ผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมไทย

ในช่วงก่อนวิกฤติการณ์โควิด-19 ประเทศไทยยังคงมีปัญหาสังคมที่ยังคงค้างอยู่หลายประการ การเข้ามาของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อปัญหาสังคมต่างๆ เหล่านั้นอย่างไรบ้าง? บทความนี้จะเป็นบทความที่นำเสนอผลการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมไทยในมิติของปัญหาสังคมเดิมที่มีอยู่ 

กรอบแนวคิดในการประเมินจะอาศัยการประเมินเกณฑ์ Sustainable Development Goals หรือ SDGs ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกิดขึ้นและร่วมผลักดันโดยองค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิก ที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศไปพร้อมๆกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง 

กรอบ SDGs จะแบ่งการประเมินออกเป็น 17 เป้าหมาย1 ประกอบไปด้วย 

เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจน 

เป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการสำหรับทุกคนในทุกวัย 

เป้าหมายที่ 3: สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย 

เป้าหมายที่ 4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

เป้าหมายที่ 5: บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง 

เป้าหมายที่ 6: สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยส้าหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน 

เป้าหมายที่ 7: สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา 

เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน 

เป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม 

เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ 

เป้าหมายที่ 11: ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน 

เป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 

เป้าหมายที่ 13: เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น 

เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟิ้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 

เป้าหมายที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ 

เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน 

หากพิจารณาผลกระทบของโควิด-19 ต่อการบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ข้างต้น จะพบว่า ปัญหาโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อแต่ละเป้าหมาย ดังนี้ 

เป้าหมายที่ 1: โควิด-19 จะทำให้มีจำนวนคนจนมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำเป็นเวลานาน 

เป้าหมายที่ 2: โควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหาโภชนาการและความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น เนื่องจากคนที่ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานลดลง หรือไม่ได้รับค่าตอบแทนเลย จะต้องลดสัดส่วนรายจ่ายของครัวเรือนลง 

เป้าหมายที่ 3: ในเรื่องของหลักประกันสุขภาพ โจทย์ความท้าทายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น คือ การควบคุมการระบาด และการจัดหาวัคซีนให้กับประชากรอย่างเพียงพอ 

เป้าหมายที่ 4: ในมิติการศึกษา ปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การบีบคั้นที่เกิดจากฐานะครอบครัว และความสามารถในการเรียนแบบออนไลน์ 

เป้าหมายที่ 5: ในมิติความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพ ปัญหาสำคัญคือ ความรุนแรงในบ้านที่เกิดขึ้นจากความตึงเครียดซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19  

เป้าหมายที่ 6: ปัญหาโควิด-19 ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เกินพอดีได้ลดความรุนแรงลง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลับมาฟื้นฟูได้ดีมากขึ้น 

เป้าหมายที่ 7: การเข้าถึงพลังงานที่ยั่งยืน ยังไม่พบว่าปัญหาโควิด-19 ส่งผลกระทบในส่วนนี้ 

เป้าหมายที่ 8: การสร้างเศรษฐกิจที่โตอย่างต่อเนื่อง มีประเด็นท้าทายของภาครัฐ คือ ปัญหาโควิด-19 จะทำให้การปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ภาครัฐจะมีส่วนช่วยสังคมไทยในการปรับตัวทางเทคโนโลยีได้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดแก่คนไทย 

เป้าหมายที่ 9: เมื่อเกิดวิกฤติ งบประมาณส่วนแรกที่มักจะถูกตัดก็คือ งบวิจัยและพัฒนา เช่นเดียวกัน ปัญหาโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะทำให้ภาครัฐเปลี่ยนงบประมาณลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่ออนาคต มาแก้ไขปัญหาในระยะสั้นมากขึ้น 

เป้าหมายที่ 10: ปัญหาความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากคนที่มีฐานะ และธุรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงได้ดีกว่า ในขณะที่คนที่อยู่ฐานล่าง และธุรกิจขนาดเล็กที่ล้มหายตายจากไปจริงๆ จะเกิดผลกระทบต่อกลุ่มเหล่านี้ในระยะยาว 

เป้าหมายที่ 11: การจัดการกับปัญหาภัยพิบัติโดยภาครัฐจะถูกจำกัดลงด้วยปัญหาโควิด-19 เนื่องจากงบประมาณที่จัดสรรมาเพื่อรับมือปัญหาจะเป็นงบในกลุ่มเดียวกัน ทำให้เมื่อภาครัฐใช้งบประมาณมาจัดการกับปัญหาโควิด-19 ก็จะต้องลดงบประมาณในการจัดการกับปัญหาภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้ง หรือ อุทกภัยลง 

เป้าหมายที่ 12: ยังไม่พบว่าปัญหาโควิด-19 จะทำให้รูปแบบการผลิตในภาคเกษตรของไทยเปลี่ยนแปลงไปโดยตรง 

เป้าหมายที่ 13: ปัญหาการปล่อยสาร CO2 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง lock down แต่ในช่วงคลายมาตรการความเข้มงวด การทำงานที่บ้านอาจจะช่วยลดการปล่อยสารได้บางส่วนเนื่องจากลดการเดินทาง 

เป้าหมายที่ 14: การใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปัญหาโควิด-19 โดยตรง 

เป้าหมายที่ 15: การจัดการระบบนิเวศทางบกก็เช่นเดียวกัน ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปัญหาโควิด-19 โดยตรง 

เป้าหมายที่ 16: การเข้าถึงความยุติธรรม พบว่า สิทธิมนุษยชนในช่วงโควิด-19 ถูกละเมิดมากขึ้น โดยรัฐบาลในประเทศต่างๆ หลายประเทศอาศัยข้ออ้างในการจัดการกับปัญหาโควิด-19 ในการละเมิดสิทธิของประชากรเกินสมควร  

เป้าหมายที่ 17: ในมิติของการเป็นหุ้นส่วนในระดับโลกเพื่อความยั่งยืน ยังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปัญหาโควิด-19 โดยตรง 

กล่าวโดยสรุป ปัญหาโควิด-19 เป็นปัญหาความท้าทายที่จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศ SDGs ในหลายมิติ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องเข้ามาจัดการกับปัญหาในแต่ละด้านอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ปัญหาที่มีอยู่เดิม ถูกพัฒนากลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อนและส่งผลระยะยาวต่อการใช้ชีวิตของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ในทางตรงกันข้าม ผลกระทบในแง่บวกของโควิด-19 มักจะมาในรูปของการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ดีขึ้น จีงเป็นโอกาสที่ภาครัฐจะพลิกวิกฤติการณ์โควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการวางแผนพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไปอีกด้วย 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เขียนโดย คณะวิจัย TDRI