คนพิการมีความเปราะบางสูงอยู่ก่อนแล้ว และด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซ้ำเติมให้คนพิการมีความเปราะบางสูงมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก เป็นกลุ่มที่มีความยากลำบากในการป้องกันโรคโควิด-19 และมีความเสี่ยงกระทบต่อปัญหาสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป
เพื่อสำรวจผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อคนพิการ คณะผู้วิจัยดำเนินการลงพื้นที่สำรวจคนพิการทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2563 ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 และครั้งที่ 3 ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2563 เพื่อเก็บข้อมูลคนพิการจำนวน 56 คน ในหน่วยจ้างงานในพื้นที่ 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1.องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง จังหวัดอยุธยา 2.ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 3.องค์การบริหารส่วนตำบลบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 4.โครงการ The Guidelight มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 5.ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยพบว่า ในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 คนพิการได้รับผลกระทบเหล่านี้
– ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพราน นอกจากจะเป็นที่ทำงานของคนพิการแล้ว ศูนย์ฯยังเป็นสถานที่พักอาศัยของหมอนวดอีกด้วย ในช่วงระบาดระยะแรกที่มีคำสั่งปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรวมถึงการนวด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ถึง 15 มิถุนายน 2563 เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน ทำให้หมอนวดที่อยู่ในศูนย์ฯต้องเดินทางกลับต่างจังหวัด รายได้เสริมบางส่วนที่ได้จากการทำงานนวดในศูนย์ฯจึงหายไป เหลือเพียงรายได้ที่ได้จากการจ้างงานตามมาตรา 35 เพียงเท่านั้น
– รายได้ลดลง เนื่องจากคนพิการบางรายได้รับการจ้างงานเป็นรายวัน เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ถูกลดจำนวนวันทำงาน ส่งผลกระทบต่อรายได้
– ลดจำนวนการจ้างงานคนพิการในปี 2564 เนื่องจากสถานประกอบการหรือบริษัทหลายแห่งต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงหรือยิ่งไปกว่านั้นคือต้องปิดตัวอย่างถาวร จึงทำให้อัตราส่วนการจ้างงานคนพิการลดลงตามไปด้วย เช่น สำหรับศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพรานในปี 2564 จำเป็นต้องมีการลดอัตราการจ้างงานตามมาตรา 35 จากมีการจ้างงานคนพิการจำนวน 20 คนในปี 2563 เหลือเพียง 17 คนในปี 2564 เป็นต้น หรือ ศูนย์ดำรงชีวิตอิสระพุทธมณฑลจากมีการจ้างงานคนพิการจำนวน 8 คนในปี 2563 เหลือเพียง 7 คนในปี 2564 แม้ว่าตัวเลขอาจจะไม่มากนัก แต่คนพิการเป็นกลุ่มที่เปราะบางสูงหากถูกเลิกจ้างงาน เนื่องจากคนพิการมีการกระบวนการเข้าถึงการจ้างงานมีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้การมีงานทำนั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงทั้งผลลัพธ์ที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ทักษะการทำงาน ทักษะการเข้าสังคม สุขภาพจิต สุขภาพกาย ความสัมพันธ์กับครอบครัว การมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของการได้รับสิทธิสวัสดิการประกันสังคม หากคนพิการไม่เคยทำงานมาก่อนและปัจจุบันได้รับการจ้างงานเชิงสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งนายจ้างจะต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทำให้คนพิการสามารถเลือกรับสิทธิรักษาพยาบาลระหว่างสิทธิประกันสังคมหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่นในระบบประกันสังคมอย่างครบถ้วนอีกด้วย นอกจากนี้คนพิการมักระบุว่า สุขภาพแข็งแรงมากขึ้นเนื่องจากได้ออกไปทำงานหรือออกกำลังกายมากขึ้นจากที่แต่ก่อนอยู่มักอยู่แต่ในบ้านและไม่ได้ขยับร่างกายมากนัก การไปทำงานร่วมกันกับคนพิการอื่นทำให้คนพิการมีเพื่อนมากขึ้นลดการเก็บตัวจากสังคม นอกจากนี้การที่คนพิการมีรายได้มาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวหรือเป็นเสาหลักให้แก่ครอบครัวย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตและความสัมพันธ์กับครอบครัวให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
– ความลำบากในการเว้นระยะห่างทางสังคม เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เช่น คนพิการทางสายตา มักมีคนเข้ามาช่วยเหลือ แต่เนื่องจากเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้คนพิการต้องระมัดระวังมากกว่าปกติในการใช้คนแปลกหน้าเข้ามาช่วยเหลือ หรือ คนพิการทางร่างกายอย่างรุนแรงจำเป็นต้องจ้างคนดูแลในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างการช่วยเหลืออาบน้ำจึงไม่สามารถงดเว้นระยะห่างทางสังคมได้
ในช่วงการระบาด ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือคนพิการในระยะสั้น ได้แก่ การเพิ่มเบี้ยคนพิการจากคนละ 800 บาทเป็น 1,000 บาทต่อเดือน และมีการให้เงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3,000 บาท เนื่องจากคณะผู้วิจัยสัมภาษณ์คนพิการที่มีงานทำและมีรายได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะมีผลกระทบทางด้านรายได้จากสถานการณ์โรคระบาดแต่คนพิการกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างจำกัด ดังนั้นส่วนใหญ่จึงมองว่าเงินช่วยเหลือนี้เพียงพอสำหรับตนเองแล้ว
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดย คณะวิจัย TDRI
1 เมษายน 2563