วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์
การสำรวจพบว่าแรงงานนอกระบบมีระดับการศึกษาที่ไม่สูงมากนัก เช่นเดียวกับที่พบโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 กว่าร้อยละ 59 ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ที่มีการศึกษาสูงสุดอยู่ที่ระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพเกิดจากการถ่ายทอดความรู้กันเองในครอบครัวเป็นการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่คนในครอบครัวร่วมทำด้วยกัน แต่แยกกันขายคนละตลาดเพื่อช่วยกันเพิ่มยอดขาย หรือกิจการที่พ่อแม่ทำมาก่อนและรุ่นลูกทำต่อ ไม่ใช่การเรียนรู้อาชีพจากการศึกษาในระบบ ทักษะที่ใช้ในการค้าขายไม่ซับซ้อน
จากการสัมภาษณ์พบร้านค้าร้านหนึ่ง ประกอบกิจการขายน้ำเต้าหู้และปาท่องโก๋ เป็นร้านค้าใหม่ที่เพิ่งเคยมาตั้งร้านค้าในตลาดที่เป็นพื้นที่ในการศึกษา ผู้ค้าให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับอาชีพว่าเหนื่อยและเบื่อที่ต้องหาบเร่แผงลอยไปเรื่อย ๆ รายได้ไม่มั่นคง เมื่อถามถึงอาชีพอื่นที่อยากทำ ผู้ค้าท่านนี้ตอบเพียงว่าอยากเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอะไรก็ได้ที่สบายและมั่นคงกว่านี้ รายได้หลังหักต้นทุนประมาณ 250-300 บาทต่อวัน ไม่นานหลังจากสัมภาษณ์เสร็จร้านค้าร้านนี้ก็ถูกไล่ที่ เพราะขนาดของร้านมีความกว้างไปเบียดร้านค้าเดิมที่ขายมานานแล้ว ประกอบกับผู้ค้ารายนี้มาจับจองที่หลังผู้อื่น ทำให้วันนั้นผู้ค้าร้านน้ำเต้าหู้ก็ต้องเก็บของย้ายสถานที่ไป ทั้งที่ในเวลานั้นเพิ่งจะมาตั้งร้านได้เพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ทำเลที่ตั้งของการค้าขายมีสำคัญต่อรายได้ การไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอนและต้องหาบเร่แผงลอยไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อหาลูกค้าเป็นต้นทุนในการทำมาหากิน
เมื่อให้แรงงานแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของตนเองในอีก 3 เดือนข้างหน้า ส่วนใหญ่คาดว่ารายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเท่าเดิม แต่รายจ่ายจะเพิ่มขึ้น แรงงานที่มองว่ารายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นกลับมีจำนวนน้อยกว่าแรงงานที่มองว่ารายจ่ายในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น (รูปที่ 3) ทำให้เห็นว่าแรงงานเหล่านี้รับรู้ได้ถึงความผันผวนของรายได้ และเขาเหล่านี้ยังมองว่าสภาพเศรษฐกิจเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่กำลังจะต้องเผชิญ คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในชีวิตของตนเองของกลุ่มตัวอย่างที่ครัวเรือนไม่มีหนี้สินเท่ากับ 8 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มที่ครัวเรือนมีหนี้สินที่มีคะแนนเท่ากับ 6.68 คะแนน
- ความสามารถในการจัดการเงินต่ำ
การสำรวจพบร้อยละ 56 ของแรงงานนอกระบบไม่มีการเก็บออม (รูปที่ 4) ส่วนผู้ที่มีการเก็บออมเป็นการเก็บออมในลักษณะของการใช้จ่ายก่อนเหลือเท่าไหร่จึงเก็บออม การสัมภาษณ์พบว่า ร้อยละ 51 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เคยคำนวณกำไรขาดทุนของกิจการ แรงงานเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำบัญชีเพราะไม่มีเวลา เมื่อถามถึงต้นทุนของการประกอบกิจการในแต่ละวัน แรงงานให้ข้อมูลต้นทุนได้ไม่ครบถ้วน อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่ารายรับจากการค้าขายพอเลี้ยงครอบครัวได้ ร้อยละ 56 ของแรงงานเป็นผู้ที่ครัวเรือนมีหนี้สิน ร้อยละ 55 ของผู้ที่ครัวเรือนมีหนี้สินเป็นหนี้สินในระบบ โดยหนี้สินคงค้างที่ต้องชำระเฉลี่ย 560,545 บาทต่อครัวเรือน (ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1,022,285 บาท) จากการสอบถามเพิ่มเติมพบว่า หนี้ก้อนโตมักเกิดจากการซื้อบ้านและรถ
- ผลตอบแทนจากการทำงานที่ต่ำ
เมื่อไม่มีการคิดคำนวณต้นทุนจึงไม่ทราบกำไรขาดทุนในแต่ละรอบของการลงทุนค้าขาย แรงงานส่วนใหญ่ทราบเพียงรายรับจากการค้าขาย จากการสัมภาษณ์ พบว่า รายรับเฉลี่ย (ก่อนหักต้นทุน) ต่อวันเท่ากับ 2,407 บาทต่อวัน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1,664 บาท) ระยะเวลาการทำงานเฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อวัน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.37 ชั่วโมง) รายได้รวมเดือนล่าสุดของคนในครอบครัวเฉลี่ย 29,179 บาท (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 26,261 บาท) โดยเฉลี่ยรายได้รวมใช้เลี้ยงดู 2-5 คนต่อครอบครัว รายรับเฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 9,726 บาทต่อเดือน ถึงแม้ว่าผู้ค้าเกือบทุกรายจะรับรู้ได้ถึงความไม่แน่นอนของรายได้และความเปราะบางของการประกอบอาชีพแต่น้อยรายที่จะกล้าคิดและลองทำสิ่งใหม่ ๆ
การจบการศึกษาในระดับที่ไม่สูงก็ดูเหมือนว่าจะเป็นข้อจำกัดที่แรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ใช้เป็นกรอบจำกัดตัวเองสำหรับการเรียนรู้และลองทำอะไรใหม่ ๆ ผู้ค้าที่อยากประกอบอาชีพอื่นที่มั่นคงกว่านี้ มักให้เหตุผลของการเป็นข้อจำกัดที่ไม่สามารถไปประกอบอาชีพอื่นได้ว่า ตนเองไม่มีความรู้และไม่มีเงินไปลงทุน แท้จริงแล้วการประกอบอาชีพที่ทำอยู่หรืออาชีพใหม่ ไม่ได้มีต้นทุนทางการเงินที่แตกต่างกันมากนัก ถ้าผู้ค้านำทักษะที่ตนเองมีและพัฒนาต่อยอดจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานและมีช่องทางในการพัฒนาฝีมือในการประกอบอาชีพได้
ความเปราะบางต่อการเจ็บป่วย
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 90 มีสวัสดิการรักษาพยาบาลสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่เหลือมีสิทธิการรักษาพยาบาลประกันสังคม ร้อยละ 31 ไม่เคยใช้สิทธิสวัสดิการของตนเองเลย ร้อยละ 50 ของผู้ที่ไม่เคยใช้สิทธิสวัสดิการของตนเองให้เหตุผลว่าเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 42 ไม่มีการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เคยใช้สิทธิสวัสดิการของตนเองร้อยละ 48 ใช้ในด้านการรักษาโรคประจำตัว ร้อยละ 69 ของผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและโรค
เนื่องจากพื้นที่การศึกษาเป็นตลาดในชุมชน พบว่าร้อยละ 62 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงทั้งด้านการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ ร้อยละ 26 ของกลุ่มตัวอย่างที่คิดว่าตนเองเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะได้รับอุบัติเหตุจากการประกอบกิจการค้าขาย เช่น มีดบาด น้ำร้อนลวก เป็นต้น ร้านค้าหาบเร่แผงลอยที่ค้าขายสินค้าประเภทที่สัมผัสกับมลพิษและฝุ่นควันอย่างชัดเจน เช่น ร้านค้าหมูปิ้ง ร้านค้าคอหมูย่าง และร้านปลาเผา จะรับรู้ได้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของตนเอง เพราะได้รับควันจากเตาเผาตลอดทั้งวัน กว่าร้อยละ 33 ของกลุ่มตัวอย่างมีความกังวลถึงปัญหาการโจรกรรมและผู้ที่ติดยาเสพติด
- มีโรคจากการทำงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน
ร้อยละ 33 ของกลุ่มตัวอย่างมีโรคประจำตัว โรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มตัวอย่าง คือโรคความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 69) ผู้ค้าขายที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต่างให้เหตุผลว่า โรคนี้เป็นโรคที่น่ารำคาญ บางวันที่ออกมาค้าขายก็จะมีอาการหน้ามืด ต้องหยุดพัก และต้องไปรับยาเป็นประจำ ผู้ค้าส่วนใหญ่จะไปหาหมอก็ต่อเมื่อมีอาการเจ็บป่วย จากการสัมภาษณ์ ร้อยละ 4 ของกลุ่มตัวอย่างที่ไปตรวจสุขภาพประจำปี ที่เหลือส่วนใหญ่จะไปหาหมอก็ต่อเมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือไปรับการรักษาโรคประจำตัว ร้อยละ 79 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เคยได้รับอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยจากการทำงานในอดีต
- ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง
สิทธิการรักษาพยาบาลที่แรงงานเหล่านี้ยังมีข้อจำกัด ทั้งสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวยหรือช่วงเวลาที่ต้องไปรับการรักษา ทำให้เมื่อถึงยามเจ็บป่วย แรงงานเหล่านี้มักเลือกที่จะไม่ไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลของตนเอง ร้อยละ 30 ของผู้ที่เจ็บป่วยครั้งล่าสุดเลือกที่จะซื้อยามารับประทานเอง ร้อยละ 38 ของผู้ที่เจ็บป่วยครั้งล่าสุดเลือกที่จะไม่ใช้สวัสดิการของตนเอง เพราะไม่สะดวกไปรับการรักษาในเวลาราชการ (ร้อยละ 33) ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยที่ต้องจ่ายเอง 711 บาทต่อครั้ง (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1,461 บาท)
ถึงแม้แรงงานจะรับรู้ถึงผลที่ตามมาจากการเจ็บป่วยว่า รบกวนการทำงานและเป็นภาระของการใช้ชีวิต แต่การที่ต้องหยุดงานไปเพื่อดูแลสุขภาพก็ยังดูเหมือนว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำ ปัญหาปากท้องยังเป็นเรื่องใหญ่กว่าปัญหาสุขภาพสำหรับแรงงานเหล่านี้อยู่
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
อาชีพค้าขายหาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงในด้านต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านสถานที่ในการค้าขาย ทำให้มีโอกาสประสบกับปัญหาในการประกอบอาชีพ แต่ที่แรงงานยังคงประกอบอาชีพนี้อยู่เพราะขาดทางเลือกในการประกอบอาชีพที่ดีกว่า
การสำรวจแรงงานผู้ค้าหาบเร่แผงลอยพบว่า แรงงานมีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยและความยากจน อาชีพที่ทำอยู่มักจะเป็นอาชีพที่คนในครอบครัวทำมาก่อน ปัจจัยที่ทำให้แรงงานเหล่านี้ประสบกับความเปราะบางคือ การขาดการตระหนักถึงอนาคตและการจัดการการเงินของตนเอง แรงงานส่วนใหญ่รู้สึกว่าอาชีพของตนไม่มั่นคงแต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรที่ดีกว่า ไม่ทราบแนวทางการนำความรู้และความสามารถที่มีไปประยุกต์ใช้และเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพให้แก่ตนเอง ขาดการจัดการทางการเงินที่เป็นระบบ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้แรงงานต้องทนประกอบอาชีพที่รู้สึกไม่มั่นคงต่อไป เพียงเพราะคิดว่าตนเองไม่มีโอกาสอย่างเช่นคนอื่น
ความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยของแรงงานผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ บ้างต้องย้ายสถานที่ค้าขายในแต่ละวัน ทำให้ไม่มีเวลาใส่ใจดูแลสุขภาพเท่าที่ควร มักเลือกทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แรงงงานส่วนใหญ่มักเจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัว ทำให้มีต้นทุนด้านสุขภาพที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ การขาดการดูแลสุขภาพจะยิ่งส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรัง
สำหรับข้อเสนอแนะในการลดความเสี่ยงในการเป็นผู้เปราะบางต่อการเจ็บป่วยและความยากจน ประกอบด้วย
- การลดความเสี่ยงด้านการประกอบอาชีพ ควรมีการส่งเสริมหรือจัดอบรมด้านการสร้างอาชีพ เพื่อให้แรงงานได้มีแนวทางสำหรับการนำเอาทักษะและความสามารถออกมาใช้ประโยชน์ รวมถึงเพิ่มโอกาสด้านความมั่นคงให้กับอาชีพของตนเอง ชี้แนะถึงความสำคัญในการจัดทำบัญชีต้นทุนอย่างง่ายในอาชีพค้าขาย ให้เห็นถึงกำไรสุทธิในแต่ละวันเพื่อวางแผนในอนาคตได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่การค้าขายไปวัน ๆ ดังเช่นที่ผ่านมา
- พื้นที่หรือทำเลเพื่อทำการค้าขายเป็นปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งของแรงงานผู้ค้าหาบเร่แผงลอย การต้องเสี่ยงกับการหาทำเลค้าขายสร้างความผันผวนของรายได้ การจัดหาพื้นที่ค้าขายในเมืองให้มีมาตรฐาน มีการจัดการที่ดี มีที่จอดรถ จะช่วยสร้างทำเลค้าขายที่ดีได้ ในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีพื้นที่ว่างเปล่าเล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่สามารถเป็นทำเลทองได้จำนวนมาก ถ้า กทม. มีการบริหารจัดการพื้นที่ค้าขายจุดต่าง ๆ อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยเหลือผู้ค้าขายหาบเร่แผงลอยให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ต้องเร่ร่อนหาพื้นที่ขายวันละสองหรือสามแห่ง อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านการหาพื้นที่ทำการค้าขายและความผันผวนของรายได้ ตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ที่มีจุดค้าขายกระจายอยู่หลายแห่ง โดยที่แต่ละแห่งมีการจัดการเป็นระบบ มีที่จอดรถ มีที่นั่งทานอาหาร ผู้ค้าไม่ต้องเร่หาพื้นที่ค้าขาย ทำให้เมืองสะอาด เรียบร้อย และน่าอยู่
การลดปัญหาความเปราะบางจากการเจ็บป่วยอาจจะต้องใช้ทั้งวิธีการให้ความรู้และปรับวิธีการให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เช่น ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก เมื่อแรงงานนอกระบบไม่สามารถไปพบแพทย์หรือพยาบาลได้ อาจจะต้องให้แพทย์และพยาบาลมาพบประชาชนแทน เช่น การให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพไปตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้แก่แรงงานถึงในตลาดนัด และทำการนัดให้พบแพทย์ถ้าเห็นว่าจำเป็น การสร้างความตระหนักในด้านสุขภาพและอบรมวิธีการดูแลรักษาสุขภาพที่ถูกต้องให้แก่ผู้ค้า เพื่อให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสุขภาพตนเองเป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเรื้อรังหรือการเจ็บป่วยจากการทำงานได้มากขึ้น
อ่านต่อ : ผลการศึกษา แรงงานนอกระบบ กรณีค้าขายข้างถนน
เกี่ยวกับผู้เขียน
วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ บุณฑริกา ชลพิทักษ์วงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และนักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์