รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
จากสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) มีครัวเรือนเกษตร จำนวน 5.91 ล้านครัวเรือนที่อยู่ในภาวะชราภาพ (หัวหน้าครัวเรือนอายุเฉลี่ย 57 ปี) (ในปีการผลิต 2560/61) สศก.ได้เปิดเผยข้อมูลว่า รายได้จากการเกษตรต่อครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อปีเฉลี่ยร้อยละ 7.6 ซึ่งดูเหมือนจะดีมีอนาคตแต่เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า พวกเขามีรายได้เพียงครัวเรือนละ 370,000 บาทต่อปี โดยมีรายได้จากการเกษตรจริงๆ เพียงร้อยละ 53 เท่านั้น รายได้ที่มาช่วยสนับสนุนร้อยละ 47 มาจากกิจกรรมไม่ใช่การเกษตร ขณะที่รายจ่ายต่อครัวเรือนยังต่ำกว่า จึงมีรายได้สุทธิเหลือไม่มากเพียง 74,483 บาทต่อครัวเรือน ครัวเรือนอยู่ร่วมกันมีขนาดเฉลี่ย 3.83 คน ดังนั้นรายได้สุทธิเฉลี่ยจึงต่ำมากมีเพียง 19,447 บาทต่อคน/ครัวเรือน/ปี หรือ 53 บาท/คน/วันเท่านั้น (ยังไม่รวมหนี้ที่ยังไม่ได้จ่ายคืน)
เห็นได้ว่ารายได้สุทธิของครัวเรือนจำนวนดังกล่าวไม่สามารถชำระหนี้ที่มียอดสูงถึง 212,586 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งรายได้สุทธิคิดเป็นร้อยละ 35 ของหนี้สินที่ต้องชำระเท่านั้น ยิ่งถ้าไม่มีรายได้นอกเกษตรมาช่วยแล้ว เกษตรยิ่งลำบากมากกว่านี้อีกมาก ในที่สุดหนี้สินต้องใช้วิธี “ผลัดผ้าขาวม้า” คือ เอาหนี้ใหม่ปลดหนี้เก่าและเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและนี่คือบ่อเกิดแห่งความยากจนแร้นแค้นของเกษตรกรสมควรได้รับการเยียวยาอย่างยิ่ง ผู้เขียนสนับสนุนรัฐบาลอย่างยิ่ง
ก่อนฤดูเพาะปลูกที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคาพืชผลหลักตกต่ำต่อเนื่องกันหลายปีและในฤดูกาลเพาะปลูกที่เพิ่งผ่านมา เกษตรกรต้องประสบปัญหาภัยแล้งจนผลิตผลเสียหายในวงกว้าง ทางรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการให้ความช่วยเหลือยังไม่สิ้นสุด และถึงจะไม่มีข้อมูลใหม่มาประเมินรายได้/รายจ่ายของครัวเรือนเกษตรก็คาดเดาได้ไม่ยากว่า เกษตรกรต้องลำบากยิ่งขึ้นทั้งรายได้ที่หดหายและหนี้สินที่พอกพูนขึ้นมาอีกแน่นอน แต่ความยากลำบากของเกษตรกรไม่เพียงแค่นี้เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน มีคนติดเชื้อสะสมทั่วโลกตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2563 จนถึงวันที่ 13 เมษายน เกินกว่า 1.85 ล้านคนกระจายไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก มีคนล้มตายจากพิษโควิด-19 นี้มากกว่า 114,000 คน
สำหรับสถิติของประเทศไทยถึงวันที่ 13 เมษายน 2563 (วันสงกรานต์) มีผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย หายป่วย 1,288 ราย เสียชีวิตสะสม 40 ราย อยู่ลำดับที่ 44 ของโลก แต่เรื่องที่เป็นปัญหาคือ การขยายของเชื้อไวรัสประเภทนี้ขยายไปถึง 68 จังหวัดทั่วประเทศ รัฐบาลมีนโยบายในการสกัดกั้นการขยายตัวของโรคโควิด-19 โดยใช้มาตรการทางกฎหมายในลักษณะผ่อนปรน กำหนดข้อห้ามให้ประชาชนอยู่กับบ้าน “กินร้อน ช้อนตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ” และมาตรการเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 4 ห้ามออกนอกบ้าน ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบมากมาย จากการประกาศปิดสถานประกอบการที่สุ่มเสี่ยงต่อการชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างสังคมอยู่กับบ้านและ “รักษาระยะห่าง” (Social distancing) ซึ่งคนทำงานและ/หรือแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉินมีประกาศใช้แล้ว 3 ฉบับในช่วงสองเดือนเศษที่ผ่านมา รัฐบาลได้กำหนดมาตรการมากมาย ประชาชนถูกขอร้องให้อยู่แต่ในบ้าน พระอยู่แต่ในวัด สถานศึกษาและสถานประกอบการที่มีคนหมู่มากมารวมกันปิดทั้งหมด การรวมตัวกันทำได้ไม่ควรเกิน 4 คน โดยต้องนั่งห่างกันในระยะที่กำหนด ช่วงเคอร์ฟิวทุกจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานครแทบจะเป็นเมืองร้าง ความเดือดร้อนเนื่องจากทำมาหากินไม่ได้หรือพอจะทำได้แต่ลูกค้าก็ลดน้อยจนขาดทุนกระจายไปทุกแห่งทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และคาดว่าจะขยายต่อไปจนครบ 6 เดือน โดยมีผู้เดือดร้อนได้รับเงินเยียวยารุ่นแรก 3 ล้านคนส่วนมากเป็นแรงงานอิสระก่อนเริ่มจ่ายเงินรุ่นแรกไปแล้วและจะทยอยจ่ายให้ผู้ที่เข้าข่ายถูกต้องตามเงื่อนไขจนครบประมาณ 9 ล้านคน โดยรัฐจะใช้เงินประมาณ 270,000 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณแผ่นดิน
ที่สำคัญที่สุดผู้เขียนเน้นในครั้งนี้คือ รัฐบาลตัดสินใจที่จะเยียวยาเกษตรกร ซึ่งได้รับการยกเว้นจากมาตรการ “เยียวยา 5,000 บาท” ช่วง 3 เดือนแรกมาก่อน แต่หลังจากการประชุมวันที่ 10 เมษายน 2563 ทางกระทรวงการคลังได้พิจารณาให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวบรวมข้อมูลว่า มีเกษตรกรจำนวนเท่าไรเพื่อเยียวยาให้ใกล้เคียงกับกลุ่มอาชีพอิสระซึ่งเพิ่งเริ่มทยอยโอนเงินให้อยู่ในขณะนี้
เนื่องจากเกษตรกรเองก็เดือดร้อนจากราคาพืชผลตกต่ำมายาวนาน ต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้งพืชผลเสียหาย ขาดรายได้ ซ้ำยังถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิค-19 อีกด้วย ทำให้การทำมาหากินหลังฤดูการเกษตรเพื่อหารายได้เสริมร้อยละ 47 ของรายได้ของเกษตรกรต่อครัวเรือนส่วนนี้เกือบจะทำไม่ได้และระยะเวลาก็ใกล้ถึงฤดูการผลิตในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า แต่ขณะนี้เกษตรกรเดือดร้อนจากการขาดรายได้อย่างแสนสาหัสจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเช่นกัน แต่ที่สำคัญคือกระทรวงการคลังไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์เหมือนกับกลุ่มอื่นๆที่จะเอามาคัดกรองคน 27 ล้านคนที่ลงทะเบียนไว้ว่าใครคือเกษตรกรที่พึงได้รับเงินเยียวยาใน 9 ล้านครัวเรือน
การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆพบว่าขณะนี้ยอดครัวเรือนของเกษตรกรตามสถิติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรน่าจะอยู่ที่ 5.91 ล้านครัวเรือน แต่ตัวเลขประเมินของ ธ.ก.ส. ที่เคยมีลูกค้ามาลงทะเบียนอยู่กับธนาคารฯ มีอยู่ประมาณ 6 ล้านรายและเมื่อรวมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มอื่นๆแล้วก็น่าจะอยู่ประมาณ 9 ล้านราย ทาง ธ.ก.ส. น่าจะมีบัญชีอยู่แล้วเกือบทั้งหมดของทุกรายสามารถโอนเงินผ่านทางระบบได้เลย แต่ก็เชื่อว่ายังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากไม่เคยจดทะเบียนขอรับเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐผ่าน ธ.ก.ส. แต่รัฐบาลไม่มีบัญชีคนกลุ่มนี้ที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังสับสนกับสมาชิกของครัวเรือนเฉลี่ยประมาณ 4 คน ทุกคนเป็นเกษตรกรหรือไม่ จึงทำให้เกิดความไม่แน่นอนของการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเป็น “ครอบครัว” หรือ “จำนวนคน (อาจจะเป็นหัวหน้าครัวเรือน)” ทำให้ต้องใช้เวลาหาข้อมูล
ผู้เขียนลองใช้ข้อมูลจากชุดการสำรวจการมีงานทำของประชากร ไตรมาส 3 ปี 2562 มาเป็นบรรทัดฐานในการคัดเลือก “ครัวเรือนเกษตร” จากคำจำกัดความว่า ต้องมีคนในครอบครัวทำการเกษตรอย่างน้อย 1 คน พบว่า จะมีครัวเรือนลักษณะนี้ถึง 18.83 ล้านครัวเรือน โดยสามารถแบ่งจำแนกครัวเรือน (มีคนทำการเกษตร 1 คน) ออกได้เป็น 7 กลุ่ม คือ (1) ทำการเกษตร (ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำประมง) กลุ่มใหญ่ที่สุด 11.81 ล้านคน (2) กลุ่มเป็นสมาชิกครัวเรือน เป็นพนักงานบริการ พนักงานขาย นักการตลาด (อาจจะ online) 1.94 ล้านคน (3) อาชีพพื้นฐาน เช่น รับจ้างการเกษตรฯ จำนวน 1.76 ล้านคน (4) ทำธุรกิจที่มีทักษะสูง (Skilled person) 1.17 ล้านคน (5) ทำงานช่างเทคนิค งานวิชาชีพขั้นสูง เช่น ราชการ ทนายความ ผู้พิพากษา 1.08 ล้านคน (6) กลุ่มลูกจ้างแรงงาน 0.72 ล้านคน และสุดท้าย (7) อาชีพเสมียน 0.35 ล้านคน
จากกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นสมาชิกของครัวเรือนเกษตรนั้นมีมากมาย การให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ (2-7) นี้อาจจะต้องตรวจสอบสิทธิกับกลุ่มที่ลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” รวมทั้งใช้วิธีอื่นๆ ประกอบคือ การเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 40 (ซึ่งมีชื่ออยู่แล้วจากการโอนเงินผ่านธนาคารต่างๆ) กลุ่มที่น่าคัดออกคือ กลุ่ม 2 กลุ่ม 4 กลุ่ม 5 กลุ่ม 6 และกลุ่ม 7 (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)
ดังนั้น จึงเหลือกลุ่ม 1 (11.81 ล้านคน) และกลุ่ม 3 (1.76 ล้านคน) ไว้พิจารณาว่าเป็นครัวเรือนเกษตรซึ่งมีจำนวนรวมกัน 13.57 ล้านคน โดยจำนวนนี้ต่างจากครัวเรือนเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 5.91 ล้านคน มากกว่าที่ ธ.ก.ส. ประมาณการเบื้องต้นเอาไว้ 9 ล้านคน ดังนั้น การพิจารณาถึงหลักเกณฑ์คัดออกจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง เช่น เกษตรกรบางราย (ส่วนใหญ่) เป็นสมาชิกกลุ่มเงินกู้ของ ธ.ก.ส. แต่ยังมีสมาชิกกลุ่มเกษตรกรซึ่งอาจจะคาบเกี่ยวกันหรือเป็นคนละกลุ่มก็ได้ เป็นต้น
ไม่ว่า ธ.ก.ส. จะเสนอจำนวนเกษตรกรผู้รับสิทธิเป็นจำนวนเท่าไร มีแนวโน้มที่ 9 ล้านคนนี้อาจจะน้อยเกินไปที่จะครอบคลุมผู้ที่ถูกเรียกว่า “เกษตรกร” ได้ครบถ้วน จากระบบการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการคราวที่แล้ว “เราไม่ทิ้งกัน” เคยยกเว้นเกษตรกรพร้อมสมาชิกครัวเรือนเอาไว้ 17 ล้านคน ตัวเลขจากผู้เขียนที่นำเสนอไปแล้วว่า เกษตรกรและสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับครัวเรือนมีมากกว่า 9 ล้านคนแน่นอน ถ้ายังยืนตัวเลข 9 ล้านคนคงมีเกษตรกรที่กำลังอยู่อย่างยากลำบากรอคอยการเยียวยาต้องผิดหวังเป็นจำนวนหลายล้านคน น่าเห็นใจจริงๆ
ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”
ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)