ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดเล็กกว่า ย่อมเงินทุนสำรองในการประกอบธุรกิจน้อยกว่า ส่งผลให้ไม่สามารถทนรับสถานการณ์วิกฤติทางเศรษฐกิจได้นานเหมือนธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งมีเงินทุนสำรองในการรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้ยาวนานกว่า
จากข้อมูลกิจการตามนิยามโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่ามีสถานประกอบการรวม 3,119,737 แห่ง โดยจำแนกเป็น
- Micro: 2,645,084 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 84.8
- Small: 415,722 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 13.3
- Medium: 44,290 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 1.4
- Large: 14,641 ธุรกิจ คิดเป็น ร้อยละ 0.5
จะเห็นได้ว่า สถานประกอบการกลุ่มขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง รวมกันมีจำนวนถึงร้อยละ 99.5 ของสถานประกอบการทั้งหมด
รูปที่ 1: นิยามของสถานประกอบการในแต่ละขนาด
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน จากข้อมูลยอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่และการเลิกประกอบกิจการ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า การจัดตั้งธุรกิจใหม่มีแนวโน้มน้อยลงกว่าเดิมหากพิจารณาผลของฤดูกาล ขณะที่การเลิกประกอบกิจการยังคงสอดคล้องกับค่าสถิติในอดีต
รูปที่ 2: สถิติยอดการจัดตั้งธุรกิจใหม่
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
รูปที่ 3: สถิติการเลิกประกอบกิจการ
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ทำการสำรวจกลุ่ม SMEs และ supply chain พบว่า มีสถานประกอบการจำนวน 1.33 ล้านราย ที่ได้รับผลกระทบ โดยสาขาที่สำคัญ ได้แก่
- ธุรกิจค้าปลีก 873,360 ราย
- ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 330,875 ราย
- บริการขนส่ง 64,885 ราย
- ที่พัก โรงแรม บริการการท่องเที่ยว 45,430 ราย
- กีฬา และนันทนาการ 18,355 ราย
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ โดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว
- โดยทั่วไป ภาครัฐไม่ได้มีหน้าที่ในการเข้าไปดูแลไม่ให้ธุรกิจล้ม
- การเข้ามาดำเนินธุรกิจและการออกจากการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ กลไกนี้เป็นกลไกการเอาตัวรอดผ่านการแข่งขัน (survival of the fittest, creative destruction)
- ตัวอย่างวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐฯ บริษัท Lehman Brothers เป็นบริษัทวาณิชธนกิจอันดับ 4 ของสหรัฐ ก่อตั้งเมื่อปี 1847 ได้ล้มละลาย
ดังนั้น หากปัญหาโควิด-19 เป็นปัญหาชั่วคราว การใช้เครื่องมือทางการเงินพื้นฐาน ได้แก่ การชะลอการชำระหนี้ และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ (ผู้ทำธุรกิจรับผลของโควิด-19 เป็นความเสี่ยงของธุรกิจ)
แต่หากปัญหาโควิด-19 เป็นปัญหาที่ยาวนาน จะต้องพิจารณาเพิ่มเติม ดังนี้
- ค่าจ้าง: จ่ายเงินเพื่ออุดหนุนรักษาระดับจ้างงาน การสนับสนุนการอบรมสำหรับแรงงานตกงาน หรือที่ใช้อยู่ปัจจุบัน คือ เงินอุดหนุน 5,000 บาท และเงินประกันว่างงานจากประกันสังคมก็เพียงพอแล้วหรือไม่
- ค่าเช่าเอกชน: ปัจจุบันเป็นไปตามกลไกตลาด พบทั้งกรณีไม่เก็บค่าเช่า ลดค่าเช่าบางส่วน จนถึงไม่ลดค่าเช่าเลย นโยบายรัฐโดยทั่วไปเข้าไม่ถึงเพราะเอกชนสามารถ transfer pricing ได้
- ดอกเบี้ย: ภาครัฐดูแลให้การช่วยเหลือแล้ว แต่อาจจะมีปัญหาการเข้าถึง ธุรกิจที่ขอกู้ใหม่ หรือขอ Soft loan อาจจะเข้าไม่ถึงอย่างแท้จริง
- ภาษี: มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผลน้อย และมาตรการลดภาษีบางตัว ต้องระวังเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น การลดภาษีที่ดิน แต่ถ้าสามารถกำหนดสำหรับ SMEs ได้อาจจะดี เช่น ภาษีที่ดินที่เก็บกับห้องแถว
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เขียนโดย คณะวิจัย TDRI
8 พฤษภาคม 2563