การเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่

สัญญาณการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ของภาครัฐเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เริ่มจากการปรับโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐ เมื่อกรรมการบริหารพรรคลาออกพร้อมกัน 18 คน1 เปิดทางให้เกิดการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งนัยยะทางการเมืองก็คือ การลดบทบาทของทีมเศรษฐกิจในปัจจุบัน ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (รองนายกรัฐมนตรี) นายอุตตม สาวนายน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล (รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่านการเมือง) และเปิดทางให้กับทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาโควิด-19 และวางมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวต่อไปในอนาคต 

บทความนี้ เขียนขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ประเมินถึงผลกระทบของการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ โดยอาศัยการวิเคราะห์มุมมองตามหลักเศรษฐศาสตร์มาประกอบการวิเคราะห์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 

ผลกระทบของการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ในช่วงวิกฤติการณ์โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ เกิดขึ้นได้ใน 3 รูปแบบหลัก ประกอบไปด้วย 

1. ทิศทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และเกิดความไม่แน่นอนว่าทีมเศรษฐกิจใหม่จะเรียนรู้เข้าใจถึงสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้ดีมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับทีมเศรษฐกิจเดิมที่อยู่กับรัฐบาลนี้มาเป็นเวลานาน และได้มีประสบการณ์การออกแบบและดำเนินโยบายที่สำคัญๆ ในการดูแลเศรษฐกิจ เช่น โครงการ ชิมช็อปใช้ โครงการช็อปช่วยชาติ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น หากทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องอาศัยการเรียนรู้ที่นาน จะทำให้มาตรการเยียวยาออกมาล่าช้า และอาจจะไม่ตรงจุด ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายลดลง 

2.  ทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว อาจจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ทีมเศรษฐกิจแต่ละทีมที่เข้ามาบริหารทิศทางอนาคตของประเทศ มักจะมีแนวความคิดในการพัฒนาที่แตกต่างกัน ทีมเศรษฐกิจเดิมได้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในหลากหลายรูปแบบ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC การวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังนี้ เมื่อมีทีมเศรษฐกิจใหม่เข้ามาจะติดตามว่ารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตจะมีความมุ่งเน้นที่แตกต่างไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด ความไม่แน่นอนในจุดนี้มักจะทำให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนจากภาคเอกชน และการชะลอการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อรอความชัดเจนเสียก่อน 

3. ความสามารถในการจัดการกับระบบราชการ (bureaucrat) ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฝ่ายการเมือง กับฝ่ายราชการไม่ได้มีอำนาจสั่งการเชื่อมโยงกันอย่างเข้มงวด แม้ว่าจะมีการเชื่อมโยงบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้มีกลไกการเชื่อมโยงที่จูงใจให้การทำงานเป็นแบบเต็มประสิทธิภาพแบบกลไกของภาคเอกชน ที่มี “ค่าตอบแทน” เป็นแรงจูงใจ หรือ แบบกลไกภาครัฐของต่างประเทศ ที่มี “กลไกการรับผิดชอบ” (accountability) เป็นตัวบังคับ ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจใหม่จะต้องสามารถบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด จึงจะสามารถที่จะทำให้นโยบายที่ต้องการจะผลักดันเกิดผลในทางปฏิบัติที่ดีที่สุด  

ในแง่นี้เอง ทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาถ้ามาจากภาคเอกชนโดยตรง อาจจะไม่คุ้นชินกับระบบราชการไทย และไม่สามารถที่จะผลักดันนโยบายในระยะสั้นและระยะยาวออกมาได้โดยง่าย หรือออกมาอย่างไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการเอาไปใช้จริง แต่ถ้าทีมเศรษฐกิจมีประสบการณ์ทำงานกับภาคราชการของไทยมาก่อน ก็น่าจะสามารถดูแลบริหารนโยบายภายใต้ระบบราชการไทยได้เป็นอย่างดี 

กล่าวโดยสรุป ผลกระทบของการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ท่ามกลางปัญหาโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด จะขึ้นกับ แนวทางการเยียวยาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด ทิศทางนโยบายระยะยาวว่ามีการเปลี่ยนแปลงกรอบการพัฒนาประเทศไปมากน้อยเพียงใด และความสามารถในการบริหารนโยบายภายใต้ระบบราชการไทย เป็นสำคัญ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
15 กรกฎาคม 2563