tdri logo
tdri logo
31 กรกฎาคม 2020
Read in Minutes

Views

ผลกระทบ Covid-19 ต่อตลาดแรงงานไทยยังน่าเป็นห่วงในปี 2564

การระบาดของ COVID-19 รอบ 3 

การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างรุนแรงมาตั้งแต่การระบาด รอบ 1 และรอบ 2 ตั้งแต่ต้นปี 2563 สาเหตุหลักเป็นเพราะการระบาดครั้งนี้ไม่ใช่เกิดเฉพาะประเทศไทยแต่เกิดระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลกทำให้การเคลื่อนย้ายประชากรเป็นไปด้วยความยากลำบากและการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย การระบาดครั้งนี้ทำให้ประชากรมีงานทำหรือทำงานได้น้อยลงนับ 10 ล้านคน รายได้น้อยลงทำให้มีเงินจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดวิกฤตในตลาดแรงงาน และภาวะวิกฤตของตลาดแรงงานเช่นนี้จะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ถึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติยังไม่มีใครบอกได้แน่นอน  

หากจะหาคำตอบในภาพรวมของกิจกรรมเศรษฐกิจทั้งหมดในประเทศอาจจะตอบยากเพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน ดังนั้น การศึกษาส่วนนี้จึงใช้การฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานผ่านตัวชี้วัดที่สำคัญทางเศรษฐศาสตร์คืออัตราการว่างงานของแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้ข้อมูลและนิยามผู้ว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ1  โดยเลือกทำการวิเคราะห์จากลักษณะการเปลี่ยนแปลงของการว่างงานกับอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การวิเคราะห์ใช้ข้อมูลจากอดีตถึงปัจจุบันแสดงการการเคลื่อนไหวของทั้งสองตัวแปรเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกัน กล่าวคือ ตามทฤษฎีเมื่ออัตราการเติบโตของ Real GDP มีค่าลดลงหรือติดลบ อัตราการว่างงานก็จะมีค่าสูงขึ้นดังปรากฏเมื่อเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี พ.ศ. 2552 เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นความสัมพันธ์ของทั้งสองตัวแปรในเชิงปริมาณ จึงได้ใช้การวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติอย่างง่าย การใช้สมการถดถอยอย่างง่าย ( simple regression)หาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงอัตราการขยายตัวของ Real GDP ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราการว่างงานโดยใช้ข้อมูลสถิติเป็นรายไตรมาสตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2545 ถึงไตรมาส 4 ปี 2563  พบว่า  เมื่อ Real GDP Growth เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 1.57 ณ ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 (ตารางที่ 1) 

ตารางที่ 1: ผลของสมการถดถอยอย่างง่าย 

 Equation 
Unemployment YoY Unemployment = 3.71** – 1.57**(RGDP) 

Note: ** Significant level  at 95%   

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย 

รูปที่ 1: แสดงแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่าง Real GDP  กับ Unemployment Rate 

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย 

รูปที่ 1 การฉายภาพจำนวนแรงงานว่างงานในอนาคตโดยใช้สมการในตารางที่ 1 ในการกำหนด 
ฉากทัศน์การเปลี่ยนแปลง Real GDP แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่  

1) กรณีปกติ สมมติให้ Real GDP มีอัตราการเติบโตแบบ V-shape โดยการบริหารจัดการของภาครัฐสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นไปตามเป้าหมายและคาดว่าการแพร่ระบาดจะจบลงภายในปี 2565 ส่งผลให้ปี 2564 เศรษฐกิจมีการขยายตัวทั้งปีประมาณร้อยละ 2.5 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวทั้งปีประมาณร้อยละ 4.1 

2) กรณีสูง สมมติให้ Real GDP มีอัตราการเติบโตแบบ V-shape ลักษณะเดียวกันกับกรณีปกติแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วก่อนสิ้นปี 2564 และมีการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ปี 2564 เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 9.1 และการขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในปี 2565 มีการขยายตัวทั้งปีประมาณร้อยละ 4.1 

3) กรณีการระบาดยังไม่สิ้นสุด สมมติให้ Real GDP สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีการระบาดระลอกใหม่เพิ่มขึ้นมาเป็นระยะ ๆ และสถานการณ์ไม่สิ้นสุดภายในปี 2565 ทำให้เศรษฐกิจมีการหดตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2564 เศรษฐกิจขยายตัวลดลงเฉลี่ยร้อยละ -4.4 และเศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติในปี 2565 เศรษฐกิจยังมีการขยายตัวทั้งปีลดลงประมาณร้อยละ -2.5 (รูปที่ 2) 

รูปที่ 2: ผลการคาดประมาณอัตราการว่างงานถึงปี 2565 ตามฉากทัศน์ 3 ระดับ 

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย 

ผลจากฉากทัศน์การเปลี่ยนแปลงของ Real GDP ทั้ง 3 กรณี นำมาวิเคราะห์ด้วยสมการถดถอยอย่างง่ายของการเปลี่ยนแปลงอัตราการขยายตัวของ Real GDP ที่มีต่ออัตราการว่างงาน และทำการคำนวณจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของการว่างงานเป็นจำนวนผู้ว่างงานมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 

จำนวนผู้ว่างงานมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงเป็นฤดูกาล (Seasonal) โดยปกติจะมีจำนวนสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 1 ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายระหว่างสาขาการผลิต ผลการวิเคราะห์จากข้อสมมติ กรณีสูง ที่ฉายภาพเศรษฐกิจสามารถกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วในปี 2564 สถานการณ์การว่างงานจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เป็นต้นไปและในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 จะมีผู้ว่างงานประมาณ 495 พันคน ซึ่งเป็นข้อสมมติเดียวที่จะทำให้จำนวนผู้ว่างงานกับเข้าสู่ภาวะปกติภายในปี 2565 สำหรับข้อสมมติ กรณีปกติ จำนวนผู้ว่างงานจะเข้าสู่ภาวะปกติเฉพาะช่วงไตรมาสที่ 1 เท่านั้น และจะมีจำนวนผู้ว่างงานในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 จำนวน 729 พันคน ส่วนข้อสมมติ กรณีการระบาดยังไม่สิ้นสุด เป็นการฉายภาพผลกระทบหากการระบาดยังไม่สิ้นสุดภายในปี 2565 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 จะมีจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 1,252 พันคน (รูปที่ 3) 

รูปที่ 3: ผลการคาดประมาณจำนวนการว่างงานถึงปี 2565 ตามฉากทัศน์ 3 ระดับ 

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้วิจัย 

กล่าวโดยสรุปจำนวนตัวเลขผู้ว่างงานจากฉากทัศน์ต่าง ๆ อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของผลกระทบต่อตลาดแรงงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะมีแรงงานบางกลุ่มที่ถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือเปลี่ยนไปทำงานอื่นที่ไม่ตรงกับความสามารถเกิดปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้าง จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการกลับเข้าสู่ภาวะปกติของตลาดแรงงานจำเป็นต้องใช้เวลานานพอสมควร ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคของประชาชน สนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมการส่งออก และส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน ทำให้ความต้องการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นได้ระดับหนึ่งแต่ไม่สามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานในตลาดแรงงานในปริมาณมากทั้งแรงงานในประเทศและแรงงานต่างด้าว  การใช้ระยะเวลามากเกินไปสำหรับการแก้ปัญหาตลาดแรงงานอาจส่งผลต่อทักษะ(Skill) การทำงานของแรงงาน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาสำหรับการเพิ่มเติมทักษะหรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กจำเป็นต้องใช้แรงงานไร้ทักษะที่ค่าจ้างถูกเพื่อลดต้นทุน และอาจนำไปสู่การใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเหมือนในอดีตที่ผ่านมาเนื่องจากตลาดแรงงานไทยไม่มีแรงงานทักษะต่ำในวัยเยาวชนให้ใช้ได้อย่างเพียงพอ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
31 กรกฎาคม 2563

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด