จัดการเรียนการสอนอย่างไรในสถานการณ์โควิด-19: จากบทเรียนต่างประเทศสู่การจัดการเรียนรู้ของไทย

ภูษิมา ภิญโญสินวัฒน์

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เราควรเปลี่ยนให้ทุกๆที่กลายเป็นโรงเรียน เพราะการเรียนรู้ยังต้องดำเนินอยู่แม้นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนตามปกติ  ในหลายประเทศที่ประกาศมาตรการปิดโรงเรียน รัฐบาลมักจะออกมาตรการด้านการเรียนรู้มารองรับ ด้วยการเรียนทางไกลรูปแบบต่างๆ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขความพร้อมด้านอุปกรณ์ ความพร้อมของพ่อแม่ และความพร้อมตามช่วงวัยของเด็ก

สำหรับประเทศไทย ความท้าทายในการเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น แต่ควรเป็นการ “เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส” ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีกว่าเดิม ดังนั้นมาตรการการเรียนรู้ของไทยจึงไม่ควรปรับแค่กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ต้องปรับใหญ่ทั้งระบบการเรียนรู้ที่ต้องสอดคล้องกันและเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของเด็ก โดยควรดำเนินการดังนี้

1. กระชับหลักสูตร ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 และสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทราบ หลักสูตรการศึกษาพื้นฐานของไทยในปัจจุบัน เน้นเนื้อหามาก ครูจำเป็นต้องใช้เวลาเยอะเพื่อสอนได้ครบถ้วน และไม่เอื้อให้นักเรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) เท่าที่ควร และหากยังใช้หลักสูตรเดิมในการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ครูจะต้องใช้เวลาสอนมากขึ้นเพื่อสอนให้ครบถ้วน  การปรับหลักสูตรให้กระชับควบคู่ไปกับจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งผ่อนคลายตัวชี้วัดเรื่องโครงสร้างเวลาเรียนจะสามารถช่วยลดความกดดัน โดยยังคงคุณภาพขั้นต่ำไว้ได้ ตัวอย่างของ มลรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา ได้กระชับหลักสูตรโดยเน้นเนื้อหาจำเป็นตามมาตรฐานของแต่ละช่วงวัย เพื่อให้ครูสามารถนำไปวางแผนการสอนและใช้เวลาได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งออกคู่มือหลักสูตรฉบับย่อสำหรับผู้ปกครอง เพื่อสื่อสารให้เข้าใจถึงหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป  

หลักสูตรแกนกลางไทยจัดประเภทตัวชี้วัดแล้ว แต่ต้องเพิ่มความชัดเจนในการสื่อสารแก่ครูและผู้ปกครอง หลักสูตรแกนกลางของไทยกำหนดตัวชี้วัด “ต้องรู้” และ “ควรรู้” ในแต่ละสาระวิชาแล้ว แต่ต้องเพิ่มความชัดเจน โดยระบุเนื้อหาจำเป็นของแต่ละช่วงวัย และเปิดให้ครูมีอิสระในการจัดการเรียนรู้เนื้อหาส่วนอื่นๆ ตามความเหมาะสม ในขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการควรให้ศึกษานิเทศก์ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้แก่ครู โดยให้คำแนะนำในการเลือกตัวชี้วัดและเนื้อหานอกเหนือจากส่วนที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะกับบริบทและสถานการณ์ของพื้นที่  อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรออกคู่มือหลักสูตรฉบับย่อสำหรับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจบทบาทใหม่ และสามารถติดตามการเรียนรู้ของเด็กได้

นอกจากนี้ โรงเรียนต้องไม่ละเลยการให้ความรู้แก่นักเรียนแต่ละช่วงวัยในการป้องกันตนเองจากโรคระบาด ซึ่งองค์กรอนามัยโลกได้จัดทำคู่มือไว้แล้ว

2. เพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างเวลาเรียนและความหลากหลายของรูปแบบการเรียนรู้ ความยืดหยุ่นในการใช้เวลาและการเลือกรูปแบบการเรียนจะทำให้ครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่เหมาะสมและส่งเสริมการเรียนรู้รายบุคคล (personalized learning) ได้ ดังตัวอย่างของมลรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา ซึ่งมีแนวทางสนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้ด้วยแบบผสมผสาน (blended learning) โดยแนะนำการกำหนดจำนวนชั่วโมงการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ได้แก่

  • ชั่วโมงเรียนรู้ผ่านจอสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย โดยคำนึงถึงพัฒนาการด้านร่างกาย (ปัญหาด้านสายตา) และพัฒนาการด้านสังคม (ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น)
  • ชั่วโมงการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้านจากการทำใบงาน ชิ้นงาน ค้นคว้าด้วยตัวเอง และ
  • ชั่วโมงที่ครูและนักเรียนทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน

ส่วนในกรณีของสหรัฐอเมริกา พบว่า ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองของผู้เรียนแต่ละคนแตกต่างกัน โดยจัดทำฐานข้อมูลของสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  นอกจากนี้ ยังเปิดช่องให้หน่วยงานอื่นๆ และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ในขณะที่นิวซีแลนด์เตรียมชุดการเรียนรู้พื้นฐานให้นักเรียน ซึ่งประกอบด้วยคู่มือออนไลน์ และชุดการเรียนรู้ (สื่อแห้ง) เพื่อให้นักเรียนทุกคนทั้งที่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงระบบเรียนออนไลน์สามารถใช้เรียนรู้ได้

ในกรณีของไทย แม้หลักสูตรแกนกลางของไทยเปิดให้มีความยืดหยุ่นในการกำหนดชั่วโมงเรียน แต่ก็ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้างเวลาเรียนที่ค่อนข้างแข็งตัว ดังนั้นหากกระทรวงศึกษาธิการช่วยผ่อนคลายโครงสร้างเวลาเรียนลง และเปิดช่องทางการสื่อสารให้ครูได้สอบถามข้อสงสัย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ครูออกแบบการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่น  นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังสามารถเปิดให้เอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนา แลกเปลี่ยนเครื่องมือและเทคนิคใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายและเหมาะสมกับเด็กมากขึ้น

3. ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ และสอนอย่างมีแผนที่เหมาะสม  ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ครูจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการสอนแบบใหม่  วิธีการหนึ่งคือ การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะหลังการระบาดของโควิดสิ้นสุดลง  ทั้งนี้ควรเริ่มต้นโดยการจัดกลุ่มตัวชี้วัดให้เป็นหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้แผนการเรียนรู้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์การระบาด เช่น ครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้หน่วยละ 2 สัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการประเมินสถานการณ์การระบาด  ทั้งนี้ หากครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้แต่ละหน่วยให้ร้อยเรียงกันอย่างเป็นระบบทั้งเทอมหรือทั้งปี ก็จะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองตามศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น และได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต

ในทางปฏิบัติ การจัดหน่วยการเรียนรู้สามารถจัดตามเนื้อหาหรือตามประเด็นที่น่าสนใจ และยังสามารถบูรณาการข้ามวิชาหรือในวิชาเดียวกัน หลังจากนั้นครูควรกำหนดคำถามสำคัญของแต่ละหน่วย และวางแผนการติดตามการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติอย่างชัดเจน  เลือกสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก และสื่อสารกับพ่อแม่ให้ทราบถึงบทบาทที่จะเปลี่ยนไป   

เนื่องจาก การเสริมทักษะออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ตั้งคำถาม เลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสมจะทำให้ครูออกแบบหน่วยการเรียนรู้ได้มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรจะสนับสนุนการเพิ่มทักษะเหล่านี้ตามความต้องการของครูในแต่ละพื้นที่ โดยอาจจะเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม ช่วยพัฒนาศักยภาพครูให้ตรงกับทักษะที่ต้องการ และสนับสนุนให้มีการเพิ่มทักษะให้แก่ศึกษานิเทศก์ เพื่อเป็น “โค้ชหน้างาน” ให้แก่ครูต่อไป

4. ยกระดับการประเมินเพื่อการพัฒนา (formative assessment) เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสพัฒนาความรู้และทักษะ เมื่อนักเรียนไปโรงเรียนตามปกติไม่ได้ ครูกับนักเรียนก็จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันลดลง ทำให้ครูไม่สามารถติดตามพัฒนาการของนักเรียนได้เต็มที่ อาจทำให้ไม่สามารถรู้ปัญหาของนักเรียนได้ทันเวลา โดยเฉพาะความรู้ด้านภาษาและการคำนวณ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ระยะยาว  การประเมินเพื่อพัฒนาจึงไม่สามารถลดหรือละทิ้งไปได้ทั้งการประเมินเพื่อการเรียนรู้ (assessment for learning) ของเด็ก เพื่อให้ครูทราบถึงกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยจะสามารถให้ feedback กับเด็กและปรับแผนการเรียนรู้ได้ตรงตามสถานการณ์ และการประเมินซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้​ (assessment as learning) ของเด็ก โดยครูเปิดโอกาสให้เด็กย้อนคิดถึงกระบวนการเรียนของตนเอง กระบวนการนี้จะทำให้เด็กมีความรับผิดชอบและเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น รวมถึงเมื่อเด็กเข้าใจตนเองก็จะเป็นโอกาสที่จะวางแผนการเรียนรู้ของตนเองร่วมกับผู้ปกครองและครูได้

การประเมินเพื่อพัฒนาทั้ง 2 ลักษณะจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครองและครูมากขึ้น วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ การประเมินเพื่อพัฒนาอย่างไม่เป็นทางการรายบุคคล (personalized check-ins) เพื่อติดตามการเรียนรู้ สุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน โดยให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย  ในกรณีของเด็กโต อาจจะเพิ่มการประเมินตนเองและการประเมินเพื่อน (self & peer assessment) เข้าไปด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการช่วยฝึกทักษะการสะท้อนคิดให้เด็กได้อีกทางหนึ่งด้วย

การประเมินเพื่อพัฒนาจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ (1) มีการเสริมศักยภาพครูในการใช้และออกแบบเครื่องมือประเมิน (2) มีการให้เอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินเข้ามาร่วมพัฒนาเครื่องมือการประเมินใหม่ๆ และ (3) มีการเปิดเวที (platform) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูกับผู้เชี่ยวชาญ

5. การประเมินเพื่อรับผิดรับชอบ (assessment for accountability) ยังคงควรไว้ แต่ควรให้น้ำหนักการประเมินโอกาสทางการเรียนของเด็ก มากกว่าการวัดความรู้ด้วยคะแนนสอบ   สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันทำให้ต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ดังนั้น คุณภาพการศึกษาที่เด็กจะได้รับในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถใช้คะแนนวัดความรู้หรือทักษะแบบเดียวกันเพื่อให้เกิดความรับผิดรับชอบได้  มิฉะนั้นก็อาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงควรปรับเกณฑ์ข้อสอบวัดความรู้ (test-based) มาสู่การให้น้ำหนักกับตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านวิชาการ (non-academic measure) มากขึ้น เช่น อัตราการเข้าเรียน (attendance rate) หรืออัตราการออกกลางคัน (drop-out rate) เป็นต้น  โดยการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดเหล่านี้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดภาระครู เช่น ใช้ระบบ Google Classroom บันทึกการใช้งาน ซึ่งจะช่วยทำให้เขตพื้นที่สามารถติดตามและให้การสนับสนุนโรงเรียนได้ตรงกับความต้องการมากขึ้นด้วย


ข้อเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “TDRI Policy Series on Fighting Covid-19”

ท่านสามารถ อ่าน TDRI Policy Series on Fighting Covid-19 (โดย คลิกชื่อบทความ)

ลำดับบทความ / บทวิเคราะห์
1รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้วิกฤตการณ์โควิด-19 และลดความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมและตรงจุด
2Fit-to-fly ไม่ช่วยกันโควิด-19 ซ้ำเพิ่มภาระคนไทยในต่างแดน
3ระวังความรุนแรงในโรคระบาด เมื่อ “บ้าน” อาจไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
4เราไม่ทิ้งกัน แต่มาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบรอบแรก รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
5เปิดเมืองอย่างไรให้เศรษฐกิจขยับและคุมการระบาดได้
6แลไปข้างหน้า: ชีวิต (ใหม่?) ของคนไทยหลัง 30 เมษา 63
7ครัวเรือนเกษตร เมื่อไรจะได้รับการเยียวยา? ฝ่ามรสุมราคาพืชผลตกต่ำ ภัยแล้งและโควิด-19
8วิกฤตโควิด-19 รัฐต้องเร่งลดช่องว่างดิจิทัล เพื่อความเท่าเทียมในห้องเรียนออนไลน์
9ประสบการณ์ต่างประเทศของการระบาดและมาตรการคุมการระบาดไวรัสโควิด-19: 5 ข้อสังเกต 4 บทเรียน 3 ความสำเร็จ 2 จุดเปลี่ยน 1 เปิดเมือง
10ฮาวทูทิ้ง: ทิ้งหน้ากากอนามัยอย่างไรให้ปลอดภัยกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
11ทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนในไทยปลอดภัยจากโควิด-19
125 คำถามและ 4 โจทย์ว่าด้วยการสนทนาเรื่อง “ความปกติใหม่” ใน “โลกหลังโควิด”
13การศึกษาพื้นฐานในยุค โควิด-19: จะเปิด-ปิดโรงเรียนอย่างไร?