ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การเปิดเมือง

ณ วันที่ 22 เมษายน 2563 สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ จึงเกิดคำถามเชิงนโยบายที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยควรจะเริ่มมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่การเปิดเมืองแล้วหรือยัง และต้องมีมาตรการอะไรที่ควรจะเสริมเพิ่มเติม 

คณะผู้วิจัยอาศัยข้อเสนอแนะเกณฑ์การเปิดเมืองขององค์การอนามัยโลก1 มาเป็นเกณฑ์ในการประเมินถึงความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่การเปิดเมืองของไทย ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวมีอยู่ 6 ข้อ ได้แก่ 

1. สามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้แล้ว 

2. ระบบสุขภาพต้องสามารถ ตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา และสอบสวนโรค 

3. มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงที่สุด 

4. โรงเรียน สำนักงานและสถานที่สาธารณะมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ 

5. สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศ 

6. คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ในสังคมหลังเกิดโรค (New Normal) 

รูปที่ 1: สถานการณ์การติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย 

ที่มา: JHU CSSE Covid-19 Data 

เมื่อนำสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาพิจารณาตามเกณฑ์ข้างต้น จะพบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ภาครัฐควรให้ความสนใจ ดังนี้ 

1. สถานการณ์การควบคุมการระบาดของการแพร่เชื้อในประเทศ  

ข้อสังเกต 

– แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ (ไม่นับกลุ่ม State quarantine) ต่ำกว่า 15 รายต่อวัน  

– จำนวนผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขมียอดติดเชื้อต่ำลง  

– จำนวนผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษาปัจจุบันอยู่ที่ 314 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่เข้ารักษาสูงที่สุดที่เคยมีที่ 1,451 ราย โดยมีจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยในกรุงเทพและปริมณฑล ประมาณ 2,701 เตียง และในเขตสุขภาพที่ 1-12 รวมทั้งหมด 4,820 เตียง  

– การปฏิบัติ physical distancing ยังคงหย่อนยานในหลายกรณี เช่น การรับแจกสิ่งของ การรับแจกอาหาร  

– ยังพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวอยู่เรื่อยๆ (มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 18,203 คน)  

รูปที่ 2: ผู้ติดเชื้อรายใหม่ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ 

ที่มา: กรมควบคุมโรค 

รูปที่ 3: จำนวนผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษา  

ที่มา: กรมควบคุมโรค 

ข้อเสนอแนะ 

– มาตรการในการควบคุมอัตราการระบาดต้องคำนึงถึงความสามารถในการปฏิบัติตามของกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยด้วย  

ตัวอย่างเช่น การบังคับให้สวมใส่หน้ากากจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากภาครัฐไม่สามารถช่วยให้ ประชาชนยากจนเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่ถูกสุขลักษณะอย่างพอเพียง 

– ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนให้เกิดระบบการบริจาคจากผู้ให้ไปสู่ผู้ที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม (ไม่เกิดปัญหาการหลอกลวง) สินค้าที่บริจาคได้นำไปให้กับผู้ที่ต้องการตรงตามความต้องการ และมีการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักการด้านระบาดวิทยา  

2. ระบบสุขภาพต้องสามารถ ตรวจหาผู้มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษา และสอบสวนโรค 

ข้อสังเกต 

– ในการตรวจสอบผู้ติดเชื้อ พบว่ากรณีที่ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาต้นตอของการติดโรคได้มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ  

– กลไกการตรวจสอบในปัจจุบันเป็นการตรวจสอบจากกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่มีอาการเป็นหลัก ภายหลังพบว่าภาครัฐได้มีการดำเนินการตรวจเชิงรุกมากขึ้น เช่น กรณีการสุ่มตรวจในภูเก็ต ที่ทำการตรวจผู้ใช้บริการร้านขายยา ว่ามีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโรค หรือกรณีดำเนินการเชิงรุกสุ่มตรวจในชุมชนในพื้นที่ กทม. (รถตรวจโควิด-19 เคลื่อนที่)  

ข้อเสนอแนะ 

– ควรจะมีการสุ่มตรวจเชิงรุกมากขึ้น โดยเน้นไปที่กลุ่มประชากรเปราะบางที่มีความเสี่ยงที่จะติดโรค เช่น ในชุมชนแออัด เนื่องจากพบว่า ผลการสุ่มตรวจเชิงรุกยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดง/ อาการอยู่พอสมควร ตัวอย่าง เช่น การสุ่มตรวจเชิงรุกในเขต กทม. พบผู้ติดเชื้อจำนวน 8 รายจาก 972 รายที่ตรวจ (ร้อยละ 0.8) และการสอบสวนโรคในรอบ 14 วันจาก ผู้ติดเชื้อ 572 ราย ไม่สามารถหาต้นตอ ในทันที 97 ราย (ร้อยละ 17)  


1 ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 (ณ วันที่ 17 เมษายน 2563)  

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
22 เมษายน 2563