tdri logo
tdri logo
22 เมษายน 2020
Read in Minutes

Views

การปรับตัวของสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด-19

ปัญหาการอยู่รวมกันอย่างแออัดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนักในช่วงแรกจนกระทั่งไม่นานมานี้ที่มีกรณีผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศสิงคโปร์เป็นจำนวนมากจนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอีกรอบหลังจากที่ประเทศสิงคโปร์มีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับที่คงที่มาระยะหนึ่ง โดยวันที่ 9 เมษายน 2563  จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 287 ราย จาก 142 รายในวันก่อนหน้า รวมจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 1,910 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหอพักที่แออัด 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นถึง 1,426 ราย โดยมี 1,369 ราย เป็นแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในหอพัก รวมจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 8,014 ราย แรงงานต่างด้าวในประเทศสิงคโปร์รายงานว่าในช่วงก่อนการระบาด กลุ่มแรงงานต่างด้าวไม่มีหน้ากากใช้และที่อยู่อาศัยมีความแออัดไม่ถูกสุขอนามัย  มาตราการแรก ๆ ของรัฐบาลในการลดแพร่เชื้อ คือ การกักตัวของแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในหอพัก จัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และต่อมาได้จัดเตรียมที่พักสำหรับแรงงานกลุ่มนี้เพื่อลดความแออัดและเพิ่มการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์สามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับประเทศไทยที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ในการสร้างความตระหนักเพื่อป้องกันและลดอัตราเสี่ยงในการแพร่ระบาดในกลุ่มก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์แบบประเทศสิงคโปร์ 

ตามรายงานสถานการณ์แรงงานต่างด้าว (สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว) ณ เดือน ธันวาคม 2562 จำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย มี 3,005,376 คน (สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว)  โดยกลุ่มแรงงาน 4  สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีจำนวน 2,722,424 คน (คิดเป็นร้อยละ 90 ของทั้งหมด) ประเภทกิจการที่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาติทำงานมากที่สุด ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการเกษตรและปศุสัตว์ และกิจการให้บริการต่าง ๆ ตามลำดับ และ ณ วันที่ 22 เมษายน 2563 ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาให้ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธรณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็น 3 เขตติดโรคติดต่ออันตรายกรณีโรคโควิด-2019  

ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวเพียง 0.82%1 แรงงานต่างด้าวที่มีงานทำในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะมีผู้ประกอบการเป็นคนให้คำแนะนำในเรื่องสุขอนามัยและการป้องกัน  และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้ แต่หากคนกลุ่มนี้ตกงานเนื่องจากมีการสั่งปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะทำให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ความรู้ในการดูแลตนเอง และสภาพการเป็นอยู่หลังจากตกงานที่แย่ลงจากเดิม 

บทความนี้ได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าว โดยสัมภาษณ์ถึงความเสี่ยงของกลุ่มต่างด้าว ความพร้อมในการป้องกัน และความต้องการในการช่วยเหลือจากภาครัฐ  สัมภาษณ์ผู้บริหารทั้งหมด 5 แห่ง ประกอบด้วยกิจการขนส่งที่มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 200 คน กิจการบริการที่มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 150 คน  และกิจการโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 70 คน และ 40 คน และมีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่รับทำเอกสารให้กับแรงงานต่างด้าว จากการสัมภาษณ์พบว่าการอยู่อาศัยที่แออัดของแรงงานต่างด้าวเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาด โดยแรงงานต่างด้าวที่ต้องรับผิดชอบที่อยู่อาศัยเองมีความเสี่ยงที่สูงเนื่องจากแรงงานอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำ ส่วนมากจึงอาศัยและกินอยู่รวมกัน ในส่วนของแรงงานที่พักอาศัยกับผู้ประกอบการก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้ประกอบการซึ่งมีระดับความแออัดที่แตกต่างกัน ความเสี่ยงอื่น ๆ  ในการติดเชื้อของแรงงานต่างด้าวในที่ทำงานก็มีระดับที่แตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน ความต้องการของลูกค้า มาตรการในการดูแลของผู้ประกอบการ และจำนวนพนักงานที่จ้างในช่วงโควิด-19  โดยกิจการที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่จะมีมาตราการป้องกันที่ค่อนข้างเข้มข้นกว่ากิจการรูปแบบอื่น เช่น มีการบังคับให้ใส่หน้ากากตลอดเวลาทำงาน มีเจลแอลกอฮอล์ให้ใช้ มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าออกจากสถานที่ทำงาน แนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ  สวมถุงยางมือในขณะที่ทำงาน มีการทำหน้าการคลุมหน้าใส่ (face shield) ไม่อนุมัติให้เดินทางออกนอกพื้นที่ มีทีมงานควบคุมอนามัย ผู้จัดการมีประชุมเพื่อแนะแนวและวางแผนการปฎิบัติ และมีป้ายประกาศในเรื่องของการดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงโควิดเป็นภาษาไทยและภาษาของแรงงานต่างด้าว บางกิจการมีมาตราการเพิ่มเติมที่เข้มข้นขึ้นอีก เช่น ให้พนักงานทานอาหารจากถาดหลุมของตัวเอง เวลาทานอาหารจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ 4 คน และจะต้องทานอาหารกับกลุ่มเดิมทุกวัน บางกิจการมีการนำลังกระดาษมาทำเป็นที่แบ่งในโรงอาหารให้พนักงานนั้งทานอาหารแยกกัน แต่ในขณะเดียวกันยังมีกิจการรูปแบบอื่นไม่บังคับพนักงานให้ปฎิบัติอย่างเคร่งครัด กิจการที่ต้องใช้แรงงานหรือทำงานกลางแจ้ง จะมีความลำบากใส่หน้ากากตลอดเวลาเพราะเกิดการอึดอัดในการทำงาน 

ในเรื่องของการทำงานแบบเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลยังเป็นเรื่องยากอยู่โดยเฉพาะกิจการบริการ ส่วนเรื่องของความแออันระหว่างการทำงานนั้นลดลงโดยเฉพาะกิจการที่มียอดขายลดลง เช่น กิจการร้านอาหาร แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนักสำหรับโรงงาน ลักษณะของสถานที่ทำงานก็มีความแตกต่างกันการทำงานในโรงงานบางที่และร้านอาหารตามห้างส่วนมากจะเป็นสถานที่ปิดที่อากาศหมุนเวียนภายในซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค 

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ คือ ต้องการให้มีการแจ้งล่วงหน้าหลายวันในการสั่งเปิดและปิดกิจการในอนาคตเพื่อกิจการจะได้มีเวลาวางแผนการดำเนินธุระกิจต่อไป บวกกับต้องการความชัดเจนและรวดเร็วในข้อมูลในเรื่องของนโยบายต่าง ๆ ร่วมถึงมาตราการการทำบัตรให้แรงงานต่างด้าว และมาตราการการช่วยเหลือด้านการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ สำหรับโรงงานแปรรูปสินค้าการเกษตรมีความต้องการให้ภาครัฐละเว้นเคอร์ฟิวในช่วงผลผลิตล้นตลาด (เช่น มะพร้าวจะมีผลผลิตมากในช่วงหน้าฝน) ถ้าหากแปรรูปไม่ทันจะทำให้ผลผลิตนั้นเสียได้) การรับรู้ข่าวสารและแนวทางของผู้ประกอบการมาจากหลายแหล่งโดยส่วนมากมาจากข่าวตามช่องทางสื่อต่าง ๆ  กลุ่มธุระกิจเดียวกัน และกรมอนามัย แต่ถ้าเป็นโรงงานก็สามารถดูมาตราการและแนวทางของกระทรวงอุตสหกรรมเพิ่มเติมได้ โดยส่วนใหญ่แล้วแต่ละผู้ประกอบการต้องหาข้อมูลเองแล้วนำไปปรับใช้ในกิจการของตนเอง ดังนั้น ณ ปัจจุบันระดับความเข้มข้นของการป้องกันขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเป็นส่วนมาก 

พฤติกรรมของแรงงานต่างด้าวที่ผ่านมาเมื่อพบว่าตัวเองป่วยจะหาทางกลับไปที่ภูมิลำเนาตัวเอง ผู้ประกอบการให้ความเห็นว่าถ้ากลุ่มนี้ติดโควิด-19 ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ควรมีมาตราการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทางของคนกลุ่มนี้ ด้วยลักษณะของภูมิศาสตร์ของประเทศไทยการ เดินทางกลับภูมิลำเนาเส้นทางธรรมชาตินั้นเป็นไปได้ง่ายกว่าหลายประเทศ 


รายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์  

(1) คุณโบท์ กิจการร้านอาหาร 

(2) คุณแจ๊ค กิจการโรงงานอาหารและเครื่องดื่ม 

(3) คุณนาย กิจการโรงงานอาหารและเครื่องดื่ม 

(4) คุณ ก. กิจการขนถ่ายสินค้าทางน้ำ 

(5) คุณ ข. กิจการบริษัททำวีซ่าต่างด้าว 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และทีมวิจัย 
22 เมษายน 2563

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด