วิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวและมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว

ความสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย 

โครงสร้างการผลิตทางเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกได้เป็นสามภาคได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคบริการ ภาคการผลิตของไทยที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดคือภาคบริการที่มีสัดส่วนถึงเกือบร้อยละ 50 ของจีดีพี ซึ่งภาคท่องเที่ยวถือว่าเป็นภาคที่มีความสำคัญมากที่สุดภายใต้ภาคบริการ เนื่องจากก่อนมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภาคการท่องเที่ยวมีมูลค่ามากถึงประมาณร้อยละ 16 ต่อจีดีพี ซึ่งแยกออกเป็นมูลค่าจากผลประโยชน์ทางตรงที่เกิดจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวไทยและการใช้จ่ายของภาครัฐในการสนับสนุน ร้อยละ 7 ของจีดีพี และจากผลประโยชน์ทางอ้อมที่มีผลเชื่อมโยงไปภาคหรือสาขาการผลิตอื่นในห่วงโซ่อุปทาน ร้อยละ 9 ของจีดีพี นอกจากขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่แล้ว ภาคท่องเที่ยวยังถือว่าเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญขนาดใหญ่ ซึ่งในปี 2557 การจ้างงานภาคท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 14 ของการจ้างงานทั้งหมด1 ยิ่งไปกว่านั้น ภาคการท่องเที่ยวไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง จากรายงาน The Travel & Tourism Competitiveness Report โดย World Economic Forum ของปี 2562 ไทยมีดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอยู่ที่อันดับ 31 จาก 140 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 17 และมาเลเซียที่อยู่อันดับ 29 

ผลกระทบของปัญหาโควิด-19 ที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวไทย 

ด้วยสถานการณ์การณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกือบทุกรัฐบาลทั่วโลกต้องดำเนินดำเนินมาตรปิดประเทศหรือมาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้หรือแม้กระทั่งการปิดสถานบริการหรือพื้นที่สาธารณะภายในประเทศเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ในไตรมาสแรกของปี 2563 นักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่ถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของภาคการท่องเที่ยวไทยที่เคยทำเงินให้มากถึง 1.95 ล้านล้านบาทในปี 2562 หรือเท่ากับประมาณร้อยละ 12 ของจีดีพี มีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 38.01 และรายได้จากทุกประเทศลดลงโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงถึงร้อยละ 63.96 สำหรับกรณีนักท่องเที่ยวไทยก็มีจำนวนลดลงร้อยละ 30.77 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และได้รายได้ลดลงร้อยละ 31.53 

ส่วนในช่วงแรกไตรมาสที่ 2 รัฐบาลไทยได้เริ่มมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดโดยระงับการเดินเข้าออกประเทศ ปิดสถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิงต่างๆ และรณรงค์ให้ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัยของตน ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติลดลงร้อยละ 100 ในเดือนเมษายนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา ในทำนองเดียวก็ทำให้นักท่องเที่ยวไทยมีจำนวนลดลงร้อยละ 99 ด้วยเช่นกัน ด้วยภาวะที่ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยว ทำให้สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต้องปิดบริการชั่วคราวถึงร้อยละ 65 ของยอดรวม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี และแรงงานในภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสว่างงานถึง 2.6 ล้านคน และมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะปรับลดจำนวนพนักงานลงอีก 
ร้อยละ 30 ซึ่งจะส่งผลให้มีโอกาสที่ผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนคน 

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 เริ่มดีขึ้น อัตราของผู้ติดเชื้อลดลงเป็นอย่างมาก ภาครัฐจึงเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ด้วยการเปิดสถานบริการหลายแห่งและให้ประชาชนสามารถเดินทางได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2563 แต่ยังคงกำหนดให้ประชาชนและภาคธุรกิจต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแทน นอกจากนี้ภาครัฐยังมีแนวคิดที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วย 2 แนวทางดังต่อไปนี้ (1) มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศด้วยการให้เงินสนับสนุนค่าที่พักและค่าเดินทางโดยเครื่องบินแก่นักท่องเที่ยวไทยที่ประกอบไปด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกันสำหรับประชาชนโดยทั่วไป  และโครงการกำลังใจสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ (2) มาตรการผ่อนคลายการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (Travel Bubble) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นหนึ่งในเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของของไทยในองค์รวมให้กลับมาหมุนได้บ้างหลังจากที่ต้องหยุดชะงักมาพักหนึ่ง  

ประเด็นที่รัฐควรพิจารณา 

ก่อนที่โครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2563 ผู้วิจัยเห็นว่ามีประเด็นบางประการที่ภาครัฐสามารถนำไปพิจารณาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของโครงการเหล่านั้นได้ สำหรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ผู้วิจัยเห็นว่ามีทั้งหมด 3 ประเด็นที่ควรพิจารณา ได้แก่ (ก) การลดความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองหลัก โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวจึงควรคำนึงถึงความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยวและเน้นจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวในเมืองรองเพื่อลดโอกาสการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในหัวเมืองหลัก (ข) การลดความเหลื่อมล้ำของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวด้วยการกำหนดเงื่อนไขการอุดหนุนตามขนาดของธุรกิจ เช่น จำนวนห้องพัก โดยภาครัฐอาจจะสนับสนุนค่าที่พักมากขึ้นให้สำหรับผู้ที่จองห้องพักกับผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวรายย่อย และ (ค) การกำหนดเงื่อนไขการสนับสนุนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวไทย เข่น โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวไทยโดยเฉลี่ยมีสัดส่วนการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 1 ทริป ดังนี้ รายจ่ายร้อยละ 22 ใช้กับค่าที่พัก ร้อยละ 24 ใช้กับค่าสินค้าและของที่ละลึก ร้อยละ 11 ใช้กับค่าเดินทาง ร้อยละ 10 ใช้กับบริการด้านความบันเทิง และร้อยละ 12 สำหรับรายการอื่นๆ ดังนั้น ภาครัฐควรอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจูงใจนักท่องเที่ยว 

ส่วนแนวคิดเรื่องมาตรการผ่อนคลายการท่องเที่ยวระหว่างประเทศแบบ travel bubble จะมีหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการคัดเลือกประเทศจะอนุญาตให้เข้ามา และการคัดเลือกเฉพาะกลุ่มประเภทนักท่องเที่ยวที่เหมาะสม เนื่องจากในภาวะปัจจุบันที่การแพร่โควิด-19 ของประเทศต่างๆ ยังไม่ดีนัก ไทยจึงจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระรอกสองภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ก็จำเป็นต้องการได้รับการกระตุ้นด้วยเช่นกัน สำหรับแนวทางการเลือกประเทศที่จะให้เข้ามาประเทศ ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลระดับการติดเชื้อโควิด-19 ที่คำนวณสัดส่วนผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชากรของประเทศนั้นๆ และข้อมูลค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยวประเทศนั้นๆ ดังรูปที่ 1 ซึ่งแสดงให้เห็นกลุ่มประเทศที่มีระดับการติดเชื้อและระดับการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงที่สุด จึงควรเลือกรับประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำและกำลังซื้อสูงอย่างกลุ่มที่ 2 เป็นอันดับแรก เช่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย 

รูปที่ 1: ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยต่อหัวต่อทริปและความเสี่ยงของการแพร่เชื้อของนักเที่ยวจากแต่ละประเทศ 

ที่มา: รวบรวมและคำนวณโดยผู้วิจัย 

ลำดับต่อมาที่ควรพิจารณาคือการเลือกต้อนรับกลุ่มประเภทนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม ตารางที่ 1 ได้แสดงให้เห็นความแตกต่างของกำลังซื้อและความเสี่ยงการแพร่ระบาดของชาวต่างชาติที่มีวัตถุประสงค์การเดินทางเข้าประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่ม Medical Tourism มีศักยภาพสูงที่สุดที่เหมาะที่จะต้อนรับให้เดินทางเข้ามาในประเทศซึ่งมีทั้งกำลังจ่ายที่สูงและมีความเสี่ยงของการแพร่เชื้อที่ต่ำ เพราะผู้เดินทางกลุ่มนี้มักมีเป้าหมายการเดินที่ชัดเจน ดังนั้น จึงสามารถวางมาตรการการติดตามและป้องกันการแพร่ระบาดได้ง่าย ด้วยทั้งหมดนี้จึงเห็นได้ว่า ในการพิจารณาการเปิดประเทศภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ภาครัฐจึงต้องพิจารณาทั้งมิติความเสี่ยงและมิติรายได้ที่ไทยจะได้รับซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ระดับการคัดเลือกประเทศที่มีกำลังจ่ายสูงและความเสี่ยงของการแพร่เชื้อต่ำ และตามด้วยการคัดเลือกประเภทกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังจ่ายสูงและมีความเสี่ยงของการแพร่เชื้อต่ำด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้จริงและไม่ได้สร้างความเสี่ยงให้การเกิดแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง 

ตารางที่ 1: ระดับค่าใช้จ่ายและระดับความเสี่ยงของกลุ่มประเภทนักท่องเที่ยว 

กลุ่ม  มูลค่าเพิ่ม  ระยะเวลา  ความเสี่ยง  
นักธุรกิจ  175-700 ล้านบาทต่อโครงการ (2562)  1 สัปดาห์  ต่ำ (ไม่เดินทางไปทั่ว)  
Government-related personnel, diplomat, etc.  ขึ้นอยู่กับการพิจารณา ความสำคัญจากภาครัฐ  หลากหลาย  ต่ำ (ไม่เดินทางไปทั่ว)  
Medical tourism  338,287 บาท/คน (2561)  1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน  ต่ำ (ไม่เดินทางไปทั่ว)  
Tourist  – Group tour  – FIT   50,719 บาท/คน (2560)  54,345 บาท/คน (2560)  1 สัปดาห์  ปานกลาง (เดินทางหลายที่ แต่กาหนดได้)  สูง (เดินทางหลายที่อย่างอิสระ)  
MICE  141,084 บาท/คน (2561)  1 สัปดาห์  ปานกลาง (เดินทางหลายที่ แต่ระยะไม่ไกล)  
Education  400,000-1,300,000 บาท/คน (2562)  3 เดือนถึง 1 ปี  ต่ำ (ไม่เดินทางไปทั่ว)  
Transit hub  600 บาท/คน (2559)  1-3 วัน  ต่ำ (อยู่ในสนามบิน)  
Long-term stay (3 เดือน)  75,000 บาท/คน (2562)  3 เดือนถึง 1 ปี  ปานกลาง (เดินทางหลายที่ แต่ระยะไม่ไกล)  
แรงงานต่างด้าว  127,617 บาทต่อคน (2561)  1 ปี  ปานกลาง (เดินทางหลายที่ แต่ระยะไม่ไกล) 

ที่มา: รวบรวมและคำนวณโดยผู้วิจัย 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นอีกที่ควรพิจารณาเพื่อให้การเปิดประเทศเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวในครั้งนี้เกิดประโยชน์มากที่สุดและเกิดผลเสียน้อยที่สุด เช่น (ก) ควรมีการจำกัดการเดินของนักท่องเที่ยว เช่น นักท่องเที่ยวในภูเก็ตสามารถเดินทางได้เฉพาะในคลัสเตอร์ท่องเที่ยวภูก็ต (ภูเก็ต-พังงา-กระบี่) (ข) ควรระบุเวลาร้านหรือโรงแรมและเวลาที่ต้อนรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ (ค) ควรมีระบบการแจ้งเตือนหากมีปัญหาการแพร่ระบาด ซึ่งจะต้องมีมาตรการเข้มงวดที่กำหนดเฉพาะจุดตามระดับความเข้มงวดในแต่ละสถานที่ที่เกี่ยวข้อง เขตอำเภอ จังหวัด และกลุ่มจังหวัด 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI