tdri logo
tdri logo
22 เมษายน 2020
Read in Minutes

Views

ปัญหาการฆ่าตัวตายในช่วงวิกฤตโควิด-19

ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ปัญหารายได้ ปัญหาการปิดเมือง ความเครียด ปัญหาสังคม ไปจนถึงปัญหาครอบครัว จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์การฆ่าตัวตายขึ้น

เมื่อสะท้อนจากสถิติการฆ่าตัวตายในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พบว่า การฆ่าตัวตาย ไม่ได้เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจในขณะนั้นโดยตรง หากแต่จำนวนคนฆ่าตัวตายเพิ่มในระดับสูงสุด (peak) ในช่วง 24 เดือนถัดมา โดยเพิ่มขึ้นจากอัตรา 6.92 คนต่อแสนคน ในปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไปสู่อัตรา 8.59 คนต่อแสนคน ในปี 2542 อย่างไรก็ดี ในอดีตยังไม่มีการเก็บสถิติสาเหตุการฆ่าตัวตาย ซึ่งเริ่มมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา

รูปที่ 1: อัตราการฆ่าตัวตายต่อแสนคน

A close up of a map

Description automatically generated

ที่มา: กรมสุขภาพจิต

จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย คือ ความสัมพันธ์ การป่วยกายจิต สุรา และเศรษฐกิจ โดยในช่วงปี 2562 สาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตาย ครึ่งหนึ่งมาจากเรื่องความสัมพันธ์ สาเหตุรองลงมาคือ สุรา และการป่วยกายจิต อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มเกิดสถานการณ์โควิด-19 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจกลายเป็นสาเหตุสำคัญในการฆ่าตัวตาย สูงเป็นลำดับสอง ขณะที่ปัจจัยด้านสุราลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

รูปที่ 2: ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

ที่มา: แนวทางยกระดับมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตาย ปี พ.ศ. 2563-2564

นอกจากนี้ ยังพบว่าทุกปี อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายน สาเหตุสำคัญเพราะคนมาอยู่รวมกันช่วงวันหยุดมาก มีการพบปะพูดคุย และมีการพูดคุยเปรียบเทียบ ทำให้บางคนรู้สึกด้อยค่าหรือเป็นคนที่ตกหล่นตกต่ำกว่าคนอื่น อีกทั้ง ยังมีสุราเป็นตัวลดความยับยั้งชั่งใจ

อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2563 ที่รัฐบาลประกาศ Lock-down/Semi-lock-down รวมกับมาตรการด้านสาธารณสุข ทำให้คนอยู่ห่างกัน และห้ามขายสุรา ทำให้ปัจจัยกระตุ้นการฆ่าตัวตายลดลง เป็นผลให้อัตราการฆ่าตัวตายในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง

รูปที่ 3: สถานการณ์เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ช่วง 1 ม.ค. – 31 ก.ค. 2563

ที่มา: ยุทธศาสตร์การป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย ปี พ.ศ. 2564-2565

ทั้งนี้ การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจากเหตุผลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 กำลังอยู่ในช่วง early phase แต่ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว โดยเฉพาะจาก Social media อาจส่งผลให้ peak มาเร็วกว่าเดิม จำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวัง นอกจากนี้ ช่วงการใช้นโยบายช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจต่างๆ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ จำเป็นต้องระวังคนตกหล่นเช่นกัน เนื่องจากอาจนำพาใครบางคนไปสู่การฆ่าตัวตายได้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

(*ชื่อบทความเดิม: ปัญหาการฆ่าตัวตาย)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI 
22 เมษายน 2563

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด