ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทยปลอดภัยจากโควิด-19

รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

ในภาวะที่โรคระบาดโควิด-19 กระจายไปทั่วโลก คนไทยที่ไปทำงานต่างประเทศถึง 119 ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาอันเนื่องมาจากเกือบทุกประเทศมีมาตรการปิดประเทศ ปิดชายแดน ปิดการบินระหว่างประเทศ งดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างกับคนอื่นและ/หรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งรู้กันในเทอม Social distancing

สำหรับแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศมากกว่า 142,000 คน ซึ่งในเอเชีย มีจำนวนคนไทยเดินทางไปทำงานในกลุ่มประเทศเอเชียใต้มากที่สุดมากกว่า 1 แสนคน กลุ่มประเทศรองลงมาคือในทวีปยุโรป อเมริกา มากกว่า 6,000 คน ตามด้วยกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมากกว่า 27,000 คน และสุดท้ายคือกลุ่มประเทศแอฟริกามีมากกว่า 700 คน

คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับปัญหาต้องกักตัวเองมานานนับเดือนและกำลังเผชิญกับปัญหาขาดรายได้และเงินสะสมเริ่มร่อยหรอ บางคนโชคดีถ้านายจ้างมีความรับผิดชอบสูงจะจัดอาหาร เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ให้ประทังชีวิต แต่ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจากนายจ้างและไม่สามารถกลับประเทศได้ เช่น ประเทศที่แรงงานคนไทยไปอยู่มาก อาทิ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอิสราเอล เป็นต้น คงต้องพึ่งเจ้าหน้าที่แรงงานของกรมการจัดหางานและเจ้าหน้าที่สถานทูตที่จะต้องคอยสอดส่องดูแลให้พวกเขาอยู่ได้โดยไม่อดอยาก เจ้าหน้าที่ไทยควรจะมองหาช่องทางเจรจากับเจ้าหน้าที่ของประเทศนั้นๆ ให้แรงงานที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือซึ่งประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจดีคงพอช่วยเหลือได้

แต่ที่สำคัญคือ ผลจากโควิด-19 ในประเทศนั้นจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน ถ้านานเกินไปบางกลุ่มของอุตสาหกรรมต้องปิดตัวลงไปทั้งๆ ที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ยุติ ถ้าเป็นเช่นนั้นแรงงานไทยอาจจะถูกกระทบโดยตรงและต้องออกจากงาน ในที่สุดก็ต้อง “ร้องขอกลับประเทศ” ถ้าเป็นหลายพันคนขอกลับประเทศ เมื่อนั้นจะเป็นภาระหนักสำหรับประเทศไทยอีกระลอกหนึ่ง

ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์และมาเลเซียกำลังอยู่ในระยะที่จำนวนผู้ป่วยจากโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นทวีคูณ แน่นอนว่า 2 ประเทศนี้จะยิ่งต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดทุกรูปแบบที่จะหยุดยั้งให้การแพร่กระจายของโรคอยู่ในวงจำกัด นั่นหมายความว่า จะมีคนไทยที่ทำงานอยู่ในสิงคโปร์และ/หรือมาเลเซียที่กิจการปิดตัวลงชั่วคราว ในที่สุดต้องเดินทางกลับประเทศไทยเหมือนเช่นที่กำลังเป็นอยู่

ในขณะนี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนไทยที่ไปทำงานที่สิงคโปร์และมาเลเซียที่ถูกกฎหมายมีเพียง 2 พันคน และ 3 พันคนเศษ ตามลำดับ โดยเฉพาะมาเลเซียเชื่อว่ามีแรงงานไทยเข้าไปทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตมากกว่า 2 หมื่นคน ถ้าธุรกิจที่คนไทยเหล่านี้ไปทำงานเป็นลูกจ้างรายวัน เช่น งานการเกษตรและงานตามร้านอาหารปิดตัวลงเป็นเวลานาน พวกเขาจะขอเดินทางกลับเข้าประเทศไทยโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าต้องกลับเข้ามาเป็นจำนวนหลายพันคนภาระของรัฐบาลในการวินิจฉัยโรค เฝ้าระวังโรค รวมทั้งการกักกันตัวจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเทียบกับกำลังของสถานพยาบาลที่มีจำนวนไม่มากเหมือนจังหวัดอื่น เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ต้องเตรียมรับมือเอาไว้ล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีความน่ากังวลมากกว่าเรื่องคนไทยกลับจากต่างประเทศ คือ เรื่องการดูแลกิจการที่อาจจะกระทบแรงงานต่างด้าวมากกว่า 2.7 ล้านคน จากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่มาจาก 3 ประเทศรอบบ้านเราคือ เมียนมาที่มีมากกว่า 1.8 ล้านคน กัมพูชามากกว่า 6.5 แสนคน และ สสป.ลาวมากกว่า 2.8 แสนคน กระจายอยู่แทบทุกจังหวัดของประเทศไทย มีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำกิจการส่งออกตามจังหวัดชายทะเล  ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกระจุกตัวในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและหัวเมืองจังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศ

ปัญหาที่อาจจะมีคือ แรงงานส่วนใหญ่มาทำงานเพื่อเก็บเงินและส่งเงินกลับประเทศ การอยู่อาศัยและการกินอยู่มีลักษณะที่ประหยัด ชุมชนแรงงานต่างด้าว ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านการเคหะฯ แฟลตล้งกุ้ง แถว สมุทรสาครอยู่อย่างแออัด ห้องหนึ่งนอน 3-5 คน นอนตามช่องทางเดินอาคาร เป็นต้น ถ้าบังเอิญเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้นมาในชุมชนเหล่านี้ บางแห่งมีคนงานต่างด้าวอยู่เป็นหมื่นคน จะให้กักตัวอยู่แต่ในอพาร์ทเม้นท์เพื่อสังเกตอาการ 14 วัน เขาคงปฏิบัติตาม Social distancing ลำบาก เพราะว่าไม่มีที่ให้เขาทำเช่นนั้นได้

ที่พูดถึงเรื่องนี้ไม่ต้องการให้เกิดอาการหวาดกลัว (Panic) ขึ้นมากับครอบครัวชาวต่างด้าวและ/หรือชุมชนคนไทยโดยรอบ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทางกระทรวงแรงงานร่วมกับทางสภากาชาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ปูพรมด้วยหลายภาษา “ถิ่น” ของแรงงานต่างด้าวในหลายๆ ช่องทาง เพื่อให้ชาวต่างด้าวได้เข้าใจพิษภัยของโรคโควิด-19 การป้องกันตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดปลอดภัยจากโควิด-19 เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ต้องทำให้เข้าถึงทุกชาติพันธุ์ที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งมีทั้งชาวมอญ กะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ พม่า ม้ง ลาหู่ ที่หลักๆ ยังมีภาษากัมพูชา ภาษาลาว เป็นต้น พวกเขาอยู่กระจายโดยทั่วไป ดังนั้น ควรคำนึงถึงแหล่งจ้างงานของพวกเขา ที่สำคัญนายจ้างคือคนที่อยู่ใกล้ชิดกับแรงงานต่างด้าวมากที่สุดควรจะเป็นคนที่ “รับผิดชอบ” ชีวิตแรงงานต่างด้าวมากที่สุดและถ้าเกิดโรคระบาดในกลุ่มต่างด้าวจะกระทบชุมชนคนไทยและงานสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล สมมติมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหมู่แรงงานต่างด้าว 20,000 คน และมีคนที่อยู่แวดล้อมนับร้อยๆ จะเอาสถานที่ไหนไปกักตัวพวกเขาได้ จึงขอให้กระทรวงแรงงานอย่าผ่อนความเข้มงวดในการตรวจติดตามการระบาดของโควิด-19 จากแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาลในประเทศไทย

อย่าลืมว่ายังมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายปะปนอยู่บ้าง ซึ่งไม่ทราบจำนวนเท่าไร จำนวนพันหรือจำนวนหมื่น แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้มักเป็นลูกจ้างชั่วคราว รายวัน เคลื่อนย้ายตัวเองเป็นระยะ กระจายอยู่ตามสวน ไร่นา ที่ห่างไกลจากสายตาเจ้าหน้าที่ ยากที่จะตรวจจับซึ่งเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความระมัดระวังและเข้มงวดทางกฎหมาย

ท้ายที่สุด ผู้เขียนขอสนับสนุนกระทรวงแรงงานใช้มาตรการเชิงรุกในการดูแลแรงงานต่างด้าว แต่ต้องทำความเข้าใจกับการระบาดของโควิด-19 ด้วยว่า นิเวศของการอยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากนี้มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดได้เช่นกัน “กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วแก้ไม่ทัน”

ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)

1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์
9ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาดและมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง
10ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม