ติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ: การปิดสถานประกอบการ ตลาดหุ้น ค่าเงินและอัตราการว่างงาน

ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ทั้งโลกมีผู้ติดเชื้อติดเชื้อโควิด-19 สะสมจำนวน 14.72 ล้านคน โดยผู้เสียชีวิตรวมแล้วประมาณ 6 แสนคน ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 3,250 คน ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 58 คน โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมา 77 คน โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศและได้รับการกักตัวอยู่ในสถานที่ควบคุม และไทยไม่มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่ามาตรการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของไทยทั้งด้านสาธารณสุขและมาตรการควบคุมการเดินทางและการรวมกกลุ่มค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการดังกล่าวได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดภาวะติดขัดหรือต้องหยุดชะงักลงเป็นช่วงเวลาหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าต้นทุนในด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจนมาถึงปลายเดือนกรกฎาคมมีประมาณเท่าได้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ได้แก่ สถิติการปิดสถานประกอบการ ภาพรวมของตลาดหุ้น ค่าเงินบาท และอัตราการว่างงาน 

จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าจำนวนนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจรรวมทั้งรายใหญ่และรายย่อยตามฐานข้อมูลของกรมธุรกิจการค้าของปี 2562 และ 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงมิถุนายน ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ถึงแม้ว่าในปี 2563 จะเกิดภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า มาตรการช่วยเหลือทางด้านภาษีอากรของกระทรวงการคลัง มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถช่วยเหลือให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้พอสมควร มาตรการนี้ได้สนับสนุนให้ลูกหนี้และสถาบันการเงินร่วมมือกันในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกันในการลดโอกาสที่จะกลายเป็นลูกหนี้เสียและเสี่ยงต่อการล้มละลาย ซึ่งประกอบไปด้วย 8 วิธี ได้แก่ (1) การยืดหนี้หรือการขยายเวลาการชำระหนี้เพื่อให้ค่างวดลดลง (2) การพักชำระเงินต้นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 6 หรือ 12 เดือน (3) การลดอัตราดอกเบี้ยที่เคยตกลงหรือกำหนดไว้ในสัญญาเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย (4) การยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดชำระหนี้ เพื่อให้ค่างวดที่ผ่อนเข้ามาสามารถตัดเงินต้นได้มากขึ้น (5) การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน (6) การเปลี่ยนประเภทหนี้ จากสินเชื่อดอกเบี้ยสูงเป็นสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า (7) การปิดจบด้วยเงินก้อนเพื่อลดภาระดอกเบี้ย และ (8) การรีไฟแนนซ์จากเจ้าหนี้เดิมเพื่อใช้สินเชื่อใหม่ที่มีเงื่อนไขดีกว่า 

รูปที่ 1: การเปรียบเทียบจำนวนการปิดกิจการรายเดือนของปี 2562 และปี 2563 

ที่มา: กรมธุรกิจการค้า 

ส่วนด้านตลาดทุน เมื่อเปรียบเทียบดัชนีหลักทรัพย์ระหว่างประเทศที่ให้วันที่ 30 ธันวาคม 2562 เป็นวันฐาน (รูปที่ 2) พบว่า ดัชนีของตลาดแต่ละประเทศมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือ หดตัวอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคม และค่อยกลับมาฟื้นตังหลังจากนั้น แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยกลับฟื้นตัวค่อนข้างช้าเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ สำหรับดัชนีราคากหุ้นของบริษัทแยกตามประเภทอุตสาหกรรม (รูปที่ 3) พบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศปรับตัวลดลงเกือบทั้งหมดเมื่อเปรียบกับราคาเมื่อสิ้นปี 2562 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจธนาคารที่ลดลงมากถึงร้อยละ 40 ยกเว้นกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่มีราคาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ถัดมาคือกลุ่มบริษัทกระดาษและวัสดุการพิมพ์ กลุ่มบริษัทบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มบริษัทของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน ซึ่งสอดรับกับการปรับตัวของประชาชนและธุรกิจที่ใช้ชีวิตในรูปแบบการทำงานจากที่บ้านและการส่งสินค้าแบบเดลิเวอรี่  

ต่อมาภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินสกุลหลักต่างประเทศที่ให้วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นวันฐาน (รูปที่ 4) พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มการเปลี่ยนแปลงค่าเงินออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ค่าเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยซึ่งประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น ยุโรป จีนและตุรกี ในขณะที่ค่าเงินของประเทศรัสเซีย แอฟริกาใต้ และบราซิลมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในทิศทางอ่อนค่าลงซึ่งหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงของเดือนมีนาคมเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาห์สหรัฐ แต่ถึงอย่างไรก็ตามในช่วงของปลายเดือนพฤษภาคม สกุลเงินของหลายประเทศได้เริ่มมีสัญญาณว่าค่าเงินจะกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาห์ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ค่าเงินบาทของประเทศไทยถือว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพในระดับที่อยู่ระหว่างกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สอง และในไตรมาสที่ 2 เงินบาทกำลังเริ่มแข็งค่าขึ้นไปเท่ากับค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2562 

รูปที่ 2: ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศหลักและประเทศไทย 

ที่มา: Dow Jones, NASDAQ, Nikkei, Stock Exchange, Bambay Stock Exchange Limited, and The Stock Exchange of Thailand 

รูปที่ 3: ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแยกตามรายอุตสาหกรรม 

ที่มา: The Stock Exchange of Thailand 

รูปที่ 4: การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลักและค่าเงินบาท 

ที่มา: Federal Reserve Board 

ส่วนสุดท้ายจากรูปที่ 5 คือผลการประมาณผลกระทบทางเศรษฐกิจของ International Monetary Fund (IMF) ที่พบว่าอัตราการว่างงานของประเทศหลักในโลกมีแนวโน้มหรือทิศทางแย่ลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส และแคนาดา ที่มีแนวโน้มของอัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.7, 2.7, 1.9 และ 1.5 สำหรับประเทศไทย IMF ได้ประมาณการอัตราการว่างงานว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต่างจากผลการประมาณการโดย TDRI ที่ประมาณการว่าปี 2563 อาจมีจำนวนผู้ว่างงานถึง 4.6 ล้านคน หรือมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 12 ซึ่งสูงสุดในรอบ 20 ปี  

รูปที่ 5: ผลการประมาณการอัตราการว่างงานของแต่ละประเทศ 

ที่มา: International Monetary Fund (IMF) 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
20 กรกฎาคม 2563