การปรับตัวของสถานศึกษาในช่วงโควิด-19

การปิดสถานศึกษาเป็นหนึ่งในมาตราการชุดแรก ๆ ของหลายประเทศทั่วโลกหลังเกิดการระบาดขอโควิด-19 ร่วมถึงประเทศไทยที่ได้ประกาศปิดสถานศึกษาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เหตุผลหลัก ในการประกาศปิดสถานศึกษา คือ เป็นสถานการณ์ 3 วันนับแต่มีผู้ติดเชื้อในประเทศครบ 100 ราย ทำให้ต้องยกระดับมาตรการในการเผยแพร่เชื้ออย่างครอบคลุมทั่วประเทศ การปิดโรงเรียนทำให้ลดโอกาสในการแพร่เชื้อโรคระหว่างนักเรียน ซึ่งมีค่อนข้างสูงเพราะลักษณะของการอยู่ร่วมกัน การใช้ของร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่การเรียนการสอนมีความใกล้ชิดกับครูผู้สอนและการดูแลตัวเองด้านสุขอนามัยยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ บางโรงเรียนมีห้องเรียนเป็นลักษณะปิดไม่เปิดหน้าต่างระบายอากาศ บางโรงเรียนตั้งอยู่ในจังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่มีผู้ปกครองหลายคนที่ทำงานในจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อและเมื่อกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดก็มีโอกาสนำเชื้อมาติดบุตรหลานได้ รวมถึงเด็กนักเรียนแม้จะไม่แสดงอาการของโรคแต่อาจจะเป็นผู้เผยแพร่เชื้อไปสู่ผู้ปกครองหรือผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคที่บ้านได้  รูปแบบการปิดสถานศึกษาในช่วงแรกของการระบาดโควิด-19 เป็นการปิดสถานศึกษาเฉพาะโรงเรียนที่มีเด็ก ครู หรือผู้ปกครองในโรงเรียนติดเชื้อโควิด (reactive closure) ซึ่งในงานวิจัยที่โดย Ferguson et al. (2006)  พบว่าการปิดสถานศึกษาสามารถลดอัตราการติดเชื้อได้ 25% และมาตรการปิดโรงเรียนจะได้ผลที่ดีกว่านี้เมื่อใช้ร่วมกับนโยบายอื่น ๆ เช่น การปิดโรงเรียนควบคู่กับการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนในช่วงที่สองภาครัฐใช้นโยบายเชิงรุก  (proactive closure) คือ การปิดโรงเรียนก่อนที่จะมีผู้ติดเชื้อในสถานศึกษานั้น ซึ่งแน่นอนว่านโยบายนี้ลดอัตราการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการปิดสถานศึกษาเฉพาะโรงเรียนที่มีเด็ก ครู หรือผู้ปกครองในโรงเรียนติดเชื้อ(Markel, et al., 2007)    เพราะเป็นการลดการเจอกันระหว่างผู้ปกครอง รวมถึงครู และเป็นการบังคับให้ผู้ปกครองอยู่บ้านและเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามาตราการการปิดสถานศึกษาอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการลดอัตราการระบาดของโรคได้  

อย่างไรก็ตามการปิดสถานศึกษามีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่ถดถอยหากปิดโรงเรียนเป็นเวลานาน กลุ่มที่ถูกกระทบจากการปิดสถานศึกษามากที่สุด คือ กลุ่มนักเรียนเปราะบาง เช่น เด็กในครอบครัวยากจนที่ต้องพึ่งพาอาหารโรงเรียน จากการสำรวจพบว่าเด็กยากจนมีจำนวนทั้งหมด 2 ล้านคน และมี 2 แสนคนเป็นเด็กยากจนพิเศษที่ผู้ปกครองมีรายได้ไม่ถึง 3,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น สำหรับกลุ่มเปราะบาง ภาครัฐควรมีมาตรการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องของโภชนาการในช่วงปิดสถานศึกษา   ปัจจุบัน ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 มีประเด็นของการเปิดสถานศึกษาในช่วงโควิด-19 อยู่มากมาย ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ เห็นได้ว่าหลังจากที่ประเทศเดนมาร์กมีจำนวนการเสียชีวิตลดลงเป็นระยะเวลา 2 อาทิตย์ประเทศเดนมาร์กเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่ตัดสินใจเปิดสถานศึกษารวมไปถึงสถานดูแลเด็กเล็ก โดยมีการจัดระเบียบและมาตรการใหม่เพื่อลดความ เสี่ยงต่อการติดโรคในสถานศึกษา แต่ในขณะเดียวกันสถานดูแลเด็กเล็กในประเทศนิวซีแลนด์ได้ขอร้องภาครัฐมิให้สถานดูแลเด็กเล็กเปิดทำการเนื่องจากเหตุผลว่าการดูแลเด็กเล็กจำเป็นจะต้องมีความใกล้ชิดกันมาก มาตรการเว้นระยะห่างที่อาจจะทำได้ในเด็กโตเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในเด็กเล็ก ความแตกต่างระหว่างสองประเทศนี้ คือ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ โดย ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 ประเทศนิวซีแลนด์มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 5 คน ส่วนประเทศเดนมาร์กมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในอยู่ที่ 131 คน   ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจในการเปิดและสถานศึกษายังคงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับบริบทต่าง ๆ และการตัดสินใจของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรติดตามและใช้ประสบการณ์ของต่างประเทศเป็นกรณีศึกษาต่อไป 

ในส่วนของประเทศไทยได้มีประกาศเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาจากเดือนพฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 และจากการสืบค้นข้อมูล พบว่าอาจจะมีการผ่อนคลายในบางพื้นที่ในอนาคต และสำหรับโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนพื้นที่ปลอดภัยภายใต้ พรก. ฉุกเฉิน อาจจะมีการจัดการเรียนการสอนที่อนุญาตให้นักเรียนมาโรงเรียนแบบแบ่งเป็นความรู้กับผู้ปกครองกลุ่มนี้ด้วยโรงเรียนมีรูปแบบแนวทางต่าง ๆ ในการรับมือกับโควิท-19 เช่น การสั่งการให้ครูเป็นผู้ติดตามข่าวสาร การสั่งการให้ครูเฝ้าสังเกตนักเรียนและหากพบว่านักเรียนมีอาการไข้ ให้รีบแจ้งผู้ปกครอง การจัดทำแบบสอบถามข้อมูลประวัติการเดินทางของครอบครัว บางโรงเรียนมีการทำวีดีโอให้ความเข้าใจและแนะนำการป้องกันเผยแพร่ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโรงเรียนและบริบทของผู้ปกครอง โรงเรียนที่มีงบประมาณมากจะมีความพร้อมในการจัดการได้ดีกว่าโรงเรียนที่มีงบประมาณน้อยและตั้งอยู่ห่างไกล  

สิ่งที่โรงเรียนต้องการจากภาครัฐ คือ แนวทางการปฏิบัติด้านการเรียนการสอนที่ชัดเจน การสื่อสารที่รวดเร็ว โปร่งใสเพื่อสถานศึกษาจะนำไปวางแผนได้ถูกต้อง หากมีการเรียนการสอนแบบทางไกล สถานศึกษาต้องการการสนับสนุนการจัดการศึกษาที่ชัดเจนและโดยละเอียดเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางในการปฏิบัติของการเรียนการสอนระดับอนุบาลและเด็กเล็ก มีคู่มือและแนวทางในการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง เช่น มีอุปกรณ์ให้เด็กนักเรียนพร้อมใช้กับการใช้สื่อการเรียนต่าง ๆ  และมีคู่มือการสอนผู้ปกครองและนักเรียนในการใช้สื่อที่เข้าใจง่าย  

ในด้านความพร้อมของโรงเรียนในการเรียนทางไกล โรงเรียนขนาดใหญ่มีความเห็นว่าควรให้เรียนในรูปแบบทางไกลแต่มีวิธีการการเรียนการสอนที่ชัดเจน ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กบนดอยยังไม่มีความพร้อมในการให้เรียนในรูปแบบทางไกล ผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้ทำการสัมภาษณ์ มีความตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสาร โดยผู้บริหารสถานศึกษาส่วนมากได้รับข้อมูลข่าวสารจากหนังสือสั่งการจากกระทรวงฯ  ข้อมูลจากทางสื่อมวลชน กรมควบคุมโรค และสาธารณสุขตำบล และมีการรับข่าวสารเพิ่มเติมจากกลุ่ม LINE ของสำนักงานเขต และหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองจากช่องทางออนไลน์  

สำหรับโรงเรียนบนดอย แม้จะมีบริบทของนักเรียนที่ยากจนสูงแต่มีความเสี่ยงในการระบาดของโรคต่ำกว่าพื้นที่อื่นเพราะครัวเรือนทำการเกษตรในพื้นที่และไม่ได้ออกไปเมืองใหญ่ หากผู้นำชุมชนสามารถเฝ้าระวังในเรื่องของการเดินทางเข้าออกจากพื้นที่ได้ก็จะสามารถลดอัตราความเสี่ยงลงไปอีก ในเรื่องของการเรียนการสอนแบบในห้องเรียนปรกติโรงเรียนบนดอยที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กสามารถจัดการเรียนการสอนแบบเว้นระยะห่างได้ แต่หากต้องเรียนทางไกลสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือ นักเรียนจะต้องสามารถเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารได้ (อย่างไรก็ตามบางครัวเรือนยังไม่มีไฟฟ้า และโทรทัศน์ ) และต้องการให้ภาครัฐออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กบนดอย  

โดยสรุปแล้ว ยังมีความล่าช้าในการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื่อโรค เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย บ้างในบางพื้นที่ ส่วนในการปฏิบัติ เช่น การบังคับใส่หน้ากากตลอดเวลาหรือการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและโรงเรียนที่มีนักเรียนต่อห้องเป็นจำนวนมาก อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การอยู่อาศัยรวมกันในครอบครัวที่มีพ่อแม่ทำงานในเมืองใหญ่ที่สามารถนำเชื้อกลับมาในชุมชนหรือไม่มีความรู้ในเรื่องของสุขอนามัยและวิธีที่ถูกต้องในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อที่เพียงพอจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับโรงเรียน ในส่วนของบทบาทท้องถิ่น จากการสัมภาษณ์พบว่าองค์กรในพื้นที่ที่เข็มแข็งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือชุมชนได้มาก ทั้งในเรื่องของการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อโรค การให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสร้างความตระหนักในการกักตัวผู้เข้ามาในชุมชน 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และทีมวิจัย 
22 เมษายน 2563