Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19  เดินทางเข้าประเทศ สำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) ได้ออกประกาศให้คนไทยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทย ต้องแสดงเอกสาร 2 อย่างต่อสายการบิน คือ ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพดีพอที่จะเดินทาง และหนังสือรับรองการเดินทางที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ไทย หรือกระทรวงการต่างประเทศออกให้ โดยการออกหนังสือต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง หากมีเอกสารไม่ครบถ้วน สายการบินสามารถปฏิเสธการออก boarding pass  ส่งผลให้คนไทยในหลายประเทศร้องเรียนถึงความยุ่งยากที่เกิดจากการขอใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองการเดินทาง โดยบางส่วนร้องเรียนต่อศาลปกครองกลาง และเกิดออนไลน์แคมเปญ #bringthaihome

ทำไมมาตรการนี้จึงไม่มีประสิทธิภาพ

เชื้อโควิด-19 มีระยะเวลาในการฟักตัวแตกต่างกันไปในผู้ติดเชื้อแต่ละราย โดยประมาณการของการฟักตัวนั้นอยู่ที่ 2-14 วัน แต่มีรายงานโดยรัฐบาลท้องถิ่นของมณฑลหูเป่ยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้ป่วยบางรายมีระยะเวลาการฟักตัวถึง 27 วัน ดังนั้น ใบรับรองแพทย์ที่ออกให้ก่อนเดินทางภายในระยะเวลาอันสั้น จึงไม่สามารถใช้ในการคัดแยกคนไทยที่ยังไม่ติดเชื้อ ออกจากคนที่ได้รับเชื้อไปแล้วแต่อาจยังไม่แสดงอาการ  

อีกทั้ง ขณะที่รัฐได้มีประกาศฉบับนี้ จำนวนคนที่ต้องการขอใบรับรองได้เพิ่มมากขึ้นอย่างกะทันหัน เพราะเป็นช่วงพีคของวิกฤติโควิด–19 ในหลายประเทศ โดยบางประเทศไม่ได้ใช้ระบบขอใบรับรองการเดินทางออนไลน์ มาตรการนี้จึงเหมือนสั่งให้คนจำนวนมากต้องไปรวมกลุ่มเพื่อขอหนังสือรับรองการเดินทางจากสถานทูต และยังเป็นการบังคับคนให้ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมากเพื่อขอใบรับรองแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิด–19 ในกลุ่มผู้ขอใบรับรองซึ่งแต่เดิมอาจไม่ได้ติดเชื้อ

ในเรื่องนี้มีตัวอย่างจากกรณีที่นักศึกษาไทยในอังกฤษรายหนึ่งที่ป่วยเป็นไข้สูง แต่ถูกปฏิเสธการเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ลอนดอนจึงจำเป็นต้องเดินทางกลับบ้านที่ไทย แต่เนื่องจากประกาศของรัฐบาลไทยที่กำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองจากสถานทูต จึงจำต้องเดินทางไปที่สถานทูตไทยเพื่อยืนเข้าแถวรอคิว ในวันนั้นมีคนไทยที่ต้องการขอหนังสือรับรองเช่นเดียวกันกว่า 200 คน ภายหลังนักศึกษารายนี้สามารถกลับมายังประเทศไทยได้แล้วและตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด–19

การขอใบรับรองแพทย์ในต่างประเทศในหลายประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น ในกรณีของประเทศอังกฤษ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19  เริ่มเลวร้ายมากขึ้น ทำให้ระบบบริการสาธารณสุขอาจไม่สามารถตอบสนองประชากรในประเทศได้หมดทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนต่างชาติที่อาศัยในประเทศอังกฤษ หากใครมีสัญชาติของประเทศในกลุ่มเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อาจหลีกเลี่ยงการให้เดินทางมาที่โรงพยาบาลเพื่อรักษาเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อจากโรงพยาบาล คนไทยที่ต้องการขอใบรับรองแพทย์ในตอนนี้จึงไม่สามารถทำได้โดยง่าย และถึงแม้ว่าทางสถานทูตจะสามารถหาแพทย์ไทยมาช่วยทำการตรวจในลอนดอน แต่ก็ยังมีคนไทยที่อยากจะบินกลับบ้านที่อาศัยอยู่นอกลอนดอนที่ไม่สามารถนัดพบแพทย์ในเร็ววันเพื่อที่จะขอใบรับรองแพทย์

สำหรับคนไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น การขอใบรับรองแพทย์อาจประสบปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพง โดยค่าเฉลี่ยในการออกใบรับรองแพทย์ในปี 2012 มีค่าเฉลี่ย 4,841 เยนต่อ 1 ใบ (ประมาณ 1,844 บาท) โดยบางแห่งอาจกำหนดราคาสูงถึงใบละ 10,000-20,000 เยน (ประมาณ 3-6 พันบาท) การประกันการรักษาพยาบาล ซึ่งคนไทยที่ถือไซริวการ์ด (Residence Card) ของญี่ปุ่นทุกคนจำเป็นต้องทำ ก็ไม่ครอบคลุมค่าธรรมเนียมเอกสารทางการแพทย์แต่ประการใด นอกจากนี้ การตรวจสอบข้อมูลด้านสุขภาพเพื่อให้ได้รับใบรับรองแพทย์มีขั้นตอนค่อนข้างละเอียด เพื่อป้องกันการผิดพลาดอันจะนำมาสู่ความรับผิดของแพทย์ ทำให้ในบางโรงพยาบาลอาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 7 วัน

Fit-to-fly เป็นการผลักภาระให้สถานทูตและสายการบิน

ก่อนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าว ทาง กพท.มิได้ทำการประสานงานล่วงหน้าอย่างเพียงพอไปยังเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้เกิดความสับสนว่าในการตรวจพิจารณาออกหนังสือรับรองการเดินทางต้องดำเนินการตรวจอะไรบ้างและมีขั้นตอนการดำเนินการตรวจอย่างไร และมิได้คำนึงถึงว่ามีคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับจำนวนมาก จนอาจเกินขีดจำกัดของจำนวนบุคลากรที่ประจำอยู่ต่างประเทศ

การออกมาตรการ fit-to-fly กะทันหันยังส่งผลกระทบต่อสายการบิน เช่น 1 วันหลังมาตรการ Fit-to-Fly มีผลบังคับ สายการบิน Aeroflot Russian Airlines เที่ยวบินที่ SU6275 มอสโก-กรุงเทพฯ มีผู้โดยสารขึ้นเครื่องได้เพียง 3 คนเท่านั้น เพราะคนที่หาใบรับรองการเดินทางหรือใบรับรองแพทย์ได้ไม่ทันไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้ ในบางกรณีสายการบินต้องบินเครื่องเปล่ากลับ มาตรการนี้ทำให้สายการบินวางแผนไม่ได้ ซ้ำบางกรณียังต้องทำการชดเชยคืนค่าตั๋วให้ผู้โดยสาร

หันมองดูประเทศอื่นกับมาตรการพาคนชาติกลับบ้านในวิกฤติโควิด 19

ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่กับวิกฤติไวรัสโควิด–19 ความท้าทายหนึ่งที่รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องเผชิญ นั่นคือ การนำพาคนในชาติกลับประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวในแต่ละประเทศได้มีมาตรการที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ตัวอย่างเช่น ในกรณีประเทศอังกฤษ รัฐได้ทุ่มเงินถึง 75 ล้านปอนด์ ร่วมมือกับอุตสาหกรรมสายการบินในการจัดทำบันทึกความตกลงในการเช่าเครื่องบินเหมาลำจากสายการบินชั้นนำ ได้แก่ Virgin, Easyjet, Jet และ Titan Airways เพื่อไปนำคนอังกฤษที่อยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงกลับมายังบ้านเกิด โดยจะพิจารณาตามจำนวนนักเดินทางชาวอังกฤษที่ติดค้างอยู่ในแต่ละพื้นที่และความเสี่ยงจากการถูกติดเชื้อ รวมถึงการประเมินข้อกำหนดด้านสุขภาพในท้องถิ่น เที่ยวบินดังกล่าวจะเริ่มเปิดให้บริการที่กานาและตูนิเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจำนวนมากที่ติดอยู่ในประเทศที่เส้นทางการค้าถูกระงับอย่างสมบูรณ์ เมื่อกลับมาแล้ว ก็ให้ทำตามข้อกำหนดก็คือทำการกักตัว (Quarantine) นั่นเอง

กรณีของประเทศเยอรมนี รัฐบาลได้จัดสรรเงินจำนวน 50 ล้านยูโรสำหรับโครงการ “Luftbrücke” โดยได้ตกลงร่วมมือกับสายการบินต่างๆ เพื่อไปรับคนเยอรมันจากประเทศที่ได้ทำการปิดประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศโมร็อกโก สาธารณรัฐโดมินิกัน ฟิลิปปินส์ มัลดีฟส์ และอียิปต์

กระทรวงต่างประเทศออสเตรเลียเผยว่า กำลังวางแผนอพยพพลเมืองออสเตรเลียในประเทศกลุ่มเสี่ยงกลับประเทศ รวมถึงพลเมือง 2 สัญชาติ แม้ว่าออสเตรเลียไม่มีสถานกงสุลในอู่ฮั่น แต่นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่า รัฐบาลกำลังหารือกับรัฐบาลจีนสำหรับการเตรียมการดังกล่าว

กรณีญี่ปุ่น ส่งเครื่องบินไปรับพลเมืองตนเองเป็นจำนวน 3 ลำแล้ว ทำให้ยอดรวมของพลเมืองที่เดินทางกลับประเทศเพิ่มเป็นกว่า 550 คน

ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชา ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี อิหร่าน อิตาลี สเปน หรือสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่กัมพูชา เว้นแต่เป็นบุคคลสัญชาติกัมพูชาเท่านั้น โดยมิได้สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมในการเดินทางกลับบ้านสำหรับชาวกัมพูชาแต่อย่างใด

มาตรการ Fittofly ไม่ได้สร้างประโยชน์ในการป้องกันโควิด-19 ซ้ำยังเป็นภาระให้คนไทย

มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลไทยนอกจากจะทำให้เกิดภาระอันเกินควรแก่คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับบ้านอันเป็นการจำกัด Freedom of Movement ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รองรับไว้โดยชัดแจ้งตามมาตรา 25, 38 และ 39 แล้ว ยังมิได้มีเหตุผลประจักษ์ในทางวิทยาศาสตร์ว่าวิธีการดังกล่าวจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเข้าสู่ไทย ซ้ำยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด19 ให้กับคนไทยที่ต้องเดินทางไปขอใบรับรองการเดินทางที่สถานทูตและใบรับรองแพทย์ที่โรงพยาบาล และกทพ. ก็ไม่ได้จัดให้มีเครื่องมือสนับสนุน ช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกคนไทยที่อยู่ในต่างแดนอย่างเพียงพอ ทั้งยังขาดการประสานงานที่เหมาะสมไปยังเจ้าหน้าที่ไทยที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศ

ถ้าจุดประสงค์หลักของรัฐบาลในการใช้มาตรการออก fit-to-fly certificate คือการยับยั้งผู้ติดเชื้อที่จะเดินทางมายังประเทศไทย แต่ด้วยขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดกลับทำให้คนไทยในต่างแดนมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลไทยควรยกเลิกทั้งการนำใบรับรองการเดินทางและใบรับรองแพทย์มาใช้เป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยในต่างแดน และมาตรการที่ควรจะดำเนินการแทนคือ ให้คนไทยที่ต้องการจะเดินทางกลับสามารถกลับบ้านโดยไม่สร้างขั้นตอนที่ไม่มีเหตุผลเพิ่มเติม โดยสายการบินที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินมาตรการรับมือโควิด19 ที่กำหนดโดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL AIR TRANSPORT ASSOCIATION: IATA) เพื่อให้ผู้โดยสารมีโอกาสติดเชื้อน้อยที่สุด และเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยจะต้องมีมาตรการการควบคุมกักกัน (Quarantine) เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่กลับมาจะไม่แพร่ระบาดเชื้อต่อไป มาตรการเช่นนี้จะตอบโจทย์ของรัฐบาลในการคุ้มครองคนไทยในต่างแดนและป้องกันคนไทยในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า


ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดยคลิกชื่อบทความ)

1. รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2. Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3. ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4. เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5. เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้