สมดุลระหว่างการสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ มาตรการทุบและคลาย (The Hammer and the Dance)

มาตรการทุบและคลาย1 เป็นมาตรการที่หลายประเทศใช้รับมือ Covid-19 The Hammer หรือ “ทุบ” คือ มาตรการเข้มข้นที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดโรค เน้นการปิดเมืองเพื่อหยุดโรค แต่ละประเทศมีมาตรการแตกต่างกัน ตามความจำเป็นหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีมาตรการตัวอย่างที่สำคัญ คือ 

1. Hygine and Social Distancing ปรับสุขอนามัยส่วนบุคคลและเพิ่มระยะห่างทางกายภาพ เช่น work from home เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร 

2. Strategic Testing and Contact Tracing ตรวจโรคและตามรอยผู้สัมผัสเชื้อ

3. Quarantine  จัดจุดตรวจอุณหภูมิในชุมชน จัดกลไกเพิ่มประสิทธิภาพการกักโรคที่บ้าน 

4. Isolation การแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค 

5. Reducing Community Density  ปิดสถานที่และงดกิจกรรมที่รวมตัวคนจำนวนมาก 

6. Travel ban จำกัดการเดินทางทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ 

7. Stay at Home ห้ามออกนอกเคหะสถานตามเวลาที่กำหนด 

ในขณะที่ The Dance หรือ “คลาย” คือ การคงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคที่จำเป็นบางส่วนไว้ และผ่อนคลายมาตรการบางส่วนลง เช่น ยังคงปิดสถานบันเทิง การแข่งขันกีฬา งานประชุม งานกิจกรรมทางสังคมต่างๆ แต่เริ่มเปิดสถานที่ราชการ โรงเรียน สวนสาธารณะ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จำเป็น และสถานที่อื่นๆ ที่มั่นใจว่าจะควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เป็นอันตรายต่อการแพร่กระจายโรค เพื่อให้ผู้คนในสังคมใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยได้ ตัวอย่าง เช่น 

1. คงมาตรการควบคุมบางส่วน ผ่อนคลายธุรกิจและกิจกรรมจำเป็น ตัวอย่างเช่น คลาย travel ban ขอความร่วมมือเดินทางเท่าที่จำเป็น 

2. คลาย Stay at Home  ขอร่วมมือให้อยู่บ้านออกเมื่อมีกิจกรรมจำเป็น 

3. บังคับการใช้หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างในที่สาธารณะ 

4. มีมาตรการสำหรับการทานอาหารในร้าน 

5. เปิดตลาดเว้นระยะห่างของร้าน 

6. กำหนดวันให้อยู่บ้าน  

7. เปิดโรงเรียน แต่เพิ่มมาตรการรักษาสุขอนามัย 

ทั้งนี้ หาก “คลาย” ไม่ดีพอต้องกลับมา “ทุบ” ใหม่ โดยการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการระบาด อาจทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคเปลี่ยนพลิกได้ทุกเมื่อ ในบางแห่ง แม้ว่าจะดูเหมือนสามารถควบคุมได้แล้ว แต่ก็เกิดการระบาดระลอกใหม่ในเวลาอันรวดเร็ว จึงต้องมีการติดตามสัญญาณเตือนด้านระบาดวิทยาในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  และเมื่อมีสัญญาณเตือน อาจมีมาตรการ Circuit Breaker เพื่อกลับมาคุมเข้มด้วยมาตรการ “ทุบ” อีกครั้ง 

ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ช่วงแรกของการแพร่ระบาด Covid-19 ญี่ปุ่นจัดอยู่ในการกลุ่มที่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่เมื่อไม่มีการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด ส่งผลให้ญี่ปุ่นเริ่มมีผู้ติดเชื้อรายวันหลัก 100 ราย เป็นเวลาต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน จนท้ายที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นต้องประกาศคำสั่งภาวะฉุกเฉินในโตเกียวและอีก 6 จังหวัดใหญ่ ทั้งที่เพิ่งประกาศก่อนหน้าไม่ถึงสองสัปดาห์ว่าไม่จำเป็น 

ท้ายที่สุด มาตรการทุบและคลาย” (The Hammer and the Dance) อาจต้องอยู่กับเราประมาณ 6 – 18 เดือน มาตรการนี้ ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างรุนแรง นอกจาก การจัดการด้านระบาดวิทยาแล้ว รัฐต้องมองเห็น “ผลกระทบที่ภาคธุรกิจและผู้คนกลุ่มที่เปราะบางกลุ่มต่างๆ ได้รับ” ตามพื้นที่เพื่อวางแผนให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดเพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม และสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ไปได้ 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1 บทความนี้ เผยแพร่ทางเว็ปไซต์ TDRI ที่ https://tdri.or.th/covid19-people-business-impact/ 

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
22 เมษายน 2563

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)