ข้อเสนอทางออกให้กับเศรษฐกิจไทย: ข้อเสนอต่อนโยบายการเงิน การคลัง เศรษฐกิจภายในและนอกประเทศ

คณะผู้วิจัย รวบรวมประเด็นจากการประชุมกับผู้ทรงคุณวุฒิใน 6 ครั้งที่ผ่านมา (การประชุมกับผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ดูแลโครงการผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ระหว่างเดือน เมษายน 2563 ถึง กรกฎาคม 2563) และนำมาสรุปข้อเสนอแนะเพื่อเป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจไทยจากปัญหาโควิด-19 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ 

ข้อมูลการระบาดในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยได้สิ้นสุดการระบาดในระลอกแรกเกือบจะสมบูรณ์แล้ว (สถานการณ์การะบาดอ้างอิงจากข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2563) ทำให้สามารถแบ่งช่วงเวลาที่สำคัญ ออกเป็น 3 ช่วง คือ  

1. ปี 2563 ที่มาตรการ “อัดฉีด” เพื่อเยียวยาจะต้องเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจและสังคมให้เอาตัวรอดได้  

2. ปี 2564 ที่ประเทศมีความเสี่ยงการระบาดในระลอกที่สอง และประเด็นการเริ่มเปิดรับต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว เราจะจัดการกับการระบาดรอบสองอย่างไร และจะจัดระบบองคาพยพในการเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างไรให้ประเทศมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดน้อยที่สุด 

3. ปี 2565 ประเทศไทยควรจะเริ่มก้าวพ้นกับปัญหาโควิด-19 อย่างสมบูรณ์ และภาครัฐควรจะเพิ่มมองถึงการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจ และเพิ่มรายได้ทางการคลังเพื่อชดเชยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมา 

สิ่งที่ภาครัฐควรจะต้องเร่งดำเนินการในปัจจุบัน (31 กรกฎาคม 2563) มีดังต่อไปนี้ 

1. มาตรการการเงินและการคลังควรจะต้องมีการดำเนินการสนับสนุนอย่างเหมาะสม เอื้ออำนวยให้ประชาชนและธุรกิจในกลุ่มที่เปราะบางอยู่รอด 

มาตรการทางการเงินที่สำคัญ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สงสัยจะสูญสูงจนก่อให้เกิดปัญหาเสถียรภาพเชิงระบบ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงที่สุด มิใช่ปล่อยเป็นภาระหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ในการจัดการเพียงลำพัง 

มาตรการการคลังที่สำคัญ คือ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนเยียวยา (แจกเงินผู้ที่ได้รับผลกระทบ) ส่วนสาธารณสุข คือ การพัฒนาระบบสาธารณสุขและจัดการซื้อวัคซีนเพื่อควบคุมโรค และ ส่วนฟื้นฟู คือ การลงทุนที่ก่อให้เกิดผลระยะยาว ทำให้เศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้มาชดเชยเงินที่กู้ได้ในอนาคต ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการออกมาตรการควรจะเป็นการออกมาตรการที่ “เพียงพอ” ที่จะชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่รอดได้ “ทั่วถึง” คนที่ได้รับผลกระทบทุกคน และมีความ “รวดเร็ว” อย่างเหมาะสม ไม่รวดเร็วจนเป็นการสนับสนุนโครงการที่ไม่โปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ล่าช้าจนไม่ทันกาล 

2. เศรษฐกิจภายในต้องค่ำจุนเมื่อเศรษฐกิจภายนอกยังไม่กลับเข้ามา 

จนกว่าภาคท่องเที่ยวที่รับนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนจะกลับฟื้นคืนมา เศรษฐกิจภายในจะต้องทำหน้าที่เป็นเบาะรองรับให้เศรษฐกิจยังคงเดินต่อไปได้ โดยเศรษฐกิจภายในบางจุดที่ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น ภาครัฐควรจะสนับสนุนให้เป็นที่รองรับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เช่น การสนับสนุนภาคการเกษตรเพราะเป็นภาคส่วนที่รองรับแรงงานที่ตกงานกลับไปทำงานที่บ้านเกิด หรือ การสนับสนุนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจ last mile delivery ที่เติบโตเพราะแนวโน้มการทำงานที่บ้านที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น  

นอกจากนี้ การขยายการท่องเที่ยวในประเทศ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยรายได้ในภาคท่องเที่ยว โดยสถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า รายได้จากภาคท่องเที่ยวทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท จะเป็นรายได้จากในประเทศมากถึง 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ  

ท้ายที่สุด ภาครัฐควรจะสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจภายในจากฐานรากหญ้า เนื่องจากเป็นกลไกที่สร้างรายได้ในระดับท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนตลาดสินค้า OTOP และ การจัดงานมหกรรมในระดับจังหวัด (งานเทศกาล งานวัด) เป็นต้น 

3. ภาคต่างประเทศ มีบางจุดที่เข้มแข็ง และภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่ดีของไทย  

ภาคส่งออก มีโอกาสจากตลาดที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่รวดเร็ว เช่นที่ตลาดของประเทศจีน และหากพิจารณาลงรายละเอียดในกลุ่มประเภทของสินค้า จะพบว่าสินค้าที่ประเทศไทยที่ยังส่งออกได้ดีและควรจะพัฒนาสนับสนุน ได้แก่ ยาง ผลไม้และปลาทูน่ากระป๋อง 

ที่มา: วิเคราะห์โดย TDRI Economic Intelligent Service (EIS) 

ท้ายที่สุด ในส่วนของภาคท่องเที่ยว การจะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวจะต้องพิจารณาทั้งความคุ้มค่าในแง่ของรายได้ที่จะได้รับเข้ามา เทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด ภาครัฐจึงควรจะพิจารณานักท่องเที่ยวเป็นรายกลุ่มประเทศที่จะเข้ามา (เพราะแต่ละประเทศจะมีพฤติกรรมการจ่ายเงินท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน และต้องแยกประเทศตามระดับการระบาดเพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดจากนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย) และพิจารณารายกิจกรรมที่จะเข้ามา (เพราะว่าแต่ละกิจกรรมจะสร้างรายได้ไม่เท่ากัน)  

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
31 กรกฎาคม 2563