tdri logo
tdri logo
12 มิถุนายน 2020
Read in Minutes

Views

ทบทวนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ภาครัฐในหลายประเทศได้มีความพยายามผลักดันมาตรการเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่อาจสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นัยหนึ่งมาตรการเหล่านี้แม้จะช่วยบรรเทาทุกข์และหนุนเสริมการดำรงชีวิตภายใต้สภาวการณ์ของโรคระบาด อีกนัยหนึ่งกลับสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นโดยมิได้เจตนา บทความนี้สำรวจปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อันเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐ และนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดความตระหนักต่อความเป็นไปได้ของผลกระทบเชิงลบจากมาตรการที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้เจตนา 

กรณีศึกษา: ความรุนแรงภายในครอบครัวต่อสตรี 

ผลกระทบจากการรณรงค์ให้พำนักอาศัยภายในบ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หรือการทำงานที่บ้าน (work from home) เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับโรคระบาดในพื้นที่สาธารณะด้านหนึ่งแม้จะช่วยลดทอนความเสี่ยงได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม การใช้เวลาพำนักภายในบ้านเป็นระยะเวลายาวนาน อีกนัยหนึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสภาพจิตใจและความเครียด 

หนึ่งในปัญหาทางสังคมที่ขยายขึ้นจากมาตรการการใช้ชีวิตภายในบ้านของภาครัฐ คือ ความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับสตรี (domestic violence to women) 

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราความรุนแรงเกิดขึ้นกับสตรีสูงขึ้นเรื่อยๆ มาโดยตลอด และสูงมากยิ่งขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-191 รายงานทางสถิติได้เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2020 ระหว่าง เมษายนจนถึงพฤศจิกายน มีรายงานการทำร้ายร่างกายสตรีภายในครอบครัวกว่า 132,355 ซึ่งเพิ่มสูงกว่าปีงบประมาณ 2019 (ทั้งปี) ซึ่งมีรายงานที่ 119,276 หรือกว่า 13,000 กรณี แม้จะยังไม่สิ้นปีงบประมาณ2 

ความรุนแรงภายในครอบครัวดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดคำศัพท์ใหม่ในสื่อสังคมออนไลน์ในญี่ปุ่น คือ “การหย่าขาดจากโคโรนาไวรัส” (corona divorce) เพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการใช้ชีวิตร่วมกันภายในบ้านเป็นระยะเวลายาวนานอันเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ปัญหาภายในครอบครัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นและสะสมมาก่อน เกิดการขยายตัวมากยิ่งขึ้นและปะทุขึ้น 

ปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมิได้เป็นผลโดยตรงจากโรคระบาด แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า โรคระบาดและมาตรการใช้ชีวิตภายในบ้าน มีผลในการเร่งปฏิกิริยาให้ความสัมพันธ์ที่อาจจะแตกร้าวอยู่ก่อนเกิดการปะทุขึ้น นัยหนึ่งแม้ว่าการใช้ชีวิตภายในบ้านจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ แต่อีกนัยหนึ่งการใช้ชีวิตภายในบ้านเป็นเหตุให้ปัญหาความสัมพันธ์เกิดการขยายตัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ สถิติรายงานความรุนแรงภายในบ้านสะท้อนถึงปัญหาดังกล่าว 

สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหา ญี่ปุ่นได้มีการรณรงค์ให้ภาครัฐสนับสนุนที่พักพิงชั่วคราว (shelter) สำหรับสตรีที่ประสบปัญหา เพื่อให้ได้มีที่พักอาศัยสำหรับการหลีกเลี่ยงความรุนแรงดังกล่าวระหว่างการแพร่ระบาด3 

กรณีศึกษา: ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง 

ช่วงที่การระบาดขยายตัวสูงต่อเนื่องในสเปน เพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยลง มาตรการจำกัดการเดินทางและรณรงค์ให้พำนักภายในบ้านได้ถูกนำมาใช้เช่นเดียวกับหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่สเปนเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากระดับต้นของโลก และผู้สูงอายุจำนวนมากพำนักอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ ได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง คือ ผู้สูงอายุในสถานดูแลจำนวนมากได้ถูกละทิ้ง เนื่องจากปราศจากบุคลากรที่ดูแล เพราะถูกจำกัดพื้นที่ 

ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งกลายเป็นที่ถูกตระหนักขึ้นหลังจากกลุ่มทหารของสเปนได้ตระเวนดำเนินการฆ่าเชื้อโรค (disinfection) ในสถานที่ต่างๆ และพบร่างเสียชีวิตของผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งไว้ในสถานพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ4 การที่บุคลากรไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้เต็มสมรรถนะ การที่ญาติของผู้สูงอายุไม่สามารถเดินทางเข้าเยี่ยมได้ และการที่ผู้สูงอายุไม่สามารถเดินทางออกจากที่พักได้อย่างไรสะดวก5 เป็นผลให้ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกทอดทิ้ง และได้รับผลกระทบทั้งเชิงกายภาพ คือ ไม่มีผู้ดูแล และเชิงจิตใจ คือ ไม่ได้รับการเยี่ยมเยียมจากคนใกล้ชิด6 ในแง่นี้ หากผู้สูงอายุเสียชีวิตขึ้นภายในสถานดูแลระหว่างการระบาด จะมีความเป็นไปได้สูงที่ร่างของผู้เสียชีวิตจะถูกทอดทิ้งไว้ในสถานที่ดังกล่าว เพราะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เฉกเช่นสถานการณ์ปกติ 

เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะระบาดต่อเนื่องเป็นระลอก ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจขึ้นได้อีก ในแง่นี้ เพื่อป้องกันการถูกทอดทิ้งของผู้สูงอายุ ทั้งเชิงกายภาพ เช่น ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีการจัดการกรณีเสียชีวิตที่เหมาะสม และเชิงจิตใจ เช่น ไม่ได้รับการเยี่ยมเยียน ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิที่ผู้สูงอายุพึงมีในการได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีมาตรการรองรับการระบาดที่คำนึงถึงผลที่จะตกกับผู้สูงอายุด้วย7 

กรณีศึกษา: ระบบการศึกษาในช่วงการระบาด 

ในสเปนผลกระทบจากการจำกัดการเดินทางและรณรงค์ให้พำนักภายในบ้านถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญของข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบการศึกษาในกลุ่มยากจน และกลุ่มเปราะบาง 

โดยสิ่งที่กรณีศึกษาในสเปนได้แสดงให้เห็น คือ อัตราการตกหล่นในการศึกษาด้วยระบบออนไลน์เกิดขึ้นสูงมาก ไม่เพียงแต่อุปสรรคจากการขาดอุปกรณ์ในการเข้าถึงการศึกษา เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือการมีพื้นที่สำหรับเรียนหนังสือทางออนไลน์ แต่ยังรวมไปถึงการขาดระบบสนับสนุนการเรียนหนังสือออนไลน์สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ อีกด้วย8 

ด้วยเหตุดังนี้ การสนับสนุนการเรียนหนังสือออนไลน์ในระหว่างช่วงการระบาดของภาครัฐ จึงมิได้มีเพียงการจัดหาอุปกรณ์ในการเข้าถึงการศึกษา หากแต่จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมการเรียนหนังสือที่เหมาะสมสำหรับนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มเปราะบาง 

นอกจากนี้ การหยุดทำการของสถานศึกษาระหว่างโรคระบาด หรือการเรียนหนังสือที่บ้านด้วยระบบออนไลน์ มิได้สร้างเพียงข้อจำกัดในการศึกษาของนักเรียนนักศึกษา หากแต่ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การขาดโภชนาการในกลุ่มนักเรียนฐานะยากจน 

ในสหรัฐอเมริกา สำหรับนักเรียนยากจนแล้ว การเข้าถึงโภชนาการที่สำคัญเกิดขึ้นจากการพึ่งพาอาหารภายในโรงอาหารของโรงเรียน ซึ่งโดยทั่วไป อาหารเหล่านี้จะมีราคาถูกกว่าสถานที่อื่น เพื่ออุดหนุนสถานะทางการเงินของนักเรียน อย่างไรก็ตาม การหยุดทำการของสถานศึกษาก็ได้ส่งผลให้โรงอาหารจะต้องหยุดทำการลงเช่นกัน ในแง่นี้ กลุ่มนักเรียนที่มีฐานะยากจนซึ่งต้องพึ่งพาโรงอาหารของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ประสบปัญหาทางโภชนาการจากการปิดทำการดังกล่าว9 

โภชนาการในเยาวชนถือเป็นสิ่งสำคัญทางพัฒนาการอย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนนี้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องมีระบบจัดส่งอาหาร หรือแจกจ่ายอาหารที่มีคุณภาพทางโภชนาการ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไม่ถูกจำกัดสารอาหารระหว่างช่วงระยะเวลาการระบาด 

กรณีศึกษา: ปริมาณขยะจากที่พักอาศัยในช่วง Work from home  

นโยบายให้ทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from home ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม กรณีศึกษาในสหรัฐอเมริกากลับพบว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นภายในบ้านกลับสูงขึ้นกว่าช่วงปกติถึงร้อยละ 40 เป็นผลให้บุคลากรที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บขยะจะต้องทำงานมากยิ่งขึ้น10 

ขยะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสกปรก และแพร่กระจายเชื้อโรค ในส่วนนี้ ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นมูลเหตุสำคัญที่จะแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ หากไม่สามารถดำเนินการจัดเก็บ หรือกำจัดขยะได้อย่างเหมาะสม 

ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรองรับการจัดการขยะ ทั้งในส่วนของการจัดสรรบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บขยะอย่างเพียงพอ และช่วยประชาสัมพันธ์วิธีการจัดการขยะภายในบ้านอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการปนเปื้อนและแพร่กระจาย11 

บทเรียนจากต่างประเทศ และแนวทางปฏิบัติ 

จะพบว่าในหลายประเทศ มาตรการจำกัดการเดินทาง รณรงค์ให้พำนักภายในบ้าน หรือทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคในที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวทางปฏิบัติของมาตรการจะช่วยลดจำนวนการติดเชื้อลงได้ นัยหนึ่งกลับสร้างปัญหาต่างๆ ทางสังคมขึ้นโดยมิได้เจตนา 

ปัญหาที่ค้นพบจากกรณีศึกษาในบทความชิ้นนี้ ประกอบด้วยปัญหาหลักๆ 4 ประการ ได้แก่ 1) ความรุนแรงภายในบ้าน โดยเฉพาะกับสตรี 2) ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง 3) การเข้าถึงการศึกษาของกลุ่มนักเรียนยากจน และ 4) ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานที่บ้าน 

ในส่วนนี้ เพื่อให้เกิดการตระหนักต่อปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น บทความชิ้นนี้จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ  

1. ภาครัฐจำเป็นจะต้องสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับรองรับข้อจำกัดจากการปิดเมือง  

สืบเนื่องจาก 1) ปัญหาความเสี่ยงจะเกิดความรุนแรงภายในครอบครัว อันเป็นผลจากการใช้เวลาร่วมกันเพิ่มมากขึ้นภายในบ้าน 2) ปัญหาความเสี่ยงผู้สูงอายุที่พึ่งพาการดูแลจากบุคลากรในสถานดูแลผู้สูงอายุจะถูกทอดทิ้ง อันเป็นผลจากการขาดแคลนบุคลากร และการดูแลอย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง 3) ปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่/สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการศึกษา อันเป็นผลจากความพร้อมต่อการศึกษาอย่างเหมาะสมภายในบ้านของนักเรียน 

จึงเป็นเหตุให้จะต้องมีการสร้างพื้นที่สาธารณะชั่วคราวสำหรับรองรับกลุ่มผู้ที่ไม่มีความพร้อมประกอบกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้าน 

2. ภาครัฐจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้ที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ไม่เพียงแค่กลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มผู้เปราะบางอื่นๆ เช่น ผู้พิการ นักเรียนที่ยากจน 

สืบเนื่องจาก 1) ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกลับไปพักที่บ้านของตน/ครอบครัวได้ ทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ถูกจำกัดพื้นที่ไว้ในสถานดูแล 2) นักเรียนที่มีความพิการจำเป็นที่จะต้องได้รับสถานที่สำหรับการเรียนหนังสือที่เหมาะสม และสามารถรองรับอุปสรรคจากความพิการได้ ทำให้บ้านของผู้พิการ หรือสถานดูแลผู้พิการ อาจจะไม่สามารถสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสมได้ 3) ในกลุ่มนักเรียนยากจนจะต้องพึ่งพาโภชนาการที่มีราคาถูกจากโรงเรียน หากโรงเรียนหยุดทำการ นักเรียนกลุ่มนี้จะไม่สามารถเข้าถึงโภชนาการที่เหมาะสมได้ 

ดังนั้น การใช้มาตรการปิดเมืองรูปแบบใดก็ตาม จะต้องให้มีบุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้เปราะบางอื่นๆ อย่างพอเพียง และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพ สามารถให้ความช่วยเหลือ เช่น การเข้าไปดูแล การส่งมอบอาหาร ได้อย่างเหมาะสม 

3. ภาครัฐจะต้องมีแนวทางปฏิบัติเพื่อแนะนำการปฏิบัติตนภายในบ้าน และมีช่องทางช่วยเหลือการเกิดปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบ้าน 

สืบเนื่องจาก 1) ปัญหาความเสี่ยงจะเกิดความรุนแรงภายในครอบครัว อันเป็นผลจากการใช้เวลาร่วมกันเพิ่มมากขึ้นภายในบ้าน 2) การต้องมีอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งสร้างอุปสรรคในกลุ่มนักเรียนที่สภาพแวดล้อมภายในบ้านไม่เหมาะสม 3) การผลิตขยะที่เพิ่มขึ้นมากจากการใช้เวลาภายในบ้านที่มากขึ้น ส่งผลให้มีการผลิตขยะ และการจัดเก็บขยะที่ไม่เหมาะสม 

ภาครัฐควรประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติการใช้ชีวิตในบ้านระหว่างปิดเมือง เช่น การจัดการปัญหาภายในครอบครัว หรือการจัดเก็บขยะที่ถูกสุขอนามัย รวมถึงสร้างช่องทางและแนะนำช่องทางสำหรับการร้องเรียน หรือขอความช่วยเหลือหากเกิดปัญหาภายในบ้านขึ้น 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI 

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด