน ต้นทุนในการเจ็บป่วยของแรงงานนอกระบบคิดเป็นรายได้ประมาณ 2-6 สัปดาห์ ส่วนในประเทศอินเดียประมาณร้อยละ 92 ของแรงงานนอกระบบเห็นว่า การเจ็บป่วยจากการทำงานส่งผลให้พวกเขาสูญเสียรายได้ มีแรงงานนอกระบบประมาณร้อยละ 17 ที่ต้องว่างงานเพราะสาเหตุมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน และประมาณร้อยละ 57 เคยเจ็บป่วยและต้องสูญเสียรายได้จากการทำงานคิดเป็นรายได้ 10 วันทำงาน  ในขณะที่การเจ็บป่วยจากการทำงานของแรงงานนอกระบบในประเทศบังกลาเทศ ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียรายได้คิดเป็นรายได้ 1 เดือน

แรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพหลายประการเช่นเดียวกับแรงงานนอกระบบในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เพราะมีการทำงานที่สัมผัสความร้อนหรือทำงานกลางแจ้ง ทำงานที่สัมผัสสารเคมีและการทำงานที่ต้องยกของหนักหรืออยู่ในท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะแตกต่างกันตามลักษณะของอาชีพที่ทำ (น้ำเงิน จันทรมณี, 2560) ผลจากการศึกษาความเสี่ยงต่อสุขภาพในการทำงานของแรงงานนอกระบบในชุมชนมุสลิม พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าครึ่งมีสภาพการทำงานที่มีปัญหาต่อสุขภาพ ได้แก่ ยกของหนักหรือทำงานในท่าทางที่ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย สัมผัสแหล่งความร้อนหรือทำงานกลางแจ้งและบริเวณที่ทำงานมีฝุ่นละออง (อุสมาน แวหะยี และพัทธนันท์ คงทอง, 2554)

นอกจากความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยแล้ว แรงงานนอกระบบยังเปราะบางต่อความยากจนและการประกอบอาชีพ แรงงานนอกระบบจำนวนมากมีรายได้ต่ำ รายได้ไม่แน่นอน มีหนี้สินในอัตราที่สูง และมีการออมในอัตราที่ต่ำ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 พบว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มีการทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งแน่นอนว่ามักประสบกับปัญหาความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรและความผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในที่สุดทำให้รายได้ของเกษตรกรมีความไม่แน่นอนสูง

ความผันผวนของรายได้ของเกษตรกรนำมาซึ่งการเป็นหนี้ การศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร (2562) พบว่า การเป็นหนี้ครัวเรือนของแรงงานในภาคเกษตรกรรมมาจากรายได้เงินสดของครัวเรือนต่ำ ครัวเรือนมีทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งของครัวเรือนต่ำ อายุของหัวหน้าครัวเรือนโดยเฉลี่ยสูง ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนมักจะต่ำ และจำนวนสมาชิกครัวเรือนที่พึ่งพิงทำงานไม่ได้ในอัตราที่สูง สรา ชื่นโชคสันต์, ภาวนิศร์ ชัววัลลี และนายวิริยะ ดำรงค์ศิริ (2562) พบว่า ครัวเรือนเกษตรขาดการวางแผนทางการเงิน โดยมักใช้จ่ายและก่อหนี้ถึงแม้ในช่วงที่มีรายได้มั่นคง งานศึกษาเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนไทยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่าครัวเรือนไทย เป็นหนี้สูง เป็นหนี้กันเร็ว และเป็นหนี้นานตลอดช่วงชีวิต

ในการศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ต้องการชี้ให้เห็นว่าแรงงานนอกระบบมีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยและเปราะบางต่อความยากจนอย่างไร และแรงงานกลุ่มนี้มีความสามารถในการจัดการด้านการเงินและสุขภาพอย่างไร

เนื่องจาก แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่มีความหลากหลาย พฤติกรรมทางเศรษฐกิจและความเปราะบางของแรงงานนอกระบบกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐกิจและความเปราะบางของแรงงานนอกระบบกลุ่มอื่น ๆ ได้ การจะเข้าใจแรงงานนอกระบบในเชิงลึกจึงจำเป็นต้องจำเพาะกรณีศึกษาให้แคบเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบที่น่าจะมีความคล้ายกัน ในการศึกษานี้มุ่งประเด็นของแรงงานนอกขายของริมถนนไฮเวย์ที่อยู่ในเขตชนบทและการขายของแผงลอยที่อยู่ในเขตเมือง โดยเลือกจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นกรณีศึกษาเขตชนบท และเลือกกรุงเทพมหานครเป็นกรณีศึกษาเขตเมือง

แรงงานนอกระบบกรณีค้าขายข้างถนน

การศึกษาความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยและต่อความยากจนของแรงงานนอกระบบที่ทำมาค้าขายริมถนนไฮเวย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้วิธีการสำรวจโดยการสัมภาษณ์ด้วยแบบสอบถามในช่วงวันที่ 26-28 สิงหาคม 2562 การคัดเลือกจังหวัดเป็นแบบเจาะจงโดยมีเกณฑ์ว่าเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีเส้นทางไฮเวย์ที่มีรถผ่านจำนวนมาก มีสินค้าที่ขายริมถนนทั้งสินค้าเกษตรและนอกเกษตร นักวิจัยจำเป็นต้องปกปิดรายชื่อจังหวัด เนื่องจากแรงงานนอกระบบที่ค้าขายริมถนนไฮเวย์ในจังหวัดที่เลือกมีขนาดไม่ใหญ่มากและมีลักษณะเฉพาะ ถ้ามีการเปิดเผยชื่อจังหวัดที่ทำการสำรวจจะทำให้รู้ตัวตนอาสาสมัครที่ให้ข้อมูล และในการวิจัยนี้มีการสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะส่วนตัวของครัวเรือน และรายละเอียดเกี่ยวกับการค้าขายรวมถึงต้นทุนและกำไร การเปิดเผยรายละเอียดของจังหวัดและพื้นที่ทำมาหากินของอาสาสมัครผู้ให้ข้อมูลอาจเป็นผลเสียต่อการแข่งขันและการดำเนินกิจการค้าขายของผู้นั้นได้

การสำรวจเส้นทางถนนไฮเวย์ของจังหวัดที่เป็นพื้นที่วิจัยในเส้นทางเหนือจรดใต้และตะวันออกจรดตะวันตกของจังหวัด และเส้นวงแหวนโดยรอบของจังหวัด พบร้านค้าขายริมถนนรวมทั้งหมด 96 ร้านค้า (ในวันที่สำรวจ) เป็นร้านขายสินค้าในภาคเกษตรกรรม 64 ร้าน และร้านขายสินค้านอกภาคเกษตรกรรม 32 ร้าน ทีมวิจัยได้ทำการเลือกกลุ่มตัวอย่างกิจการร้านค้าทั้งหมด 54 ร้าน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 56 ของกิจการร้านค้าทั้งหมด โดยแบ่งเป็นกิจการค้าขายสินค้าในภาคเกษตรกรรมร้อยละ 44 ประกอบไปด้วยร้านผลไม้ ร้านข้าวโพด  ร้านรกวัว และร้านปลาแห้ง และกิจการค้าขายสินค้านอกภาคเกษตรกรรมร้อยละ 56 ประกอบไปด้วยร้านเปลี่ยนยางปัดน้ำฝน ร้านเขียง และร้านสายไหม สาเหตุที่เลือกสอบถามการค้าขายสินค้าด้านเกษตรน้อยกว่าเนื่องจาก สินค้าที่ขายเป็นสินค้าเกษตรชนิดเดียวกันที่ถูกนำมาขายตามฤดูกาลของสินค้านั้น ๆ

นักวิจัยได้ทำการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) มีผู้ประกอบกิจการที่ปฏิเสธการลงชื่อบนเอกสารแสดงความยินยอมการให้ข้อมูล 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 ของกิจการที่ถูกเลือกทั้งหมด ในกรณีที่พบเจอกิจการที่ขายสินค้าชนิดเดียวกันและตั้งบริเวณไม่ไกลกันมากนัก นักวิจัยจะเลือกเพียงร้านแรก เนื่องจากร้านที่ขายใกล้กันมักเป็นร้านค้าที่เป็นเจ้าของเดียวกันแต่กระจายร้านแยกกันขายเพื่อให้สามารถดักรถคันที่ขับมาด้วยความเร็ว และจอดรถเพื่อซื้อของร้านแรกไม่ทัน

ผลการศึกษาแรงงานนอกระบบค้าขายข้างถนน

แรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง มีอายุเฉลี่ย 45 ปี (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 11.65 ปี) ผู้ที่อายุมากที่สุดคือ 80 ปี ร้อยละ 61 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานเพศชาย สถานภาพการสมรสส่วนใหญ่สมรสและอยู่ด้วยกัน คิดเป็นร้อยละ 85 ของกลุ่มตัวอย่าง กิจการค้าขายริมถนนส่วนใหญ่จะเป็นกิจการที่ทำกันในครอบครัว โดยหนึ่งครอบครัวมักจะดำเนินกิจการเดียวกันหรือกิจการค้าขายที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ร้อยละ 54 ของกิจการทั้งหมดมีผู้ช่วยในกิจการที่เป็นบุคคลในครอบครัวและผู้ช่วยเหล่านี้มักไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน การสำรวจพบว่ามีเพียงร้อยละ 6 เป็นผู้ช่วยที่ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ประมาณร้อยละ 45 ของตัวอย่างเป็นคนที่มีพื้นเพอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดที่ทำการศึกษา แรงงานมักดำเนินกิจการในพื้นที่จังหวัดบ้านเกิดของตนเองและเปลี่ยนแปลงอาชีพไปตามสภาพเศรษฐกิจ ฤดูกาล และสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ๆ ร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างอาศัยอยู่ที่บ้านของตนเอง พบเพียงร้อยละ 2 ของกลุ่มตัวอย่างที่พักรีสอร์ทและเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเดือนละครั้ง ระยะทางเฉลี่ยจากที่พักอาศัยไปร้านค้าของตนเองประมาณ 11 กิโลเมตร (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19 กิโลเมตร) การมีรถของตนเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงาน

แรงงานส่วนใหญ่ให้เหตุผลของการมาดำเนินกิจการค้าขายริมถนนว่าเป็นการค้าขายที่ไม่ต้องทำสัญญากับใคร มีความเป็นอิสระ และไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ค้าขาย ลักษณะเช่นนี้แสดงว่าการค้าขายที่ตลาดมีการแข่งขันสูง มีผู้เข้าออกจากธุรกิจได้ตลอดเวลา ถ้ารายได้จากการค้าขายดี ก็จะมีคู่แข่งเข้ามาร่วมค้าขายทันที ดังนั้น แรงงานที่ขายของริมถนนเหล่านี้มักมีรายได้เพียงพอแก่จุดคุ้มทุนเท่านั้น ถ้าบริหารจัดการทางการเงินไม่ดีย่อมตกอยู่ภาวะติดหนี้ติดสินได้ง่าย

การสำรวจพบว่า ร้อยละ 3 ของกลุ่มตัวอย่างที่มีการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ดำเนินกิจการ กว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มตัวอย่างไม่ได้มีการจับจองพื้นที่ในการค้าขาย ส่วนแรงงานที่ทำการจับจองพื้นที่ ให้เหตุผลว่าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ค้าขายมานาน รวมถึงมีลูกค้าประจำ จึงมีการตั้งป้ายร้านไว้เพื่อจองพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าร้านค้าที่จองพื้นที่จะต้องมีคุณลักษณะบางอย่างที่ทำให้มีลูกค้าประจำกลับมา เช่น ร้านค้ารกวัวจะตั้งอยู่ในบริเวณเดิม ลูกค้าที่แวะซื้อรกวัวจะทราบว่าร้านค้าอยู่ตรงจุดไหน ร้านค้าเหล่านี้จะมีอำนาจทางการตลาดอยู่บ้าง กิจการลักษณะนี้จะมีรายได้ค่อนข้างสูง ผู้ค้าสินค้าเหล่านี้มีการแข่งขันน้อยราย แม่ค้ามีการลงทุนเพื่อหาสินค้ามาขายนานกว่าสินค้าชนิดอื่น ๆ แม่ค้าจะต้องมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าของตนเองที่ผู้อื่นเลียนแบบได้ยาก

จากการสัมภาษณ์พบว่า ร้อยละ 11 ของกลุ่มตัวอย่างมีพ่อค้าคนกลางช่วยจัดหาสินค้ามาให้ขาย แรงงานกลุ่มนี้มีรายได้สองประเภทคือ การรับจ้างขายรายวัน และการแบ่งกำไรกับพ่อค้าคนกลาง โดยพ่อค้าคนกลางจะนำสินค้ามาลงและคิดราคาต้นทุนต่อหน่วย ส่วนที่ผู้ค้าขายได้เกินต้นทุนจะถูกนำมาแบ่งกันระหว่างพ่อค้าคนกลางและผู้ค้า สินค้าที่ทำการค้าขายในลักษณะนี้ประกอบด้วยผู้ค้าขายสินค้าเกษตร แก้วมังกร ข้าวโพด ทุเรียน และมะพร้าว

ข้อมูลจากการสำรวจนำมาวิเคราะห์ความเปราะบางต่อความยากจนและความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยของแรงงานนอกระบบในเขตชนบทสรุปได้ดังต่อไปนี้

ความเปราะบางต่อความยากจน

1. ทำงานยาวนานต่อวันและไม่มีวันหยุดพักผ่อน

“หยุดก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนกิน”

นี่เป็นคำตอบที่คุ้นหูเมื่อถามถึงวันหยุดในหนึ่งสัปดาห์ของแรงงานนอกระบบเหล่านี้ จากการสำรวจพบเพียงร้อยละ 30 ของกลุ่มตัวอย่าง ที่มีวันหยุดในหนึ่งสัปดาห์ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีวันหยุด 1-2 วันต่อสัปดาห์ แรงงานนอกระบบมีวันหยุดไม่แน่นอนเหมือนกับอาชีพอื่น แรงงานบางส่วนหยุดงานเมื่อต้องไปหาหมอด้วยโรคประจำตัวหรือมีธุระจำเป็นที่ต้องไปทำด้วยตัวเองเท่านั้น แรงงานนอกระบบที่สำรวจเกือบทั้งหมดเริ่มงานก่อน 8 โมงเช้า บางรายเริ่มงานตั้งแต่ตี 5 และส่วนใหญ่ทำงานโดยเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน หรือโดยเฉลี่ย 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นับว่าเป็นเวลาการทำงานต่อวันที่ยาวนานมากกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้

นอกจากความเปราะบางที่เกิดจากการทำงานที่ยาวนานของแรงงานกลุ่มนี้แล้ว ยังมีความเปราะบางด้านความไม่แน่นอนของอาชีพและรายได้ที่ไม่มั่นคง จากการสำรวจพบว่า แรงงานจำนวนหนึ่งมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพและทำอาชีพเสริม รูปแบบการเปลี่ยนแปลงอาชีพจะแตกต่างกันออกไปตามประเภทของสินค้าที่ขาย ร้านขายสินค้าในภาคเกษตรกรรมมักจะประกอบอาชีพเสริมในภาคการเกษตร ร้านขายผลไม้มักจะขายผลไม้ตลอดทั้งปี เพียงแต่เปลี่ยนชนิดของผลไม้ไปตามฤดูกาล ส่วนร้านขายผลไม้ประจำฤดูกาลจะมีการทำเกษตรควบคู่กับการค้าขายผลไม้ไปด้วย ร้านขายสินค้านอกภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่จะขายสินค้าอย่างเดียวเพราะรับสินค้ามาเป็นล็อตใหญ่ ส่วนแรงงานบางรายที่เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นมักจะประกอบอาชีพที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง เช่น ร้านเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนเมื่อสิ้นฤดูฝนจะหันไปประกอบอาชีพเดิมที่ครอบครัวทำอยู่แล้ว เช่น ร้านขายอาหาร ทำการเกษตร และรับจ้างทั่วไป ส่วนร้านขายเขียง มุ้ง และหมวกสาน เมื่อถึงฤดูฝนที่เป็นอุปสรรคต่อการมาตั้งร้านค้าริมถนนจะพักไปทำเกษตรหรือขายสินค้ามือสอง

“จะเอาเงินจากไหนไปลงทุน”

การสัมภาษณ์แรงงานนอกระบบค้าขายริมถนน พบว่า ความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่กล้าลงทุนหรือเสี่ยงทำสิ่งใหม่ให้แก่กิจการตนเอง แรงงานยังคงทำการค้าตามแบบหรือแนวทางที่เรียนรู้มาจากครอบครัว ทั้งนี้ การขาดเงินทุนที่เป็น “สายป่าน” ในการทำการค้าขายได้ปิดกั้นทางเลือก อย่างไรก็ดี การกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนก็ดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัดด้วยเหตุที่ว่าภาวะหนี้สินคงค้างอยู่ยังหาหนทางปลดหนี้ได้ยาก

2. ทางเลือกในชีวิตต่ำ

การสำรวจพบว่าแรงงานนอกระบบมีระดับการศึกษาที่ไม่สูงมากนัก เช่นเดียวกับที่พบโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 กว่าร้อยละ 57 ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงสุดอยู่ที่ระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพเกิดจากการถ่ายทอดความรู้กันเองในครอบครัวเป็นการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่การเรียนรู้อาชีพจากการศึกษาในระบบ ทักษะที่ใช้ในการค้าขายไม่ซับซ้อน กว่าร้อยละ 76 ของกลุ่มตัวอย่างไม่มีธนาคารออนไลน์ (Internet Banking) ในจำนวนของผู้ที่ไม่มียังรวมไปถึงผู้ที่ไม่รู้จักเลยว่า Internet Banking คืออะไร ร้อยละ 34 ของกลุ่มตัวอย่างที่คิดว่าอาชีพของตนเองมีความไม่มั่นคงและมีความต้องการอยากประกอบอาชีพที่ดีกว่านี้ การสำรวจพบเพียงร้อยละ 46 ของกลุ่มตัวอย่างที่ประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 5 ปี ต้องการเปลี่ยนอาชีพแต่ไม่รู้ว่าควรที่จะเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอะไรดี

จากการสัมภาษณ์พบร้านค้าขายน้ำผึ้งร้านหนึ่ง เจ้าของร้านดำเนินธุรกิจนี้มาหลายสิบปี ในช่วงฤดูฝนที่พักจากการขายน้ำผึ้งริมถนนก็จะไปทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ เจ้าของร้านจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาตอนต้น เล่าถึงความลำบากในชีวิตสมัยเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือในระดับสูง ทำให้ปัจจุบันอยากไปประกอบอาชีพอื่นที่สบายกว่านี้แต่ก็ทำไม่ได้ ถึงแม้ธุรกิจขายน้ำผึ้งจะต้องคำนวณเงินทุกวันแต่เจ้าของร้านเองไม่สามารถคิดคำนวณตัวเลขได้เลย ใช้วิธีให้ลูกค้าคิดคำนวณให้ “ลูกค้าเขาไม่โกงหรอก ทำมาตั้งหลายสิบปีแล้ว” นักวิจัยเสนอตัวช่วยอย่างเครื่องคิดเลขและสอนการคำนวณอย่างง่ายให้ แต่เจ้าของร้านไม่ยินดีที่จะเรียนรู้เพราะเชื่อว่าทุกวันนี้ดำเนินธุรกิจแบบนี้ก็ไม่มีผลเสียอะไร จากสถานการณ์นี้ยิ่งสะท้อนไปถึงการมีทุนมนุษย์ที่ต่ำจึงทำให้แรงงานต้องทนต่อสู้กับความผันผวนทางรายได้ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและความเสี่ยงต่าง ๆ มาตลอดและยังคงทนกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ต่อไป  

เมื่อให้แรงงานแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของตนเองในอีก 3 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่คาดว่ารายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะลดลง (รูปที่ 1) แต่รายจ่ายจะเพิ่มมากขึ้น แรงงานที่มองว่ารายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นกลับมีจำนวนน้อยกว่าแรงงานที่มองว่ารายจ่ายในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น

ทำให้เห็นว่าแรงงานเหล่านี้รับรู้ได้ถึงความเปราะบางในอาชีพของตนเองที่กำลังดำเนินอยู่ และเขาเหล่านี้ยังมองว่าสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีท่าทีว่าจะดีขึ้นนั้นยังเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่กำลังจะต้องเผชิญ คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในชีวิตของตนเองของกลุ่มตัวอย่างที่ครัวเรือนไม่มีหนี้สินเท่ากับ 8.5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มที่ครัวเรือนมีหนี้สินที่เท่ากับ 7.5 คะแนน

3. ความสามารถในการจัดการเงินต่ำ

“จะเอาเงินจากไหนไปออม”

การสำรวจพบว่าเพียงร้อยละ 35 ของกลุ่มตัวอย่างมีการเก็บออม (รูปที่ 2) แต่พบว่าแรงงานบางรายที่มีการเก็บออมยังเข้าใจความหมายของการออมที่ผิดเพี้ยนไป บางเดือนที่มีเงินหมุนเวียนเหลือพอต่อการใช้จ่ายก็ถือว่านั่นเป็นเงินออม กว่าร้อยละ 56 ของกลุ่มตัวอย่าง ไม่เคยคำนวณกำไรขาดทุนของกิจการค้าขายของตนเองเลยเพราะเห็นว่าเป็นภาระและไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องคำนวณกำไรขาดทุน เมื่อประสบปัญหาเงินไม่พอต่อการลงทุนครั้งถัดไปมักจะแก้ปัญหาด้วยการก่อหนี้สิน ดังนั้น เมื่อถามถึงต้นทุนในการประกอบอาชีพผู้ค้าขายส่วนใหญ่ที่ลงทุนประกอบอาชีพเองไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางจึงไม่สามารถตอบรายละเอียดของต้นทุนที่ชัดเจนได้ ไม่สามารถรู้ได้ว่าในแต่ละวันลงทุนหรือได้กำไรทั้งหมดกี่บาท ค่าแรงของตนเองควรเป็นเท่าไร กว่าร้อยละ 89 ของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในครัวเรือนที่มีหนี้สิน ร้อยละ 76 ของผู้ที่ครัวเรือนมีหนี้สินเป็นหนี้สินในระบบ โดยหนี้สินคงค้างที่ต้องชำระเฉลี่ย 350,425 บาทต่อครัวเรือน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 642,569 บาท) ครัวเรือนมีหนี้สินส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ากู้มาเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ แต่เงินที่แรงงานเหล่านี้กู้มามักถูกรวมในกระเป๋าเดียวกันกับการใช้จ่ายในครัวเรือน

4. ผลตอบแทนจากการทำงานต่ำ

เมื่อไม่มีการคิดคำนวณต้นทุนจึงไม่ทราบกำไรขาดทุนในแต่ละรอบของการลงทุนค้าขาย แรงงานส่วนใหญ่ทราบแต่รายรับจากการค้าขาย การมีรายรับที่มากไม่ได้หมายความว่ามีกำไร แต่อาจสร้างภาพลวงตาว่ารายรับสูงก็สามารถใช้จ่ายสูงได้ หรืออาจกู้เงินเพิ่มเพราะหลงคิดว่ารายรับของกิจการดี จากการสัมภาษณ์ พบว่า รายรับเฉลี่ย (ก่อนหักต้นทุน) ต่อวันของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 1,774 บาท เป็นรายรับที่น้อยมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาการทำงานเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวันของแรงงานกลุ่มตัวอย่าง รายรับรวมเดือนล่าสุดของคนในครอบครัวเฉลี่ย 41,112 บาท (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 35,660 บาท) โดยเฉลี่ยรายได้รวมใช้เลี้ยงดู 2-6 คนต่อครอบครัว รายรับเฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 10,278 บาทต่อเดือน ถ้ามองลึกเข้าไปในแต่ละอาชีพของแรงงานนอกระบบเหล่านี้จะพบว่าทุกอาชีพล้วนใช้ทักษะที่แตกต่างกัน ซึ่งน่าเสียดายสำหรับทักษะที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ไม่ถูกนำไปเรียนรู้และต่อยอด เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเองและไม่ให้การเรียนในระบบมาจำกัดการหลุดพ้นจากความเปราะบางต่าง ๆ

แรงงานหลายรายที่มองว่า การที่ตนเองไม่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับชั้นสูง ๆ เหมือนคนอื่น ทำให้ต้องมาประกอบอาชีพที่ไม่มั่นคง การไม่มีเงินและไม่ได้เกิดมาในครอบครัวฐานะดี ทำให้ชีวิตปัจจุบันลำบาก แท้ที่จริงแล้วการที่แรงงานกลุ่มนี้ได้รับการเรียนในห้องเรียนที่ไม่สูงมากนัก แต่กลับมีทักษะในการประกอบอาชีพ สะท้อนให้เห็นว่าการมีต้นทุนการประกอบกิจการต่ำ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดของการเรียนรู้หรือลดโอกาสในการประกอบอาชีพ แต่การหยุดเรียนรู้และหยุดพัฒนาตนเองต่างหากที่มาจำกัดการหลุดพ้นจากความเปราะบางในชีวิต

ความเปราะบางต่อการเจ็บป่วย

กลุ่มตัวอย่างทุกรายมีสวัสดิการรักษาพยาบาลสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีประมาณร้อยละ 26 ไม่เคยใช้สิทธิสวัสดิการของตนเองเลย ร้อยละ 57 ของผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิสวัสดิการของตนเองให้เหตุผลว่าไม่เจ็บป่วย รองลงมาร้อยละ 36 เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยจึงเลือกซื้อยาทานเอง ส่วนผู้ที่เคยใช้สิทธิสวัสดิการของตนเองร้อยละ 86 ใช้ในด้านการรักษาอาการป่วยทั่วไป

  1. เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ

“กลัวแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องหาเงิน”

การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2561 กล่าวถึงปัญหาความเสี่ยงของแรงงานนอกระบบทั้งปัญหาการทำงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาความไม่ปลอดภัย การสำรวจแรงงานนอกระบบริมถนนไฮเวย์นี้พบว่า ร้อยละ 89 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าอาชีพของตนเองมีความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ และความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ลักษณะการประกอบอาชีพริมถนนไฮเวย์ที่มีรถผ่านจำนวนมากต้องเผชิญความเสี่ยงสูงจากภัยบนถนน ภัยจากสิ่งแวดล้อม และภัยจากอาชญากรรม กว่าร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่างมีความกังวลถึงปัญหาการโจรกรรม ผู้ค้าขายจำนวนหนึ่งเคยถูกแก๊งลักเล็กขโมยน้อย และเคยเผชิญกับผู้ที่ติดยาเสพติด

  • มีโรคจากการทำงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ร้อยละ 20 ของกลุ่มตัวอย่างมีโรคประจำตัว โรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มตัวอย่าง คือโรคกระเพาะอาหาร (ร้อยละ 45) โรคภูมิแพ้ (ร้อยละ 27) แรงงานที่เป็นโรคกระเพาะอาหารต่างให้เหตุผลว่า อาชีพของเขาทำให้ต้องตื่นเช้ากว่าปกติ ทำงานและกินอาหารไม่เป็นเวลา เนื่องจากเป็นกิจการค้าขายริมถนนไฮเวย์ที่อยู่ห่างไกลจากตลาดทำให้ไม่สะดวกในการหาร้านอาหารและยากที่จะทิ้งร้านออกไปซื้ออาหาร แรงงานบางรายห่อข้าวจากที่บ้านมาเพื่อทานมื้อกลางวัน บางรายเลือกทานช่วงสายเพื่อให้อิ่มท้องถึงช่วงเลิกงาน พฤติกรรมที่มาจากความจำใจและจำเป็นเหล่านี้ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง

  • ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง

ความเปราะบางของแรงงานนอกระบบที่ทราบกันดีนอกจากการทำงานหนัก รายได้ไม่มั่นคง ยังรวมถึงสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุมและปัจจัยหลากหลายที่ทำให้แรงงานเหล่านี้เข้าไม่ถึงสวัสดิการที่ตนเองมีอยู่ จากการสัมภาษณ์ร้อยละ 64 ของผู้ที่ป่วยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานับจากวันสัมภาษณ์ มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลแต่ไม่ได้ใช้เพราะข้อจำกัดของสิทธิที่แรงงานต้องรับบริการในช่วงเวลาราชการ นั่นหมายถึง ต้องหยุดงานเพื่อไปรับการรักษาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ตนเองมี การ “ปิดร้าน” เพื่อไปพบแพทย์จึงเป็นเหตุการณ์ที่ถูกประเมินว่าไม่คุ้มและมีผลต่อการหารายได้ที่ต้องเสียไปทั้งวัน

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีแรงงานที่รู้สึกป่วยและไม่สบายร้อยละ 41 ของกลุ่มตัวอย่าง อาการที่พบมากที่สุดคืออาการปวดหลังหรือปวดกล้ามเนื้อ (ร้อยละ 27) ประมาณร้อยละ 55 ของผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย เลือกรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีซื้อยามาทานเอง ร้อยละ 86 ให้เหตุผลว่าเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยและถ้าต้องเดินทางไปโรงพยาบาลต้องเสียเวลาทั้งวัน ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยที่ต้องจ่ายเอง 62.5 บาทต่อครั้ง (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 93.25 บาท) ผลเสียของการทานยาเองอย่างขาดความรู้มีหลายประการ การทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้ออาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้เป็นโรคกระเพาะอาหาร และในระยะยาวอาจจะมีความเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่รุนแรงขึ้น

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

อาชีพค้าขายริมถนนไฮเวย์เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงต้องเผชิญกับปริมาณรถจำนวนมากต่อวัน ทำให้โอกาสที่จะประสบภัยทางถนนสูง สภาพอากาศที่ร้อน และฝุ่นละอองจากถนนยังเป็นภัยทางสุขภาพสำหรับอาชีพนี้ การที่แรงงานนอกระบบจำนวนหนึ่งยังคงประกอบอาชีพนี้ทั้งที่ไม่ชอบ เพราะขาดทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่ที่ดีกว่า

การสำรวจแรงงานผู้ค้าขายริมถนนพบว่า แรงงานมีความเปราะบางต่อความยากจนและการเจ็บป่วย แรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย อาชีพที่ทำอยู่ใช้ทักษะที่ไม่ซับซ้อน สิ่งสำคัญที่ทำให้แรงงานมีความเปราะบางต่อความยากจนคือ การขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการทางการเงิน แรงงานไม่ทราบต้นทุนของการทำการค้า ไม่ทราบผลกำไรหรือขาดทุนจากการค้า ทราบแต่เพียงรายรับ แรงงานยังรวมเงินของกิจการค้าขายและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเข้าด้วยกัน ในวันที่มีรายรับสูงก็ทำให้สามารถใช้จ่ายสูง ส่วนในวันที่รายรับต่ำก็ทำการกู้ยืมโดยคิดว่าเป็นการกู้ยืมเพื่อลงทุน ทั้งนี้ การกู้ยืมยังถูกนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย

ความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยของผู้ค้าขายริมถนนไฮเวย์เกิดจากลักษณะของอาชีพที่ค้าขายที่อยู่ห่างไกลร้านค้าทำให้กินอาหารไม่เป็นเวลา แรงงานมักเป็นโรคกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพนี้มักเจ็บป่วยด้วยการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการไปพบแพทย์ด้วยการเจ็บป่วยเล็กน้อยสูงและมีผลต่อรายได้ทำให้ส่วนใหญ่ซื้อยาทานเอง การซื้อยาทานเองโดยขาดความรู้อาจเป็นความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในโรคอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้นได้

สำหรับข้อเสนอแนะในการลดความเสี่ยงในการเป็นผู้เปราะบางต่อความยากจนและการเจ็บป่วย ประกอบด้วย

  • การช่วยเหลือให้เข้าใจต้นทุนและการจัดการบัญชีของกิจการ แต่เนื่องจากผู้ค้าขายส่วนใหญ่มีอายุมาก มีการศึกษาน้อย และแทบจะไม่ใช้เทคโนโลยีช่วยในการประกอบอาชีพเลย การอบรมความรู้ใหม่แก่คนเหล่านี้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ดี การค้าขายของคนเหล่านี้มักมีผู้ช่วยที่เป็นคนในครอบครัว การอบรมความรู้เกี่ยวกับต้นทุนและการจัดการบัญชีของกิจการให้กับผู้ช่วยกิจการที่มีอายุน้อยและสามารถใช้เทคโนโลยีง่าย ๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ การให้สิ่งจูงใจเล็กน้อยแก่ผู้ช่วยเหล่านี้ในการเข้าอบรมความรู้ใหม่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการดำเนินงาน เช่น การรับสวัสดิการแห่งรัฐของครอบครัวต้องทำคู่กับการให้สมาชิกที่อายุน้อยได้รับการอบรมเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุน กำไรในดำเนินการค้าขายขนาดเล็ก เพราะในระยะยาวแล้วการทำให้ผู้ค้าขายทราบรายได้สุทธิจะช่วยให้ผู้ค้าขายสามารถประเมินการใช้จ่ายที่เหมาะสมได้ ไม่ใช้จ่ายเงินจากการประเมินเพียงรายรับดังเช่นที่ผ่านมา ถ้าแรงงานนอกระบบมีทักษะในการประเมินต้นทุนอย่างง่ายอาจจะช่วยลดปัญหาด้านหนึ้สินครัวเรือนได้บ้าง ประเด็นนี้อาจจำเป็นต้องการการวิจัยเชิงทดลองต่อไป
  • การลดปัญหาความเปราะบางจากการเจ็บป่วยอาจจะต้องใช้ทั้งวิธีการให้ความรู้และการสร้างแรงจูงใจในการปรับพฤติกรรม การที่ผู้ค้าขายเป็นโรคคล้าย ๆ กัน แสดงว่าขาดความรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วยพื้นฐานเหมือน ๆ กัน ความรู้พื้นฐาน เช่น การทานอาหารให้เป็นเวลา หรือการใช้ยาอย่างปลอดภัย ควรมีการให้ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้แก่แรงงานอย่างสม่ำเสมอ จนแรงงานสามารถปรับพฤติกรรมพื้นฐานสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพและการเลือกรับประทานอาหารของตนเองเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคต

อ่านต่อ : ผลการศึกษา แรงงานนอกระบบ กรณีค้าขายหาบเร่แผงลอย

เกี่ยวกับผู้เขียน
วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด