แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย มี 3,005,376 คน (สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ณ เดือนธันวาคม 2562) โดยกลุ่มแรงงาน 4 สัญชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีจำนวนถึง 2,722,424 คน แต่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยและแฝงตัวทำงานอยู่ในทุกกิจการทุกพื้นที่ ฉะนั้น กลุ่มแรงงานต่างด้าวสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ กลุ่มแรงงานถูกต้องตามกฎหมายและกลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย กลุ่มแรงงานที่ผิดกฎหมายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าในการแพร่เชื้อโรคเนื่องจากพฤติกรรมที่จะต้องหลบหลีกการจับกุมและซ่อนตัวจึงทำให้ยากต่อการค้นเจอ การที่ไม่ได้สิทธิการคุ้มครองในด้านสุขภาพ เนื่องจากไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้จะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่เข้ารับการรักษาหรือแสดงตนเมื่อมีอาการเจ็บป่วย ดังนั้น กลุ่มแรงงานผิดกฎหมายจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ดีทีเดียว
อีกประเด็นที่เกี่ยวกับสำหรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย คือ เมื่อการระบาดในประเทศไทยสามารถควบคุมได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปรกติ จะมีความต้องการของแรงงานที่เพิ่มจึงทำให้มีการไหลเข้าของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มแรงงานที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยแบบผิดกฎหมายตามช่องทางธรรมชาติจะไม่ถูกกักตัว 14 วัน ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นพาหะนำเข้าเชื้อโควิด-19กลับเข้าสู่ประเทศไทยได้ในกรณีที่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการระบาดอยู่
สถานที่แพร่เชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยมีสองสถานที่หลักด้วยกัน คือ ที่ทำงานและที่พักอาศัย โดยระดับความเสี่ยงในการแพร่เชื้อขึ้นอยู่กับระดับความแออัดและปัจจัยการป้องกันอื่น ๆ โดยในที่ทำงานที่เป็นอุตสาหกรรรมขนาดใหญ่หรือร้านอาหารขนาดใหญ่จะมีมาตราการดูแลเพื่อลดความเสี่ยงที่ดีกว่าธุรกิจขนาดเล็กและตลาดสดขนาดเล็ก เพราะมีมาตราการและการตรวจสอบติดตามที่เข้มข้นกว่า หากมีการระบาดในโรงงานจะมีผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมากเพราะต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนหลายวันจึงทำให้ธุระกิจใหญ่มีมาตรการป้องกันที่ค่อนข้างเข้มข้น
ในเรื่องที่พักอาศัยจะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่พักอาศัยกับนายจ้างและกลุ่มที่หาที่พักอาศัยอยู่เอง โอกาสในการแพร่เชื้อในกลุ่มที่หาที่พักอาศัยเองนั้นจะสูงกว่ากลุ่มที่อาศัยกับนายจ้าง จากการสำรวจพบว่าห้องพักที่เหมาะสมสำหรับการพักอาศัย 2 คน อาจจะมีแรงงานต่างด้าวอยู่ถึง 5 คน ดังนั้น ห้องพักที่เหมาะกับการอาศัย 5 คน ก็จะมีสัดส่วนของจำนวนคนที่อาศัยจริงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่มีแรงงานตกงานเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถกลับประเทศตัวเองได้ แรงงานเหล่านี้จะต้องพักอาศัยรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายและนั้นก็เพิ่มความหนาแน่นในห้องพักอาศัยให้สูงกว่าสถานการณ์ปรกติ นอกจากความแออันในห้องพักอาศัยแล้ว ยังมีกรณีการเวียนที่นอนเป็นกะกลางวัน-กลางคืนตามตารางงาน เช่น คนที่มีกะทำงานกลางวันจะใช้ที่นอนตอนกลางคืน และคนที่มีกะทำงานตอนกลางคืนจะใช้ที่นอนตอนกลางวัน ทำให้มีการใช้เตียงนอนและของใช้รวมกันและนั้นเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค กลุ่มแรงงานที่หาหอพักอยู่เองอาจจะมีแรงงานจากหลายบริษัทอาศัยอยู่รวมกันในห้องหนึ่ง ซึ่งถ้าแรงงานคนใดคนหนึ่งติดโรคก็จะมีโอกาสการแพร่ระบาดโรคข้ามบริษัทได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางกว่ากลุ่มที่พักอาศัยกับนายจ้าง กลุ่มแรงงานที่หาที่พักเองนั้นมีความท้าทายในการควบคุมการระบาดเพราะหลังเลิกงานแรงงานเหล่านี้จะอยู่นอกการดูแลของนายจ้าง ดังนั้นจึงควรมีมาตราการช่วยเหลือและดูแลที่เข้มข้นเป็นพิเศษ
อีกหนึ่งความเสี่ยงเกิดจากพฤติกรรมของแรงงานต่างด้าวเมื่อไม่สบาย เนื่องจากแรงงานต่างด้าวส่วนมากเป็นแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 20-40 ปี ฉะนั้น หากติดโรคโควิด-19 อาการอาจจะไม่หนักมากจนถึงต้องไปพบแพทย์ เพราะถ้าไปพบแพทย์แล้วมีการตรวจเจอว่าเป็นโรคโควิดจะต้องถูกกักตัวและหยุดงานซึ่งจะทำให้เสียรายได้ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ของพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเข้ารับการรักษา กลุ่มแรงงานต่างด้าวจึงเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคที่น่ากลัวเลยทีเดียว
อีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเด็กต่างด้าวที่ติดตามพ่อแม่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย ซึ่งนอกจากในเรื่องของความเสี่ยงในการติดโรคแล้วยังมีเรื่องของโภชนาการหากผู้ปกครองตกงานและไม่มีรายได้ รวมไปถึงโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาและเป็นปัญหาของประเทศต่อไป
ข้อเสนอแนะเพื่อลดความเสี่ยงการระบาดโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าว
วิธีการลดความเสี่ยงในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ทำได้รวดเร็ว คือ การเผยแพร่ความรู้การป้องกันการแพร่เชื้อโรคในกลุ่มต่างด้าวผ่านนายจ้างและผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ได้ทั่วถึงมากที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงรูปแบบการสื่อสารที่ได้ประสิทธิภาพ เช่น ใช้ภาษาของแรงงานต่างด้าวที่เข้าใจง่ายและมีรูปภาพประกอบ ใช้ช่องทางอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ช่วยในการสื่อสาร และแนะนำผู้ประกอบการสร้างระบบและมาตราการเพื่อการปฎิบัติที่ชัดเจนในกลุ่มดูแลแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
นอกจากนั้น ปัจจุบันมีการริเริ่มพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชั่นที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการระบาด เช่น นวัตกรรมแอปพลิเคชั่นที่เป็นระบบชี้เบาะแสโดยมีรางวัลมอบให้กับผู้แจ้งเบาะแสเมื่อพบเจอคนต่างด้าวที่มีอาการของโรคโควิด-19 เช่น เจ็บคอ ไอ และมีไข้ เป็นต้น และนวัตกรรมแอปพลิเคชั่นที่เป็นระบบชี้เบาะแสที่มีรางวัลให้สำหรับผู้แจ้งเบาะแสที่พบเจอคนต่างด้าวที่กลับมาจากต่างประเทศแต่ไม่มีการกักตัว 14 วัน
อีกหนึ่งมาตราการที่อาจจะต้องคำนึงถึงเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย คือ การละเว้นการจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 โดยมาตราการนี้จะทำให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเปิดเผยตัวตนเมื่อไม่สบายและเข้ารับการรักษา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคในประชากรไทยได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางสาธารณะสุขในระยะยาวและยั่งยืน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโดยปรับโครงสร้างของระบบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้แรงงานหรือผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนแรงงานได้สะดวกและง่ายขึ้น และคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนสามารถเข้าระบบประกันสังคมและมีสิทธิในการการรักษาพยาบาล ซื้อประกันสุขภาพ และยอมเข้ารับการรักษาเมื่อพบว่าตนไม่สบาย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เขียนโดย ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และทีมวิจัย
22 พฤษภาคม 2563