รศ. ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ต่อการว่างงานของแรงงานในระบบกรณีของไทยนั้น ดูได้จากตัวเลขที่เร็วที่สุดคือ ผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาจากการระบาดของไวรัสและมาตรการของรัฐหลายประเด็นที่ต้องการหยุดการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว แต่ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยก็ยังเพิ่มขึ้น ในเดือนมีนาคม เพิ่มจากเดือนมกราคม (ก่อนปัญหาไวรัสระบาด) ร้อยละ 48.38 และจากเดือนกุมภาพันธ์ ร้อยละ 41.89 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่มีต่อแรงงานในระบบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและก็คงยังจะยังยืดเยื้อต่อไปอีก
จากสถิติการติดเชื้อทั่วโลกยังไม่มีแนวโน้มลดลง จะเห็นว่าช่วง 3 วันที่ผ่านมา (6 เมษายน) สถิติผู้ป่วยยังเพิ่มมากกว่าร้อยละ 4 และสถิติผู้เสียชีวิตยังเพิ่มมากกว่าร้อยละ 5 โดยในอาเซียนมีสถิติผู้ป่วยร้อยละ1.0 ของโลก เมื่อนับจำนวนผู้ป่วยและจำนวนผู้เสียชีวิตของโลกแล้วอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 2.69 เทียบกับของโลกประมาณร้อยละ 5.55
สำหรับประเทศไทยยังนับว่าโชคดีที่อัตราผู้เสียชีวิตยังต่ำกว่าอาเซียน ซึ่งยังไม่ถึงร้อยละ 1 ถ้าแสดงให้เห็นถึงมาตรการของรัฐแบบผ่อนปรนในเชิงป้องกันและมาตรการของรัฐในด้านรักษาพยาบาลทางการแพทย์และสาธารณสุขถือว่า ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าหลายประเทศในอาเซียนและประเทศชั้นนำของโลกโดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลและความพยายามในการลดจำนวนผู้เสียชีวิต
จากข้อมูลสถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต 10 ประเทศทั่วโลก และ 10 ประเทศในอาเซียนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนเมษายน 2563 จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไม่มาก ในระดับโลกเพิ่มขึ้นตลอดเวลาจนมากกว่า 1.2 ล้านคน ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหยุดได้โดยง่ายมีเพียงเยอรมนีและสิงคโปร์ที่มีผู้เสียชีวิตชะลอตัวลงมากเทียบกับภาพรวมของโลก จำนวนผู้เจ็บป่วยในต้นเดือนเมษายน (4-6 เมษายน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.02 ต่อวัน อัตราการตายขยายตัวร้อยละ5.14 ต่อวัน โดยภาพรวม 10 ลำดับแรกของโลก อัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 6.0 อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน 10 ประเทศมีผู้เจ็บป่วยจากโคโรนาไวรัสเพียง 13,595 คน (6 เมษายน) หรือร้อยละ 1 ของโลกเท่านั้นและยังมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าในระดับโลกเกือบ 2 เท่า (ร้อยละ 2.69)
สำหรับประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 39 ของโลกและอยู่ลำดับที่ 4 ของอาเซียน ปัญหา ณ ขณะนี้จึงมิได้อยู่แต่เฉพาะในแถบอาเซียน เมื่อเทียบกับปัญหาของการระบาดของโควิด-19 ลุกลามไปมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลกแล้ว
เมื่อวันที่ 6 เมษายน ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกไว้ชัดเจนว่า “จะทำให้เกิดภาวะถดถอย” เนื่องจากโควิด-19 ทำให้การเคลื่อนไหวทั้งคนและสินค้า “หยุดชะงัก”ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา สำหรับประเทศไทยเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหยุดชะงัก เช่น การลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 การเคลื่อนย้ายของคนโดยสารการบินทั้งระหว่างประเทศและการเดินทางภายในประเทศ การจำกัดการเคลื่อนย้ายคนในประเทศ ทำให้ real sector ต้องลำบากแทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกและการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภค
ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนก็ชะลอตัว คงเหลือแต่เครื่องยนต์ของรัฐเท่านั้นที่ยังทำงานได้ ภาคที่เดือดร้อนมากที่สุดอันเป็นผลจากโควิด-19 คือ ภาคบริการเกือบทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ภัตตาคาร ร้านค้า บริการต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักไปเกือบทั้งหมด ซึ่งแน่นอนต้องกระทบแรงงานส่วนหนึ่งเป็น “มนุษย์เงินเดือน” เอกชน หรือลูกจ้างชั่วคราวของภาครัฐหลายแสนคน อีกทั้งแรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคนต้องได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมไปด้วย
ปัญหาคือแรงงานนอกระบบคงจะไม่ได้ 15,000 กันทุกคน
มนุษย์เงินเดือนของสถานประกอบการเอกชน (ในส่วนของแรงงานในระบบ) ซึ่งรัฐมีมาตรการค่อนข้างชัดเจนในการช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม แรงงานที่อยู่ในประกันสังคมมากกว่า 12 ล้านคน จากกำลังแรงงานที่มีงานทำมากกว่า 38.3 ล้านคนโดยประมาณ ตัดบุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจออกไปจะเหลือประมาณ 3.5 ล้านคน แรงงานนอกระบบ (informal worker) ประมาณ 20.4 ล้านคน หรือร้อยละ 55.3 ของผู้มีงานทำไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันสังคมจากการทำงาน แรงงานเหล่านี้ไม่มีนายจ้าง จึงไม่มีสัญญาจ้าง เป็นผู้ประกอบการอิสระ ไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่ง ไม่มีค่าจ้างค่าตอบตอบที่แน่นอน ส่วนมากเป็นพวกแรงงานอิสระ “หาเช้ากินค่ำ” กลุ่มนี้มีความหวังว่ากำลังจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
รัฐให้ความหมายกับคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ถูกกระทบจาก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มีผลบังคับใช้ 26 มีนาคม 2563 จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาท ตั้งแต่เมษายน ถึง มิถุนายน เน้นเฉพาะ “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่มีประกันสังคม” โดยเบื้องต้นน่าจะจ่ายให้กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ถูกกระทบที่เข้าข่าย 9 ล้านคนๆ ละ 15,000 บาท เป็นเงิน 150,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.89 ของมูลค่า GDP ของประเทศหรือประมาณร้อยละ 2.89 ของงบประมาณปี 2563 (5.2 ล้านล้านบาท)
เราไม่ทิ้งกัน แต่รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
จากการที่มีผู้ลงทะเบียนผ่านระบบ www.เราไม่ทิ้งกัน.com มากกว่า 21.5 ล้านคน (เมื่อ 31 มีนาคม) ถ้าพิจารณาจากตารางแรงงานนอกระบบมีเพียง 20.4 ล้านคน แสดงว่าเกือบทุกคนได้ลงทะเบียนผ่านระบบดังกล่าวและอาจจะมีแรงงานบางอาชีพจากแรงงานในระบบอีกมากกว่า 1 ล้านคน (จากทั้งหมด 17 ล้านคน) มาร่วมลงทะเบียนด้วยซึ่งอาจจะมีปัญหาถูกกระทบจากการปิดกิจการของนายจ้างจริงหรือไม่แน่ใจเงื่อนไขของรัฐบาลกลัวจะตกจากระบบอีกบางส่วนอยู่ในยอดรวม 21.5 ล้านคนนี้ด้วย
ผู้เขียนนำตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติไตรมาส 3 ปี 2563มาเปรียบเทียบกับอาชีพที่ไม่อยู่ในข่ายรับเงิน 5,000 บาท และพิจารณาวิธีการตัดออกของผู้อยู่ในข่ายได้เงิน 38 ล้านคนโดยรัฐ (อ้างถึงจากกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 7 เมษายน) ที่เหลืออยู่ในข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 3 ล้านคน จำนวนที่ถูกตัดออก (ไม่มีรายละเอียดที่มาตัวเลข)
– เกษตรกร รวมทั้งสมาชิก 17.0 ล้านคน
– พนักงานมีรายได้ประจำ 11.0 ล้านคน
– อาชีพอิสระ (มาตรา 39-40) 5.0 ล้านคน
– กลุ่มอื่นๆ (นักเรียน ข้าราชการ ฯลฯ) 2.0 ล้านคน
รวม 35.0 ล้านคน
พบว่าเกษตรกรที่ถูกตัดไป 17 ล้านคนนั้นจริงแล้ว เกษตรกรที่เป็นแรงงานนอกระบบมีเพียง 11.06 ล้านคนเศษเท่านั้น ต่อให้รวมเกษตรกรอีก 0.88 ล้านคนจากแรงงานในระบบก็มีเกษตรกรโดยรวม 11.92 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งจำนวนดังกล่าวนี้รวมตัวหัวหน้าครัวเรือน ทำอาชีพทำการเกษตรเป็นผู้ช่วยครัวเรือน (ไม่มีค่าจ้าง) สมาชิกบางคนไปทำงานทั้งที่เป็นลูกจ้างของรัฐและเอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือไปรับจ้างเท่าที่หารายได้มาจุนเจือครอบครัวได้เท่านั้น จำนวนต่างจากที่รัฐตัดออกมากกว่า 5 ล้านคน คำถามคือภาครัฐอาจจะคัดออกมากเกินไปหรือไม่
แรงงานนอกระบบกลุ่มที่ 2 คือ พนักงานขายมีอีกเกือบ 4.6 ล้านคน กลุ่มนี้ไม่แน่ใจว่ามีรายได้ประจำมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่นอนคือ ไม่เข้าข่ายได้รับการคุ้มครองทางสังคม กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการของรัฐ ถ้ารวมพนักงานขายในระบบอีก 2.14 ล้านคน พนักงานทั้งในระบบและนอกระบบมียอดรวมเพียง 6.73 ล้านคน ยังน้อยกว่าจำนวนที่รัฐตัดออก 11.00 ล้านคน อีกมากกว่า 4 ล้านคนที่เสี่ยงต่อการไม่ได้รับการเยียวยา อาชีพอิสระถ้ารวมทุกกลุ่มที่เหลือของแรงงานนอกระบบประกันสังคมจะมีอีกประมาณ 3.96 ล้านคน ไม่รวมพวกมีความเชี่ยวชาญ 0.77 ล้านคน ถ้าไปตกอยู่กับกลุ่มที่ถูกตัดออก 5 ล้านคน จะเป็นผู้ที่เสียโอกาสไม่ได้รับการชดเชย
เท่าที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนใช้หลักฐานข้อมูลทางสถิติของรัฐและของสำนกงานสถิติแห่งชาติเท่าที่มีอยู่และหาได้เพื่อมาสังเคราะห์ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์โชคดีก่อนเพื่อนที่จะได้รับเงินงวดแรกในสัปดาห์นี้จำนวน 3 ล้านคนและครั้งต่อไปเร็วๆนี้อีก 6 ล้านคนแต่จากการประเมินผลในเบื้องต้นของผู้เขียนพบว่า อาจจะมีกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ถูกตัดออกจำนวนมากแต่อาจจะอยู่ในข่ายที่ควรได้รับการช่วยเหลืออีกเกือบ 2 ล้านคนหรือมากกว่านั้นก็เป็นได้
ข้อเสนอแนะเบื้องต้นก็คือ รัฐควรเปิดเผยรายละเอียดของการคัดกรองแรงงานที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกันและเมื่อได้แจกจ่ายเงินไปตามเงื่อนไขของรัฐแล้ว 9 ล้านคนอาจจะต้องมีการตรวจติดตามในระดับหมู่บ้านว่า ยังมีประชาชนที่ควรจะเป็นกลุ่มเป้าหมายตกค้างอยู่อีกหรือไม่ โดยอาศัยตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ระดับหมู่บ้านอีกทั้งอาจจะมีประชาชนที่เข้าข่ายไม่ได้รับความช่วยเหลืออันเนื่องมาจากไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารและ/หรือไม่มีขีดความสามารถจะลงทะเบียนได้ด้วยเหตุผลอื่นใดและเพื่อให้พวกเขาไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังทำให้เกิดความเป็นธรรมโดยถ้วนหน้ากัน
ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”
ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดยคลิกชื่อบทความ)