tdri logo
tdri logo
12 มิถุนายน 2020
Read in Minutes

Views

การจัดลำดับความสำคัญ: มาตรการเยียวยา-ฟื้นฟู-กระตุ้น

เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของภาครัฐในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่า 2019 จะพบว่า บทบาทของรัฐที่สำคัญ มีอยู่ 3 ประการ คือ การเยียวยา การฟื้นฟู และการกระตุ้น 

บทความนี้ เขียนขึ้นเพื่อเสนอให้ภาครัฐมีการจัดลำดับความสำคัญของบทบาทของรัฐอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงที่สุด 

การจะจัดลำดับความสำคัญ จะต้องเริ่มต้นจากการพิจารณานิยามของแต่ละคำ 

การเยียวยา โดยนิยามแล้วจะหมายถึง กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากภาครัฐเป็นผู้กระทำ ทำให้ภาครัฐมีหน้าที่ที่จะต้องเยียวยาให้คนที่ได้รับผลกระทบได้กลับมาสู่สถานะดังเดิม อาทิ เช่น การที่ภาครัฐกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องทำหน้าที่รับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จะพิจารณาได้ว่า ภาครัฐออกกฎระเบียบที่ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลกระทบ ดังนั้น ภาครัฐจึงมีหน้าที่ที่จะต้องเยียวยาให้โรงพยาบาลได้รับค่าตอบแทนจากการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากภาครัฐไม่ได้มีการเยียวยาภาคเอกชนอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เอกชนเลือกที่จะไม่เปิดรับผู้ป่วยเข้ามารักษา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา 

การฟื้นฟู โดยนิยามแล้ว หมายถึง กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และภาครัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าควรจะเข้าไปแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นด้วยหลักมนุษยธรรม หรือ การปฏิบัติตามหลักการตามรัฐธรรมนูญ หรือ ตัวบทกฎหมาย ตัวอย่าง เช่น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ ภาครัฐจึงควรที่จะเข้าไปฟื้นฟูเพื่อให้ประเทศไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและช่วยลดทอนปัญหาสังคมต่างๆ ที่จะตามมา ทั้งนี้ จุดเน้นย้ำที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูจะไม่กระทำกับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ อาทิ เช่น สถานการณ์เพลิงไหม้อาคาร เพราะภาคเอกชนสามารถที่จะทำประกันภัยเพื่อกันความเสี่ยงได้เอง การที่ภาครัฐสั่งปิดสนามมวย สถานบันเทิง ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ภาครัฐไม่ควรเข้าไปฟื้นฟู ถ้าหากสถานที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ละเลยการควบคุมดูแลทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 

การกระตุ้น หมายถึง สถานการณ์ที่เศรษฐกิจซบเซา ไม่ได้เกิดขึ้นจากภาครัฐ หรือ เหตุการณ์ใดที่เฉพาะเจาะจง แต่ภาครัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่พึงประสงค์ ซึ่งอาจจะเป็นในภาพรวมของทั้งระบบเศรษฐกิจ (เช่น กรณีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น) หรือ เกิดขึ้นในบางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจรากหญ้า) ทำให้ภาครัฐพิจารณาออกมาตรการในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตสูงขึ้นโดยรวม หรือในภาคส่วนที่ภาครัฐประสงค์ 

เมื่อพิจารณาทั้ง 3 นิยาม จะพบว่า การเยียวยา มีสาเหตุมาจากภาครัฐโดยตรง ภาครัฐจึงควรที่จะเข้ามาดูแลจัดการก่อนเป็นอันดับแรก ตามหลักการการแก้ไขปัญหาที่ตนเองก่อผลกระทบเสียก่อนที่จะหันไปช่วยเหลือผู้อื่น ในขณะที่การฟื้นฟูจะเป็นเป้าหมายสำคัญในอันดับรองลงมา แต่ยังคงมีความสำคัญ เพราะบทบาทของภาครัฐที่สำคัญ คือ เมื่อภาครัฐสามารถดูแลจัดการกับผลกระทบที่ตนเองสร้างขึ้นแล้ว จึงเข้ามาจัดการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ท้ายที่สุด เมื่อภาครัฐได้จัดการทั้งสิ่งที่ตนเองสร้างผลกระทบขึ้นมา และได้ฟื้นฟูกลุ่มประชากรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ภาครัฐอาจจะเริ่มพิจารณากระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนที่ยังคงไม่ฟื้นตัว เป็นลำดับสุดท้าย 

นั่นคือ การเยียวยา ควรที่จะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยการฟื้นฟู และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่สำคัญในลำดับสุดท้าย 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
12 มิถุนายน 2563


นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด