ประเทศไทยมีโรงเรียนบนพื้นที่สูงอยู่ 1,190 แห่ง และโรงเรียนที่ตั้งอยู่บนเกาะ 123 แห่ง ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้มีบริบทของสถานศึกษาและนักเรียนที่แตกต่างจากโรงเรียนในพื้นที่ราบ เช่น ในด้านของความยากลำบากในการเดินทาง ปัญหาของการเข้าถึงไฟฟ้า แหล่งน้ำสะอาด นักเรียนมักจะใช้ภาษาถิ่นหรือพหุภาษา และมักจะเป็นโรงเรียนที่นักเรียนที่มาจากภูมิหลังครัวเรือนที่ยากจนสูง
เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปจากกลางเดือนพฤษภาคม เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยกระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแนะให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้เป็น4 ช่องทาง คือ (1) เรียนรู้ผ่านระบบโทรทัศน์ DLTV (On-Air Education) ใช้เป็นรูปแบบหลัก ตั้งแต่ประถมศึกษาไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น (2) เรียนรู้เสริมผ่านระบบดิจิทัล (Online Education) (3) เรียนรู้เสริมแบบโต้ตอบ (Interactive Education) และ (4) เรียนรู้ที่โรงเรียนแบบแบ่งเป็นกะ (Onsite Education) ซึ่งแต่ละช่องทางมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์การสื่อสาร TV สัญญาณอินเตอร์เน็ต บทความนี้จะทำการฉายภาพของโรงเรียนชายขอบ นำเสนอปัญหาและข้อคิดเห็นในการจัดการการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ปัญหาการเรียนทางไกลสำหรับโรงเรียนชายขอบ
จากการสำรวจความพร้อมของโรงเรียนชายขอบกับการเรียนระบบผ่าน TV และออนไลน์ โดยผู้เขียนนั้น พบว่าโรงเรียนชายขอบยังมีปัญหาที่จะปฎิบัติการเรียนการสอนในระบบทางไกลอยู่มาก เนื่องจากไม่มีความพร้อมในหลายปัจจัย เช่น ไม่มีอุปกรณ์หรือไม่มีระบบการสื่อสาร ไม่มีไฟฟ้าหรือไฟฟ้าดับบ่อยในช่วงหน้าฝนและบางครั้งเป็นเวลาหลายวัน ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนหรือแนะนำให้บุตรหลาน บางโรงเรียนมีนักเรียนเกินครึ่งที่ไม่มี TV ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญหลักในการเรียนแบบทางไกล และผู้ปกครองเกินครึ่งไม่สามารถแนะนำการเรียนการสอนที่บ้านได้เนื่องจากเป็นชาวเขาที่ไม่เข้าใจภาษาไทยดีพอ ในหลายพื้นที่เด็กส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ในลักษณะของครอบครัวแหว่งกลาง ที่พ่อแม่ต้องออกไปทำมาหากินในเมือง หลายครัวเรือนไม่มีการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตสำหรับการเรียนเสริมแบบโต้ตอบ จะเห็นได้ว่านักเรียนในกลุ่มนี้แทบจะไม่สามารถเรียนที่บ้านได้เลย นอกจากความไม่พร้อมที่จะศึกษาระบบทางไกลแล้ว นักเรียนกลุ่มที่มีฐานะยากจนนี้ยังมีปัญหาทางโภชนาการเนื่องจากโรงเรียนต้องปิดเทอมเป็นระยะเวลานานเพราะนักเรียนเหล่านี้จะต้องพึ่งพาอาหารจากโรงเรียนซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารที่เหมาะสมต่อการพัฒนา ต่างจากอาหารที่บ้านของพวกเขาซึ่งมักเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์มากนัก เช่น ผักต้ม โรงเรียนชายขอบหลายแห่งรายงานว่านักเรียนของตนจะมีน้ำหนักมากที่สุดในวันปิดเทอมและมีน้ำหนักตัวน้อยที่สุดในวันเปิดเรียนวันแรก เนื่องจากไม่ได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าและประโยชน์ในขณะอยู่ที่บ้าน
รูปแบบการแก้ปัญหาและข้อเสนอแนะจากโรงเรียนชายขอบ
ณ ปัจจุบันได้มีคำสั่งจากกระทรวงศึกษาธิการให้โรงเรียนต่าง ๆ เริ่มเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งข้อมูลที่เก็บจากโรงเรียนชายขอบจำเป็นต้องถูกการคัดกรองเป็นพิเศษหรือมีการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็นปัญหาของแต่ละโรงเรียนจะได้นำมาออกแบบมาตราการพื้นฐานที่เหมาะสม
โรงเรียนชายขอบควรได้รับความสำคัญของการพิจารณาจากรัฐบาลในการตัดสินใจที่จะผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ในระยะต่อไป ซึ่งอาจจะพิจารณาตามพื้นที่และออกมาตรการที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้หากมีการอนุญาตให้บางพื้นที่เปิดโรงเรียนแบบกะ (Onsite Education) ได้ โดยแบ่งให้นักเรียนผลักกันมาเรียนในจำนวนไม่มากนักเพื่อให้ยังรักษามาตรการเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing) ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงต่อนักเรียนและครู ควรมีหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องของพื้นที่ที่สามารถเปิดให้เรียนในโรงเรียนได้ และให้คำแนะนำการปฎิบัติในเรื่องของการจัดรูปแบบสถานศึกษาที่ชัดเจน เช่น จำนวนเด็กต่อห้อง ระยะห่างระหว่างเด็ก การตรวจวัดอุณหภูมิเด็กและบุคลากร และมาตรการอื่น ๆ ที่สามารถลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 รวมไปถึงความช่วยเหลือในด้านอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ หน้ากาก และแอลกอฮอล์
ในเรื่องของรูปแบบการจัดกะการเรียนการสอนที่โรงเรียน ควรให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูเป็นผู้ตัดสินใจ โดยผู้อำนวยการโรงเรียนทำการเก็บข้อมูลของนักเรียนในเรื่องของวิธีการเดินทางมาโรงเรียนเพื่อที่จะออกแบบการเรียนการสอนว่าควรเป็นไปในรูปแบบใด มีการทำการแบ่งวันมาโรงเรียนตามชั้นเรียนตามหมู่บ้านของนักเรียน เป็นต้น หรือพิจารณาเรื่องของความพร้อมในการเดินทาง รถโดยสารของหมู่บ้าน เพื่อให้เหมาะสมกับมาตรการระยะห่างทางสังคม โดยไม่ให้นักเรียนมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากเกินไป
ในกรณีที่ทางการพิจารณาแล้วไม่อนุญาตให้โรงเรียนชายขอบเปิดโรงเรียนแบบกะ (Onsite Education) ได้ ครูผู้สอนอาจจะต้องเดินทางไปพบนักเรียนตามหมู่บ้านเพื่อจัดการเรียนการสอนเอง ควบคู่ไปกับการโทรศัพท์หานักเรียน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการเดินทาง ค่าโทรศัพท์ และค่าอุปกรณ์ ดังนั้น ภาครัฐสมควรช่วยอุดหนุนในปัจจัยเหล่านี้ให้พอเพียงเพื่อที่ครูจะได้ทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มที่
ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการทดลองรูปแบบการสอนแบบทางไกลผ่านระบบโทรทัศน์ DLTV ซึ่งทำให้เห็นสภาพปัญหาได้อย่างชัดเจนขึ้นว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนชายขอบส่วนใหญ่จะไม่มีการเข้าถึงอุปกรณ์โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์ ดังนั้นจึงต้องมารวบตัวกันเพื่อรับชมโทรทัศน์ในชุมชนหมู่บ้านพร้อม ๆ กัน และการเรียนแบบผ่านหน้าจอโทรทัศน์ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียวนั้น อาจไม่สามารถทำให้เด็กติดตามการเรียนได้ในระยะยาว แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีโอกาสในการทดลองหามาตรการที่เหมาะสมในการเรียนการสอนตามบริบทพื้นที่ของตน ถึงแม้ช่วงนี้จะเป็นระยะเวลาทดลอง แต่ก็เห็นได้ว่าครูและโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองส่วนใหญ่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเรียนผ่านระบบทางไกลของ สพฐ. จึงควรถือโอกาสในการทดลองนี้เก็บข้อมูลระหว่างและหลังจากการทดลองการสอนทางไกล โดยเฉพาะประเด็นประสิทธิภาพและการเข้าถึงของเด็ก เนื่องจากอาจจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ต้องตกหล่นออกไปจากทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเรียนรู้อันเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ หากมีการเก็บข้อมูลได้ทันท่วงที จะทำให้ครูและโรงเรียนสามารถติดต่อเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้พวกเขาต้องออกนอกระบบการศึกษาไปเมื่อเวลาเปิดเทอมจริงมาถึงได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
(*ชื่อบทความเดิม: โรงเรียนชายขอบและความพร้อมในการเรียนทางไกล)
เขียนโดย ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และทีมวิจัย
22 พฤษภาคม 2563