tdri logo
tdri logo
31 กรกฎาคม 2020
Read in Minutes

Views

สมดุลระหว่างการเปิดการท่องเที่ยวกับการคุมการระบาด

หลังจากมีประสบการณ์การระบาดและการควบคุมการระบาดของโควิด-19 มาปีเศษ หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเหมือนะเริ่มมีการ ‘ตกผลึกทางความคิด’ ว่าควรบริหารจัดการอย่างไร โดยเฉพาะการเลือก ‘ระดับ’ ‘จังหวะเวลา’ และ ‘พื้นที่’ ในการควบคุมการระบาด ที่เห็นได้ชัดในกรณีของประเทศไทยคือการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ที่ไม่ใช้แนวทางปิดเมือง lock down ทั้งประเทศและในประเภทกิจการที่หลากหลายเท่ากับมาตรการเมื่อช่วง มีนาคมถึงพฤษภาคมของปีที่แล้ว มีการแยกพื้นที่เป็นสีต่าง ๆ โดยแต่ละสีมีความเข้มของมาตรการคุมการระบาดต่างกัน และปรับเปลี่ยนสีได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป กิจการหลายประเภทไม่ถูกปิดอีกเลย เข่นห้างสรรพสินค้าหรืกระทั่งสถานบันเทิง แต่ใช้วิธีเพิ่มความเข้มของมาตรการแทน  

ยังไม่แน่ใจว่าแนวทางมาตรการที่รัฐบาลใช้อยู่ในขณะนี้มีความเหมาะสมเพียงใด หากพิจารณาจากเหตุการระบาดระลอกใหม่ในตอนแรกที่มาจากแรงงานต่างชาติที่อยู่อย่างแออัดและในพื้นที่จำกัด การควบคุมเป็นระดับพื้นที่และการป้องกันการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างชาติ ในขณะที่ส่วนอื่นค่อนข้างปล่อยวาง ดูจะสมเหตุสมผลดี และตัวเลขการติดเชื้อที่มักพบในการตรวจเชิงรุกในชุมชนก็เป็นหลักฐานสนับสนุนแนวทางดังกล่าว อย่างไรก็ตามในระยะหลังที่เริ่มพบการติดในหมู่คนไทยมากขึ้น และล่าสุดเริ่มเห็นการเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ที่เป็นการติดเชื้อในคนไทย ก็เป็นสัญญานที่น่าเป็นห่วง  

ความน่าเป็นห่วงยังถูกซ้ำเติมด้วยอีกสองปัจจัย ประการแรกคือการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรน่าไวรัสซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วตามระดับการระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก เชื้อกลายพันธุ์บางชนิดมีอัตราการระบาดสูงมากเช่นสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนบางสายพันธุ์เช่นสายพันธุ์อัฟริกาใต้ก็ ‘ดื้อวัคซีน’ เช่นทำให้ประสิทธิผลของวัคซีน Astrazeneca ลดลงอย่างมาก และอาจรวมถึงวัคซีนชนิดอื่นด้วย  

เรื่องการกลายพันธุ์ประกอบกับการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ในกลุ่มคนไทย ทำให้เกิดความน่าเป็นห่วงอีกประการคือแนวนโยบายการเปิดประเทศที่ระยะหลังมีการมีการพูดมากขึ้นถึงกำหนดการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยลดจำนวนการกักตัวลง หรืออาจไม่กักตัวเลยในบางพื้นที่ (เช่นภูเก็ต สมุย) ซี่งแม้จะมีเงื่อนไขเรื่องการฉีดวัคซีนและจำกัดประเทศต้นทางที่อาจเป็นแหล่งกลายพันธุ์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมึความไม่แน่นอนสูงว่าผลต่อการระบาดในประเทศไทยหลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะเป็นอย่างไรแน่ 

ที่กล่าวมาทั้งหมดมิได้หมายความว่าเราควรปิดประเทศต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในประเทศไทยและ/หรือในประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว เพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงและรัฐบาลไทยก็คงรับภาระการเยียวยาไปเรื่อย ๆ ไม่ไหว แต่คิดว่าต้องมีการปรับแนวนโยบายและมีมาตรการเสริมเพิ่มขึ้น โดยจะขอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้  

ประการแรก ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนไทยช่วยกันป้องกันการระบาดมากกว่าที่เคยทำมา เรื่องเดิม ๆ ที่เคยทำมาเช่นใส่หน้ากาก (ที่ควรจะเปลี่ยนบ่อย ๆ ในกรณีหน้ากากอนามัย หรือต้องหมั่นซักให้สะอาดในกรณีหน้ากากผ้า) ล้างมืออย่างถูกวิธี (เข้าใจว่าหลายคนในระยะหลังแม้จะล้างมือแต่อาจทำแบบลวก ๆ) เว้นระยะห่างอย่างแท้จริง ใช้ช้อนกลาง (หรือช้อนกูที่เคยพูดถึงกันมากเมื่อปีที่แล้ว) ไม่ไปในสถานที่ปิดที่มีความเสี่ยงสูง โดยอาจใช้การระบาดในช่วงระหว่างและหลังสงกรานต์เป็นตัวตัดสินว่าคนไทยระวังตัวเพียงพอหรือยัง การระวังตัวเพิ่มขึ้นแบบนี้ต้องเคร่งครัดมากเป็นพิเศษในพื้นที่ที่จะรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวเลย เรื่องนี้อาจดูเป็นข้อเสนอที่น่าเบื่อแต่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพมากในการควบคุมการระบาด  

ประการที่สอง รัฐบาลควรยกระดับศักยภาพและวางแผนเรื่องการตรวจเชื้อ การติดตามเคส และการกักตัวผู้ป่วย (testing, tracing and isolation) โดยควรมีการวางแผนระดับพื้นที่เสี่ยง และมีการประสานงานเพื่อเคลื่อนย้ายทรัพยากรอย่างรวดเร็วต่อการตอบสนองต่อการระบาด มาตรการนี้ก็ดูน่าเบื่อแต่มีประสิทธิภาพมากเช่นกัน 

ประการที่สาม รัฐบาลต้องแน่ใจว่าระบบสาธารณสุขมีการขยายศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้  

ประการที่สี่ ควรเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีนในประเทศที่สามารถใช้กับเชื้อโคโรน่าไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ ไม่ควรเดินตามแนวทางเดิมที่พัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อรุ่นแรก ซึ่งแม้จะทำสำเร็จก็มีประโยชน์ต่อประเทศน้อยมาก  

ประการที่ห้า รัฐบาลต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้เร็วกว่าในระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับวัคซีนจำนวนมากขึ้นจากแหล่งต่าง ๆ แล้ว 

ประการที่หก ควรมีแนวทางชัดเจนในการประเมินผลของการผ่อนคลายการจำนวนวันการกักตัวและการตรวจหาเชื้อในระหว่างการกักตัวว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงของการระบาดใหญ่อย่างไร โดยอาจใช้เว้นวรรคการผ่อนคลายการกักตัวเป็นระยะ เพื่อสามารถใช้ช่วงเวลาที่เว้นวรรคนั้นทำการประเมินผลได้ก่อนที่การระบาดจะขยายวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้และทำให้ต้องปิดประเทศขนานใหญ่อย่างที่หลายประเทศในยุโรปทำอยู่ในช่วงนี้ (รวมถึงประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้วด้วย) 

หวังว่าด้วยเราจะสามารถหาสมดุลระหว่างการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการควบคุมการระบาดอย่างเหมาะสมในอนาคต 3-6 เดือนข้างหน้าได้ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะวิจัย TDRI
31 กรกฎาคม 2563

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด