การจ้างงานแรงงานรายชั่วโมงในช่วงวิกฤติโควิด-19

เมื่อเชื้อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทยครั้งแรกจากกรณีคนขับแทกซี่ติดเชื้อในประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ.2562 ส่งผลให้รัฐบาลดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามมาอย่างต่อเนื่องเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยให้เกิดการชะลอตัว  ธุรกิจหลายประเภทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งผลประกอบการที่ลดลง ผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของธุรกิจ จนในที่สุดผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงหรือลดการจ้างงานทำให้การว่างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 

หลายธุรกิจต่างปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้  ทั้งมีการลดการจ้างงานแรงงานที่มีอายุงานน้อย 1-2 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าชดเชยต่ำ ลดการจ้างงานแรงงานสูงอายุด้วยการผลักดันให้เข้าร่วมโครงการ Early Retirement ลดการจ้างแรงงานจบใหม่ รวมไปถึงลดการจ้างแรงงานคนพิการ ตลอดจนปรับเปลี่ยนการจ้างงานแรงงานเต็มเวลาเป็นการจ้างงานชั่วคราวหรือการเพิ่มแรงงานประเภทจ้างงานรายชั่วโมงมากขึ้น  จากตารางที่ 1 แสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงจำนวนแรงงานที่ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติ (น้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อัตราการเปลี่ยนแปลงของแรงงานเต็มเวลามีจำนวนลดลง  เห็นได้ชัดเจนว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ลักษณะการจ้างงานของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป 

ตารางที่ 1:  อัตราการเปลี่ยนแปลงจำนวนแรงงานที่ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติ (%YoY) และอัตราการเปลี่ยนแปลงเต็มเวลา (%YoY)  

ที่มา: คณะผู้วิจัยคำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไตรมาสที่ 3, สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2564) 

หมายเหตุ: * จำนวนแรงงานที่ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติ (น้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) 

** จำนวนแรงงานที่ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป 

จากการประชุมระดมความคิดเห็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-191 ต่างพากันเสนอแนะแนวทางการจ้างงานแรงงานเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดในช่วงวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับสถานประกอบการที่มีการจ้างแรงงานสูงอายุ การขอปรับเปลี่ยนหรืออนุโลมสัดส่วนการจ้างงานงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550  แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการและธุรกิจหลายรายต่างเห็นพ้องต้องกัน คือ การเพิ่มการจ้างแรงงานแบบยืดหยุ่นเป็นรายชั่วโมงมากขึ้น  

อย่างไรก็ตามเดิมทีการจ้างงานรายชั่วโมงมักจ้างงานผู้ที่ต้องการทำอาชีพเสริมหรือกลุ่มนักศึกษาที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มเวลา  การจ้างงานแรงงานดังกล่าวมักเป็นการจ้างงานในระยะเวลาอันสั้น แรงงานเกือบทั้งหมดไม่มีสิทธิประกันสังคม  หากผู้ประกอบการต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายหรือกระจายรายได้ให้ลูกจ้างโดยลดชั่วโมงการทำงานแทนการเลิกจ้างหรือลดจำนวนการจ้างงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้  คำถามสำคัญที่ตามมา คือ ผู้ประกอบการจะจ่ายค่าจ้างเท่าใด รูปแบบและการจ้างงานแรงงานที่เหมาะสมเป็นแบบใด รวมถึงสิทธิประโยชน์ของแรงงานเหล่านี้จะเป็นเช่นใด  เนื่องจากประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติในแต่ละวันจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ตามมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.25412 

เพื่อตอบคำถามข้างต้นนั้น เริ่มด้วยการทำความเข้าใจประกาศคณะกรรมการค่าจ้างมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เสียใหม่  เนื่องจากข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าวนั้นไม่มีผลบังคับใช้ในอาชีพ ดังต่อไปนี้ 

1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  

2. ลูกจ้างทํางานเกี่ยวกับงานบ้าน ลูกจ้างทํางานที่มิได้แสวงหากําไรทางเศรษฐกิจ ลูกจ้างในงานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล นายจ้างที่ตกลงจ้างผู้รับงานไปทําที่บ้าน นายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างลูกจ้างทํางานตลอดปี หรือมิได้ให้ลูกจ้างทํางานในลักษณะที่เป็นงาน อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากงานเกษตรกรรม 

นอกจากนั้นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (2560) ได้ชี้แจงโดยเน้นย้ำว่าประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับนักเรียนและนักศึกษา “ไม่มีสภาพเป็นกฎหมายใช้บังคับ” แต่เป็นเพียงข้อแนะนำให้สถานประกอบการใช้เป็นแนวทางกรณีทำงานไม่เต็มเวลา  ดังนั้นการจ้างงานชั่วคราวแบบรายชั่วโมงนั้นสามารถจ่ายค่าตอบแทนตามชั่วโมงการทำงานจริงในแต่ละวันได้ 

คำถามถัดมาสิทธิประโยชน์ของแรงงานกลุ่มนี้จะเทียบเท่าสิทธิประโยชน์ของแรงงานเต็มเวลาหรือไม่  หลักเกณฑ์การหักเงินจากค่าตอบแทนเพื่อเข้าสู่สำนักงานประกันสังคมนั้นมีกำหนดกรอบรายได้ คือขั้นต่ำสุดที่ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท  ดังนั้นไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หากแรงงานเหล่านี้จะสามารถได้รับสิทธิประกันสังคม (กรณีตัวอย่างลักษณะการจ้างงานชั่วคราวที่เข้าเกณฑ์ประกันสังคม : ค่าจ้างรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 45 บาท ทำงานวันละ 7 ชั่วโมง ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน) (สราวุธ, 2563)  

เพื่อให้ธุรกิจที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถจ้างแรงงานได้เต็มเวลายังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ คณะผู้วิจัยจึงขอเสนอแนะให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมการจ้างงานชั่วคราว (Part-Time) และการจ้างงานยืดหยุ่นรายชั่วโมงควบคู่ไปกับการขยายสิทธิความคุ้มครองประกันสังคมครอบคลุม การจ้างงานชั่วคราว โดยเริ่มดำเนินการในธุรกิจการค้าและบริการก่อน จากนั้นจึงขยายผลไปยังธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยรักษาระดับการจ้างงานของประเทศไทยไว้และบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ 
สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)


(ชื่อบทความเดิม : การจ้างงานแรงงานรายชั่วโมง)

โดย คณะผู้วิจัย TDRI
31 กรกฎาคม 2563