การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?

พงศ์ทัศ วนิชานันท์

การระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ส่งผลต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เชื้อไวรัสเริ่มระบาดในประเทศจีนปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน UNESCO รายงานว่ารัฐบาล 191 ประเทศทั่วโลก ประกาศปิดสถานศึกษาทั้งประเทศ มีผู้เรียนได้รับผลกระทบกว่า 1.5 พันล้านคน (มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้เรียนทั้งหมด) สำหรับประเทศไทยสถานการณ์การระบาดเกิดขึ้นในช่วงสถานศึกษาขั้นพื้นฐานปิดภาคเรียน โดยในช่วงต้นเดือนเมษายน  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เลื่อนวันเปิดเทอมภาคเรียนที่ 1 ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ไทยจึงมีโอกาสทบทวนบทเรียนจากต่างประเทศเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับมาตรการป้องกันการระบาด พร้อมกับเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เรียนได้รับผลกระทบจากรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไป

สิ่งแรกที่รัฐต้องตัดสินใจ คือ การเปิด-ปิดโรงเรียน แต่ผลของการปิดโรงเรียนอาจได้ไม่คุ้มเสีย

มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลหลายประเทศใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสคือ มาตรการกึ่งปิดเมือง (Semi-lockdown) และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  โรงเรียนจึงจำเป็นต้องถูกปิดไปด้วยเพื่อลดช่องทางการแพร่เชื้อไวรัส  อย่างไรก็ตามงานวิจัยศึกษาผลของการปิดโรงเรียนในประเทศจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ประกอบกับบทเรียนในอดีตจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส SARs บ่งชี้ว่า การปิดโรงเรียนอย่างเดียวส่งผลน้อยมากต่อการลดจำนวนของผู้ติดเชื้อ เมื่อเทียบกับมาตรการอื่น

นอกจากนี้ธนาคารโลกยังแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ปิดโรงเรียนว่า จะส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่เสียโอกาสในการเรียนรู้ โดยเฉพาะนักเรียนในครอบครัวที่มีฐานะยากจน  เนื่องจากไม่มีรายได้มากพอที่จะนำมาใช้สนับสนุนการเรียนของบุตรหลานเพิ่มเติม ที่ร้ายแรงที่สุดการปิดโรงเรียนอาจผลักให้นักเรียนกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตเด็กในระยะยาว ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นคือการวางแนวทางเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้ไปโรงเรียนอีกครั้ง โดยให้สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ ควบคู่กับการใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขและมาตรการทางสังคมอย่างเคร่งครัดในโรงเรียน

หากต้องปิดโรงเรียน เรียนทางไกลแก้ปัญหาได้ แต่รัฐควรดูแลเด็กยากจนเป็นพิเศษ

ช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 หลายประเทศใช้วิธีการสอนทางไกล ไม่ว่าจะเป็นการสอนออนไลน์ผ่าน Massive Open Online Courseware (MOOC) หรือแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ครูสอนในห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) หรือใช้การถ่ายทอดการสอนผ่านสัญญาณโทรทัศน์ เพื่อให้เด็กเรียนต่อที่บ้านได้ขณะปิดโรงเรียน แต่การใช้วิธีดังกล่าวทำให้เด็กบางกลุ่มโดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจนเสียเปรียบ เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลที่บ้าน นอกจากนี้ ในการเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ การเรียนที่บ้านจึงเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครอง อาจทำให้เหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นหากผู้ปกครองไม่มีความพร้อมในการช่วยเหลือบุตรหลานของตนในการเรียน

เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่ไม่มีความพร้อมเสียโอกาส รัฐบาลของหลายประเทศได้จัดหาอุปกรณ์การเรียนให้แก่เด็กกลุ่มดังกล่าว เช่น รัฐบาลฮ่องกงให้โรงเรียนสำรวจความพร้อมนักเรียน และจัดหาคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนยืมเรียน รัฐนิวยอร์กเตรียม iPad พร้อมอินเทอร์เน็ตให้นักเรียนยืมกว่า 3 แสนเครื่อง และรัฐแคลิฟอร์เนียร่วมมือกับบริษัท Google จัดหา Chromebooks และ Mobile Hotspot ให้นักเรียน รวมทั้งออกคู่มือให้ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือเด็กในการใช้อุปกรณ์

ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการเรียนทางไกลค่อนข้างสูง ข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) บ่งชี้ว่า สัดส่วนของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำสูงในการเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัล โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจน และครัวเรือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีนักเรียนกว่า 8 หมื่นคน อยู่ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง  ดังนั้น รัฐบาลต้องสำรวจความพร้อมของครัวเรือนเด็ก และมีมาตรการที่หลากหลายเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนทางไกลของเด็กที่มีสภาพความขาดแคลนแตกต่างกัน

จากบทเรียนข้างต้น รัฐบาลไทยควรมีมาตรการเปิด-ปิดโรงเรียนให้สอดรับกับความรุนแรงของการระบาดของโรค มีความยืดหยุ่นในแต่ละพื้นที่ และใช้มาตรการด้านอื่นควบคู่ในกรณีเปิดโรงเรียน นอกจากนี้ ควรเร่งสำรวจความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนทางไกลของเด็ก เพื่อเตรียมอุปกรณ์หรือสื่อการเรียนให้เหมาะสมกับบริบทของครอบครัวเด็กที่แตกต่างกัน โดยดำเนินการ 6 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1 กำหนดมาตรการเปิด-ปิดโรงเรียนให้สอดคล้อง และยืดหยุ่นตามความรุนแรงของการระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยวางแนวทางให้ พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องปิดโรงเรียน และให้เด็กเรียนทางไกลที่บ้านจนสถานการณ์ลดความรุนแรงลงจนสามารถกลับมาเปิดโรงเรียนได้   

ในกรณีพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประปราย หรือไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ให้พิจารณาเปิดโรงเรียนได้ภายใต้ข้อจำกัดความพร้อมของห้องเรียน และความพร้อมในการเรียนทางไกลของเด็ก ทั้งนี้ควรกำหนดให้แนวทางการเปิด-ปิดโรงเรียนยืดหยุ่นตามสถานการณ์ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในกรณีที่สถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น และสถานการณ์ผ่อนคลายลง

ประการที่ 2 ปรับปรุงห้องเรียนให้เป็น “ห้องเรียนปลอดภัย ห่างไกล โควิด-19” โดยกำหนดแนวทางให้โรงเรียนทุกแห่งสำรวจความพร้อมของห้องเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการ ควรประสานงานกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยากำหนดลักษณะของห้องเรียนที่เหมาะสม เช่น จัดระยะห่างระหว่างนักเรียนอย่างน้อย 1 เมตร และมีอากาศหมุนเวียนอย่างน้อย 10 เท่าของปริมาณอากาศในห้องเรียน เป็นต้น เพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งประเมินความพร้อมด้านกายภายของตน ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรสื่อสารอย่างชัดเจน โดยกำหนดแนวทางที่อิงกับแบบแปลนอาคารเรียนมาตรฐาน หรือในกรณีที่โรงเรียนไม่ได้ใช้แบบแปลนมาตรฐาน ควรแจ้งให้โรงเรียนทราบถึงมาตรฐานของการระบายอากาศอย่างชัดเจน

ประการที่ 3 สำรวจความพร้อมการเรียนทางไกลของเด็ก เพื่อประเมินความเสี่ยง กระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานต้นสังกัดโรงเรียน ควรประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนนักเรียนมาบูรณาการร่วมกันเพื่อจัดกลุ่มตามระดับความเสี่ยงในการเข้าถึงการเรียนทางไกล โดยแบ่งเด็กเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความพร้อม ได้แก่ เด็กมีอุปกรณ์ดิจิทัลพร้อมอินเทอร์เน็ตที่บ้าน กลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้าน แต่เข้าถึงไฟฟ้าได้ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้าน และไม่มีไฟฟ้าใช้  ทั้งนี้ ควรใช้ข้อมูลเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ปกครองด้วย เช่น เป็นเด็กอยู่กับพ่อแม่หรือไม่ เพื่อวางแผนให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่พร้อมสนับสนุนบุตรหลานในกรณีที่ต้องเรียนที่บ้าน

ในกรณีพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประปราย และพื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โรงเรียนควรเปิดการเรียนการสอนตามปกติ หากมีห้องเรียนพร้อมรองรับนักเรียนทุกคน โดยยังสามารถรักษาระยะห่างได้  ส่วนโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดชั้นเรียนตามมาตรฐานรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยได้ ควรใช้วิธีการสอนในโรงเรียนตามปกติผสมกับการสอนทางไกล เช่น โรงเรียนประถมศึกษาหรือขยายโอกาส ให้นักเรียนอนุบาลหรือในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1 ถึง ป.3) มาเรียนที่โรงเรียนตามปกติ  แต่ให้นักเรียนระดับ ป.4 ขึ้นไปเรียนที่บ้าน   ส่วนโรงเรียนมัธยม ครูอาจประเมินนักเรียนตามผลการเรียน (เช่น คะแนนสอบ หรือพฤติกรรม เป็นต้น) แล้วให้เด็กที่จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดมาเรียนตามปกติ นอกจากนั้นให้เรียนที่บ้าน เป็นต้น

ประการที่ 4 จัดเตรียมอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล ในกรณีโรงเรียนต้องปิดเพราะพื้นที่มีการระบาดรุนแรง หรือโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดชั้นเรียนในห้องเรียนแก่เด็กทุกคนได้ กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต้นสังกัดควรจัดเตรียมอุปกรณ์ รวมทั้งสื่อการเรียนการสอนแก่เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น จัดเตรียมแท็บเล็ต (Tablet) พร้อมเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ให้ยืมเรียน แก่เด็กที่ขาดแคลนอุปกรณ์ที่บ้าน แต่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ เพื่อให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้ และจัดเตรียม “สื่อแห้ง” ในรูปชุดสื่อการเรียนรู้ (Learning Packages) สำหรับเด็กที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ เป็นต้น

ประการที่ 5 ใช้มาตรการทางสาธารณสุข และมาตรการทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ในโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอน ในกรณีที่โรงเรียนสามารถจัดการสอนได้ หรือใช้การสอนแบบผสม ควรบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดตาม “แนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19)” ที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับองค์กร UNICEF อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ให้นักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ที่เจ็บป่วยมาโรงเรียน กำหนดให้มีการล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ และรณรงค์ส่งเสริมให้สวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น

ประการที่ 6 สื่อสารให้ผู้ปกครองทราบความจำเป็นของมาตรการเปิด-ปิดโรงเรียน รวมทั้งให้คู่มือสนับสนุนเด็กสำหรับการเรียนทางไกล โดยให้ผู้ปกครองทราบว่ารัฐบาลมีแนวทางการเปิด-ปิดโรงเรียน อย่างไร เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้  นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการควรจัดทำคู่มือสำหรับผู้ปกครองสำหรับสนับสนุนบุตรหลานในกรณีเรียนที่บ้าน เช่น วิธีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเรียนออนไลน์ แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น หรือ คู่มือการใช้สื่อการเรียนรู้ เป็นต้น

การเปิด-ปิดโรงเรียนเป็นเพียงมาตรการหนึ่งเพื่อตอบโจทย์ “การศึกษาต้องปรับตัวอย่างไรในช่วงสถานการณ์ โควิด-19” เพื่อให้เด็กกลับมาเรียนตามปกติให้ได้เร็วที่สุดเท่านั้น  แต่จะทำอย่างไรให้เด็กสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ที่อาจต้องเรียนที่บ้านช่วงหนึ่ง แล้วสลับกลับมาเรียนตามปกติภายหลังสถานการณ์ระบาดลดความรุนแรงลง  รวมทั้งระบบการศึกษาทั้งระบบจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะกล่าวถึงใน“TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”สำหรับการศึกษาไทยในบทความต่อไป 


ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)

1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์
9ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาดและมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง
10ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
11ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทยปลอดภัยจากโควิด-19
125 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”