วิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย เปรียบเทียบกับประเทศต่างๆในโลก

การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสหรือโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดวิกฤติต่อโลกที่ไม่ได้ประสบความสาหัสเช่นนี้มานานหลายสิบปี เชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปมากกว่า 100 ประเทศ โดยเริ่มต้นการระบาดครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 ที่นครอู่ฮั่น เมืองหลวงมณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ถึงแม้ว่าโรคนี้ได้ก่อให้เกิดอัตราการตายที่ต่ำกว่าโรคระบาด อย่าง SARS Ebola และ MERS การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความเร็วกว่าโรคเหล่านั้นเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 ทั้งโลกมีผู้ติดเชื้อไปแล้วทั้งหมด 5.9 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 3.7 แสนคนซึ่งคิดเป็นอัตราการตายเท่ากับร้อยละ 6 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ 

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องสุขภาพ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะการผลิตหรือการค้าของโลก อันเนื่องมาจากมาตรการล็อคดาวน์ของแต่ละประเทศเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ โดยรวมแล้วการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้สร้างความเสียต่อทั้งโลกเป็นมูลค่าประมาณ 8.1 ถึง 15.8 ล้านล้านเหรียญดอลลาห์สหรัฐ1 รัฐบาลทั่วทั้งโลกจึงได้ออกมาตรการทั้งทางด้านการเงินและการคลังเพื่อเยียวยาความเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามนโยบายบรรเทาเศรษฐกิจดูเหมือนอาจจะไม่เพียงพอที่จะต้านทานความรุนแรงดังกล่าว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)2 ได้คาดการณ์ว่าในปี 2562 อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะยังคงติดลบร้อยละ 3 ต่อจีดีพีซึ่งติดลบมากกว่าตอนเกิดวิกฤติการเงินโลกในช่วงปี 2551 ถึง 2552 (2008-09 financial crisis) 

แม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจโลกอาจจะดูเหมือนว่าได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก แต่ละประเทศก็อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันซึ่งอาจเป็นไปได้ในหลายสาเหตุ เช่น ความแตกต่างของระดับความรุนแรงของปัญหาการแพร่ระบาด ขนาดการอัดฉีดหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางการเงินและการคลัง ระดับความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการที่หลากหลายเพื่อตอบโต้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการจำกัดการเข้าออกระหว่างประเทศ มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 1.9 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 9.6 ของจีดีพีประเทศไทยปี 2562 แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ทราบอยู่ดีว่ามาตรการเหล่านี้เพียงพอต่อการบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจแล้วหรือไม่ 

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยตอบคำถามนี้ได้คือการเปรียบเทียบมาตรการตอบโต้โควิด-19 และผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยกับต่างประเทศทั่วโลก วิธีนี้สามารถช่วยทำให้เราเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่าภาครัฐได้พยายามมากน้อยเพียงใดในการต่อสู้กับปัญหาโควิด-19 และผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีคุณภาพมากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบต่างประเทศ ผู้วิจัยจึงได้รวบรวมข้อมูลมาตรการตอบโต้และค่าคาดการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของ 150 ประเทศทั่วโลก แล้วนำมาลำดับและจัดกลุ่มประเทศที่มีความพยายามและผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน 

การรวบรวมข้อมูล 

ผู้วิจัยใช้ข้อมูลการคาดการณ์เศรษฐกิจจากรายงาน World Economic Outlook ของ IMF เดือนเมษายนปี 2563 เพื่อคำนวณหาความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิธีนี้เป็นวิธีหาผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจทางอ้อมรูปแบบหนึ่ง เนื่องด้วย IMF ได้คาดการณ์อนาคตของการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศปี 2563 และ 2564 ออกมา 2 ฐาน ฐานแรก IMF ได้คาดการณ์ไว้เมื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2562 จากข้อมูลนโยบายรัฐและสภาพเศรษฐกิจก่อนที่จะมีปัญหาโควิด-19 ส่วนอีกฐานหนึ่ง IMF ได้คาดการณ์จากสภาพเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายรัฐหลังปัญหาโควิด-19 ได้ประทุขึ้นซึ่ง IMF ได้รวบรวมข้อมูลจนถึงวันที่ 7 เดือนเมษายน ปี 2563 ดังนั้น ผู้วิจัยจึงคำนวณหาความแตกต่างระหว่างผลการคาดการณ์เฉลี่ยระหว่างปี 2563 และ 2564 ของช่วงก่อนมีโควิด-19 และหลังโควิด-19 เพื่อนำมาเป็นใช้อ้างอิงเป็นผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและการต่อสู้ด้วยนโยบายรัฐของแต่ละประเทศ ด้วยวิธีการคำนวณดังกล่าว ทำให้พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปี 2563 และ 2564 ที่ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนมีโควิด-19 อยู่ที่ร้อยละ 8.4 ของจีดีพีปี 2562 

ถัดมาคือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้วิจัยได้ใช้ข้อมูลจาก European CDC ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 โดยนำข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อมาหารด้วยจำนวนประชากรของแต่ละประเทศเพื่อหาอัตราการติดเชื้อของประชาชน แล้วนำค่าที่ได้นี้ไปใช้อ้างอิงเป็นความรุนแรงของปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ของแต่ละประเทศ 

ส่วนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางการเงินและการคลังของแต่ละประเทศ ผู้วิจัยได้รวบรวมจาก IMF COVID-19 Policy Tracker และสื่อออนไลน์ต่างๆ แล้วบันทึกเป็นในรูปของสัดส่วนต่อจีดีพี โดยมาตรทางการคลังได้ครอบคลุมถึงมาตรการผ่อนปรนทางภาษี การสนับสนุนทางการเงินให้กับแต่ละครัวเรือน มาตรการช่วยเหลือธุรกิจและผู้ประกอบการ และรายจ่ายด้านสาธารณสุข 
ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ส่วนมาตรการทางการเงินประกอบไปด้วยมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของธนาคารกลาง  
การจัดตั้งกองทุนและแหล่งกู้ยืมพิเศษเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ และการค้ำประกันหนี้โดยภาครัฐ 

กลุ่มมาตรการตอบโต้ของภาครัฐต่อโควิด-19 กลุ่มสุดท้ายคือมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการด้านสุขภาพ ในส่วนนี้ผู้วิจัยได้อ้างอิงจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจาก Oxford COVID-19 Government Response Tracker ซึ่งกลุ่มผู้จัดทำรายงานจาก Oxford นี้ได้สร้างดัชนีแทนระดับความเข้มงวดของแต่ละมาตรการที่ภาครัฐของแต่ละประเทศได้กำหนดใช้ โดยในด้านมาตรการล็อกดาวน์ประกอบไปด้วย การประกาศปิดสถานศึกษา การประกาศปิดสถานที่การทำงาน มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม ข้อจำกัดในการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ ส่วนมาตรการด้านสุขภาพประกอบไปด้วยการแจ้งข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาตรการการตรวจค้นหากลุ่มผู้ติดเชื้อ และมาตรการการติดตามกลุ่มผู้ติดเชื้อ โดยมาตรการทั้งหมดตั้งแต่การเงินการคลัง ล็อกดาวน์ และด้านสุขภาพ ผู้วิจัยได้รวบรวมจนถึงวันที่ 7 เมษายน 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับวันที่ IMF รวบรวมข้อมูลเป็นวันสุดท้ายเพื่อใช้คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

การจัดอันดับความพยายามในการตอบโต้กับโควิด-19 และผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย 

ผู้วิจัยได้ใช้เปอร์เซ็นไทล์เป็นเครื่องมือทางสถิติกำหนดตำแหน่งหรืออันดับของตัวแปรทั้งหมดที่ได้รวบรวมมา ได้แก่ ผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจ อัตราการติดเชื้อ สัดส่วนของขนาดมาตรการด้านการคลังต่อจีดีพี สัดส่วนของมาตรการด้านการเงินต่อจีดีพี ดัชนีความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์ และดัชนีความพร้อมมาตรการด้านสุขภาพ ซี่งพบข้อมูลที่น่าสนใจดังรูปที่ 1 ดังนี้  

รูปที่ 1 (ก)-(ฉ): ผลการวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ 

(ก) ระดับสถานการณ์ปัญหา (อันดับเปอร์เซ็นไทล์, ค่าน้อยแปลว่ามีระดับการติดเชื้อในประเทศที่ต่ำ)  

(ข) ระดับมาตรการด้านสุขภาพ (อันดับเปอร์เซ็นไทล์, ค่าน้อยแปลว่ามีมาตรการด้านสุขภาพน้อย) 

(ค) ระดับมาตรการทางด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค (อันดับเปอร์เซ็นไทล์, ค่าน้อยแปลว่ามีมาตรการด้านการควบคุมการแพร่ระบาดน้อย) 

(ง) ระดับมาตรการทางด้านการคลัง (อันดับเปอร์เซ็นไทล์, ค่าน้อยแปลว่ามีมาตรการด้านการอัดฉีดทางด้านการคลังน้อย) 

(จ) ระดับมาตรการทางด้านการเงิน (อันดับเปอร์เซ็นไทล์, ค่าน้อยแปลว่ามีมาตรการด้านการอัดฉีดทางด้านการเงินน้อย) 

(ฉ) ระดับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ (อันดับเปอร์เซ็นไทล์, ค่าน้อยแปลว่ามีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจน้อย) 

ที่มา: รวบรวมและประมวลผลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อาศัยข้อมูลจาก University of Oxford และ IMF 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่แย่มากนักซึ่งอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์ที่ประมาณ 20 ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยมีอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประเทศจำนวน 150 ประเทศ หรือมีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ส่วนมาตรการด้านสุขภาพของไทยจัดอยู่ในอันดับประมาณเปอร์เซ็นไทล์ที่ 70 ซึ่งใกล้เคียงกับมาตรการด้านการเงินที่อยู่ในดับประมาณเปอร์เซ็นไทล์ที่ 70 เช่นเดียวกัน ในขณะที่มาตรการด้านการคลังไทยถูกจัดอยู่ในอันดับเปอร์เซ็นไทล์เกือบที่ 80 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับมาตรการด้านอื่นๆ โดยมีมาตรการด้านล็อกดาวน์ที่ไทยค่อนข้างเข้มงวดน้อยกว่าหลายประเทศซึ่งถูกจัดในอันดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 35 สุดท้ายสำหรับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจของไทย ปรากฎว่าค่อนข้างแย่กว่าหลายประเทศซึ่งอยู่ในอันดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 หรือกล่าวคือ ประเทศไทยได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 90 ของ 150 ประเทศทั่วโลก หรือเสียหายหนักกว่าประมาณ 135 ประเทศจาก 150 ประเทศทั่วโลก 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ประสบปัญหาการแพร่ระบาดหนักเท่ากับหลายๆ ประเทศ รวมถึงยังมีการใช้นโยบายด้านสุขภาพอย่างเช่นคุณภาพของการสื่อสารที่ค่อนข้างดีโดยเปรียบเทียบ มาตรการล็อกดาวน์ที่มักเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของภาวะซบเซาขั้นรุนแรงของเศรษฐกิจของไทยก็ไม่ได้อยู่ในอันดับที่เข้มงวดมากนัก และโดยเฉพาะมาตรการอัดฉีดทั้งด้านการเงินและการคลังก็สูงกว่าต่างประเทศจำนวนมาก เศรษฐกิจของไทยยังกลับเสียหายมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงพอให้สามารถตั้งสมมติฐานได้ในระดับหนึ่งว่าปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยไม่ใช่ปัญหาด้านสุขภาพ แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจเสียมากกว่า 

การจัดกลุ่มประเทศที่มีความพยายามและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน 

สำหรับการขั้นตอนการจัดกลุ่มประเทศ ผู้วิจัยได้นำการแบ่งกลุ่มแบบเคมีน (K-means clustering) เข้ามาประยุกต์ใช้จัดกลุ่มประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ขั้นแรกคือการจัดกลุ่มประเทศที่มีระดับปัญหาของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ใกล้เคียงกันไว้กลุ่มเดียวกันโดยใช้อัตราการแพร่ระบาดเป็นตัวกำหนด จากการแบ่งกลุ่มด้วยเคมีนทำให้ได้กลุ่มที่แตกต่างกันออกมา 4 กลุ่มได้แก่ (1) กลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดในระดับสูงที่สุด (อัตราการแพร่ระบาดเฉลี่ยของกลุ่มนี้คือร้อยละ 0.50) (2) กลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดในระดับสูง (อัตราการแพร่ระบาดเฉลี่ยของกลุ่มนี้คือร้อยละ 0.33) (3) กลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดในระดับกลาง (อัตราการแพร่ระบาดเฉลี่ยของกลุ่มนี้คือร้อยละ 0.18) และ (4) กลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดในระดับต่ำที่สุด (อัตราการแพร่ระบาดเฉลี่ยของกลุ่มนี้คือร้อยละ 0.02) โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 4 หรือกลุ่มที่มีอัตราการแพร่ระบาดต่ำที่สุด ซึ่งกลุ่มนี้มีจำนวนทั้งหมด 105 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปแลนด์ โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม 

ขั้นต่อมาคือการวิเคราะห์การแบ่งกลุ่มย่อยเฉพาะภายในกลุ่มที่ 4 ที่มีประเทศไทยอยู่ด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีระดับปัญหาการแพร่ระบาดที่ใกล้เคียงกัน สำหรับขั้นตอนนี้ ยังคงใช้การแบ่งกลุ่มแบบเคมีนเช่นเดิมแต่เป็นการแบ่งแบบสองมิติหรือสองแกน โดยมิติแรกคือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นแนวแกนตั้ง และมิติที่สองคือมาตรการภาครัฐทั้งหมดเป็นแกนนอน ได้แก่ ดัชนีมาตรการด้านสุขภาพ ดัชนีด้านการล็อกดาวน์ มาตรการด้านการคลัง และมาตรการด้านการเงิน กลุ่มประเทศที่มีความพยายามในการตอบโต้โควิด-19 ผ่านแต่ละมาตรการ และผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันจะถูกจัดไว้ในกลุ่มเดียวกันซึ่งแบ่งเป็นตามสี โดยกลุ่มที่มีประเทศไทยอยู่ด้วยในแต่ละภาพจะมีกรอบเส้นประสีแดงล้อมอยู่ (รูปที่ 2) 

รูปที่ 2 (ก) – (ข): ผลการจัดกลุ่มประเทศที่มีความพยายามในการตอบโต้โควิด-19 กับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน 

(ก) มาตรการด้านสุขภาพกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ 

(ข) มาตรการด้านการล็อกดาวน์กับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ 

(ค) มาตรการทางด้านการคลังกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ 

(ง) มาตรการด้านการเงินกับผลลัพธ์ทางด้านเศรษฐกิจ 

ที่มา: รวบรวมและประมวลผลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อาศัยข้อมูลจาก University of Oxford และ IMF 

สำหรับกลุ่มประเทศที่มีปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 หรืออัตราการแพร่ระบาดที่ใกล้เคียงกันจำนวน 105 ประเทศ ประเทศไทยถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเข้มข้นในการดำเนินนโยบายเพื่อตอบโต้การแพร่ระบาดของวิด-19 อยู่ในระดับสูงเกือบทั้งหมด แต่มีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่จัดอยู่ในกลุ่มระดับกลางจนไปถึงระดับต่ำที่สุด  

กลุ่มประเทศที่มีดำเนินนโยบายด้านสุขภาพได้ดีที่สุดและได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือกลุ่มของประเทศเช่น จีน ไต้หวัน กานา เวียดนาม ฮังการี อียิปต์ ศรีลังกา ส่วนไทยได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ดำเนินนโยบายด้านสุขภาพที่ดีที่สุดเช่นเดียวกัน แต่มีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในระดับกลางซึ่งมีประเทศนอกเหนือจากไทยในกลุ่มนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก ลิทัวเนีย นิวซีแลนด์ จอร์เจีย สโลวีเนีย และโรมาเนีย 

มาตรการถัดมาคือมาตรการด้านการล็อกดาวน์ ซึ่งจากผลข้างต้นแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่าประเทศที่มีความเข้มงวดในการควบคุมโรคโควิด-19 ที่สูงก็มักจะมีความเสียหายทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามระดับความเข้มงวด โดยมีกลุ่มประเทศบางแห่งที่น่าสนใจที่ดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดมากแต่กลับก่อให้เกิดความเสียต่อเศรษฐกิจต่ำ เช่น อียิปต์ บังกลาเทศ เคนย่า อาเจนติน่า ส่วนประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดที่สุดและได้รับผลเสียทางเศรษฐกิจในระดับกลาง โดยกลุ่มนี้มีประเทศอื่นๆ ได้แก่ โปแลนด์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นิวซีแลนด์ เม็กซิโก โรมาเนีย และออสเตรเลีย เป็นต้น 

ส่วนมาตรการทางด้านการคลัง ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเดียวที่ดำเนินนโยบายการอัดฉีดผ่านเครื่องมือทางการคลังในระดับที่สูงที่สุดและได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดเช่นเดียวกัน ส่วนระดับกลุ่มที่ดำเนินนโยบายด้านการคลังในระดับรองลงมาและได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี ประกอบไปด้วย มาเลเซีย ปารากวัย ปาปัวนิวกินี กาบอง และไต้หวัน ส่วนไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ดำเนินนโยบายในระดับสูงเช่นเดียวกัน แต่ได้รับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในระดับต่ำ ซึ่งมีประเทศในกลลุ่มนี้ ได้แก่ ฟิจิ ลัตเวีย สโลวีเนีย กรีซ ไซปรัส และออสเตรเลีย เป็นต้น 

สุดท้ายคือมาตรการด้านการอัดฉีดผ่านเครื่องมือนโยบายทางการเงิน ประเทศจีนและมาเลเซียได้รับการจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศที่อัดฉีดผ่านช่องทางทางการเงินมากที่สุดและได้รับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ในขณะที่ประเทศไทยได้จัดอยู่ในกลุ่มที่ดำเนินนโยบายทางด้านการเงินในระดับกลาง และมีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในระดับที่ต่ำที่สุด โดยมีประเทศอื่นๆ ในกลุ่มนี้อีกเช่น ลัตเวีย กรีซ นิวซีแลนด์ สโลวีเนีย 

การสรุปและข้อเสนอแนะ 

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ประสบกับระดับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้น 1-2 ปี ค่อนข้างสูงมากโดยเปรียบเทียบ และภายใต้กลุ่มที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใกล้เคียงกับประเทศไทย รัฐบาลก็ได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะผ่านเครื่องมือทางการคลังอยู่ในระดับที่สูงโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นภายในกลุ่ม แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถบรรเทาเศรษฐกิจได้ดีเท่ากับประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายตอบโต้กับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในระดับใกล้เคียงกัน  

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม โอกาสก็ยังคงมีอยู่เสมอสำหรับการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมีแนวทางที่เป็นไปได้อยู่ 3 แนวทาง ได้แก่ 

 1.) ประเทศไทยยังพอมีช่องว่างในการปรับเพิ่มปริมาณการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านเครื่องมือด้านนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดผ่านเครื่องมือทางนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย การตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ และการค้ำประกันหนี้ให้กับผู้ที่เดือดร้อน เป็นต้น โดยสามารถสังเกตได้ว่ายังมีกลุ่มประเทศที่ดำเนินการอัดฉีดผ่านนโยบายการเงินที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงกว่าไทยและได้รับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่สามารถจะผลักดันสถานภาพทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินเพื่อขยายโอกาสการบรรเทาผลเสียทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น 

2.) ประเทศไทยอาจจะต้องพิจารณาการผ่อนปรนระดับความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจน้อยลง ดังที่เห็นได้ว่าในกลุ่มที่สามารถรักษาอัตราการแพร่ระบาดที่ระดับใกล้เคียงกับประเทศไทย ไม่ได้จำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดให้เข้มงวดมากนักและมีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าไทย 

3.) ถึงแม้ว่าปริมาณการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านนโยบายทางด้านการคลังจะอยู่ในระดับที่สูงมากแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศทั่วโลกและในกลุ่มประเทศที่มีระดับปัญหาของโควิด-19 ในระดับใกล้เคียงกัน การพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือทางการคลังหรือประเด็นเชิงคุณภาพในการพิจารณาการฉีดเงินให้เหมาะสมกับเวลาและกระจายอย่างทั่วถึง ยังคงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยยังพอที่จะสามารถบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ดีมากขึ้น 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 

  1. Hale, Thomas, Sam Webster, Anna Petherick, Toby Phillips, and Beatriz Kira (2020). Oxford COVID-19 Government Response Tracker, Blavatnik School of Government. Data use policy: Creative Commons Attribution CC BY standard. Available at: https://www.bsg.ox.ac.uk/research/research-projects/oxford-covid-19-government-response-tracker 
  1. International Monetary Fund (2020). Policy responses to COVID-19 Retrieved from https://www.imf.org/en/Topics/imf-and-covid19/Policy-Responses-to-COVID-19#U on April 7, 2020. 
  1. International Monetary Fund (2020). World Economic Outlook: The Great Lockdown. Washington, DC, April. 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
15 เมษายน 2563